“ทาโร” แบรนด์ปลาเส้น ที่ อากู๋ แกรมมี่ มีส่วนปลุกปั้น

“ทาโร” แบรนด์ปลาเส้น ที่ อากู๋ แกรมมี่ มีส่วนปลุกปั้น

11 ม.ค. 2021
ในตลาดปลาเส้น ทาโร ได้ครองส่วนแบ่งการตลาดไปแล้วกว่า 80%
เรียกได้ว่า ครองตลาดแบบเบ็ดเสร็จ หรือ เกือบไร้คู่แข่ง ที่จะมาต่อกรได้
แบรนด์ ทาโร มีเจ้าของคือ บริษัท พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน)
ซึ่งบริษัทจดทะเบียนในอยู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีมูลค่าบริษัทถึง 4,800 ล้านบาท
ที่น่าสนใจ คือ คุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม หรือ ที่เรารู้จักกันในนาม “อากู๋ แกรมมี่”
มีส่วนสำคัญที่ทำให้ ทาโร เข้ามาตีตลาดในประเทศไทย และเป็นขนมปลาเส้นในตำนานถึงทุกวันนี้..
เรื่องราวทั้งหมด มีจุดเริ่มต้นจาก คุณสุวิทย์ และคุณเสรี โอสถานุเคราะห์ พี่น้องรุ่นที่ 3 แห่งเครือโอสถสภา
นอกจากธุรกิจครอบครัวที่โอสถสภาแล้ว
คุณสุวิทย์ และ เสรี ยังได้ลงทุนในธุรกิจอื่นๆ และก่อตั้งบริษัทของตัวเองขึ้นมา
เช่น บริษัท พรีเมียร์ซัพพลาย เพื่อทำธุรกิจเช่าซื้อ ตั้งแต่รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร ฯลฯ
บริษัท พรีเมียร์โพรดักส์ เพื่อจำหน่ายถังแซทส์ และถังน้ำพีพี
โดยในตอนนั้น บริษัท พรีเมียร์โพรดักส์ ต้องการทำโฆษณาเกี่ยวกับถังแซทส์
ก็เลยติดต่อ คุณไพบูลย์ มาทำโฆษณาให้
ซึ่งก่อนหน้านั้น คุณไพบูลย์ เคยทำงานอยู่ที่บริษัท ฟาร์อีส แอดเวอร์ไทซิ่ง ซึ่งเป็นบริษัทในเครือสหพัฒนพิบูล ประมาณ 7 ปี ก่อนลาออกมาตั้งบริษัทโฆษณาของตัวเอง
แต่คุณไพบูลย์ ก็กังวลอยู่ตลอดว่าธุรกิจอาจไปได้ไม่ไกล เพราะตนยังมีประสบการณ์ และเงินทุนไม่มากพอ
ในขณะเดียวกัน คุณสุวิทย์ ก็มีความคิดที่อยากจะสนับสนุนคนหนุ่มๆ ให้เปิดกิจการใหม่ๆ โดยจะช่วยเหลือด้านเงินทุน
เลยชักชวนคุณไพบูลย์ ให้มาทำงานด้วยกัน โดยบอกว่าอยากทำอะไรก็ทำ จะออกทุนให้หมด
คุณไพบูลย์ ได้เสนอแผนธุรกิจเกี่ยวกับโฆษณา, การตลาด และสำนักพิมพ์ ไป
ซึ่งคุณสุวิทย์ ก็อนุมัติทั้งหมด
และนั่นจึงเป็นที่มาของการก่อตั้งบริษัท พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง ขึ้นในปี พ.ศ. 2520
โดยคุณไพบูลย์ เป็นกรรมการผู้จัดการคนแรกของบริษัท ด้วยอายุเพียง 28 ปี
ในช่วงแรกๆ ของการก่อตั้งบริษัท พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง
ธุรกิจโฆษณา ค่อนข้างไปด้วยดี เพราะคุณไพบูลย์ ได้ฐานลูกค้าเก่าที่ตนเคยมีอยู่
และงานเป็นลักษณะรับจ้าง จึงไม่ต้องใช้เงินลงทุนสูง
ส่วนธุรกิจการตลาด เจอความท้าทายในเรื่องที่ ไม่มีแบรนด์ไหนกล้าไว้วางใจให้ บริษัท พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง
เป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าให้ เนื่องจากเป็นบริษัทตั้งใหม่ แบรนด์จึงยังไม่มั่นใจในทีมการตลาดของบริษัท
ซึ่งคุณไพบูลย์ ก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการไปเอาขนมตามท้องตลาดทั่วไป มาจับแต่งตัว ทำแพ็กเกจจิงใหม่ให้ดูทันสมัย แล้วนำไปจำหน่ายและทำการตลาดเอง
แต่ผลลัพธ์คือ ธุรกิจขาดทุนไม่เป็นท่า
ในขณะที่ธุรกิจสำนักพิมพ์
บริษัทได้ออกนิตยสารรายเดือน “เพื่อนเดินทาง" และนิตยสารรายสัปดาห์ “เศรษฐกิจการเมือง" รวมถึงพ็อกเก็ตบุ๊กอีกมากมาย
แต่ด้วยความล้มเหลวในการจัดส่งและจัดจำหน่าย
ประกอบการการทำนิตยสารรายสัปดาห์ ต้องใช้เงินทุนมหาศาล ทำให้ธุรกิจต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจำนวนมาก และขาดทุนหนัก
จนสุดท้ายต้องเลือกผลิตแต่นิตยสาร เพื่อนเดินทาง ฉบับเดียว
อย่างไรก็ดี ต่อมา ผลประกอบการของบริษัทก็ดีขึ้น
เมื่อบริษัทติดต่อจนได้ น้ำส้มสายชูของ อสร. มาจัดจำหน่าย
ด้วยคุณภาพของสินค้า ทำให้น้ำส้มสายชู อสร. เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก
มีคำสั่งซื้อจากร้านค้าต่างๆ เข้ามายาวเหยียด
ซึ่งเมื่อทำตลาดให้น้ำส้มสายชูประสบความสำเร็จแล้ว
คุณไพบูลย์ ก็ไม่หยุดมองหาสินค้าตัวอื่น เพื่อนำมาจำหน่ายเพิ่ม
และในปี พ.ศ. 2526 จุดเปลี่ยนสำคัญก็มาถึง
เมื่อคุณไพบูลย์ ได้ชักชวน บริษัทผู้ผลิตปลาเส้นในไต้หวัน
ให้มาร่วมลงทุนสร้างโรงงานผลิตปลาเส้นตรา “ทาโร” ในเมืองไทย
จากนั้นบริษัท พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง ก็เปลี่ยนบทบาท จากการเป็นผู้จำจัดหน่ายอย่างเดียว
มาเป็นผู้ผลิตสินค้า และจัดจำหน่ายสินค้าด้วยตัวเอง
เพื่อช่วยลดการพึ่งพาจากคนอื่น และทำให้ธุรกิจมีอัตรากำไรที่ดีขึ้น
อีกทั้งได้สร้างปรากฏการณ์ ขนมปลาเส้นระดับตำนาน
ที่คนไทยเกือบทุกคนต้องเคยฉีกซอง และหยิบเจ้า ปลาสวรรค์ทาโร ขึ้นมากิน..
ทั้งนี้ หลังจาก คุณไพบูลย์ บริหารบริษัท พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง ได้ประมาณ 7 ปี
เขาก็ลาออกมาทำตามความฝัน ด้วยการก่อตั้งบริษัทแกรมมี่ เพื่อเข้าสู่วงการธุรกิจเพลงนั่นเอง
แล้วปัจจุบัน บริษัท พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) มีผลประกอบการเป็นอย่างไร ?
ปี 2561 มีรายได้ 4,450 ล้านบาท กำไร 368 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 4,128 ล้านบาท กำไร 276 ล้านบาท
โดยปีล่าสุด จะมีสัดส่วนรายได้มาจาก
ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้า 80%
ผลิตอาหารปลาทูน่า อาหารทะเลสำเร็จรูป และซอส 17.7%
ผลิตอาหารแช่แข็งและให้บริการพื้นที่ห้องเย็น 1.3%
รายได้อื่น 1.0%
สำหรับการจัดจำหน่ายสินค้าของบริษัท
นอกจากแบรนด์ทาโร ที่บริษัทเป็นเจ้าของแบรนด์เองแล้ว
บริษัทยังเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายสินค้าให้กับแบรนด์อื่นๆ อีกด้วย
เช่น ขนมอบกรอบ ตรา โคโคริ
ลูกอม ตรา โอเล่
น้ำปลาแท้ ตรา เมกาเชฟ และ ปลาหมึก
เม็ดอม ตรา โบตัน
ในส่วนของเรื่องผลิตภัณฑ์
บริษัทก็มีการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้ออกสู่ตลาดอยู่เป็นระยะๆ
อย่างเช่น เมื่อปลายปีที่แล้ว ได้ออกวางจำหน่าย “ทาโร เส้นปลากึ่งสำเร็จรูป”
ทั้งรสเย็นตาโฟหม้อไฟ และ รสต้มยำกุ้งน้ำข้น
ชูจุดเด่น เรื่องเส้นที่ทำจากเนื้อปลาแท้ๆ ไม่เน้นแป้ง ทำให้เส้นเหนียวนุ่ม ไม่อืด
ซึ่งก็สร้างความฮือฮาบนโซเชียลมีเดีย และเกิดกระแสผู้บริโภคอยากไปหาซื้อมาลองทานกันไม่น้อย
สรุปแล้ว บทเรียนที่ได้จาก คุณไพบูลย์ หรือ อากู๋ และ บริษัท พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง
คือเรื่อง “ความไม่แน่นอน” และ “ความล้มเหลว”
1) ความไม่แน่นอน
ชีวิตมักเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนเสมอ มีจุดพลิกผันตลอด ไม่อาจคาดการณ์ได้
เหมือนคุณไพบูลย์ ที่จู่ๆ ต้องทิ้งบริษัทที่เพิ่งก่อตั้งได้ไม่นาน มาร่วมงานกับ คุณสุวิทย์ เพื่อตั้งบริษัท พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง
และต้องลาออกจากบริษัท พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง มาตั้งบริษัท แกรมมี่
ซึ่งคุณไพบูลย์ ก็ไม่อาจรู้ถึงจุดหมายปลายทางของชีวิตทั้งหมดได้
แต่ถึงแม้ไม่รู้ทิศทางที่ชัดเจน หากได้ทำทุกอย่างสุดความสามารถแล้ว
ก็คงไม่นึกเสียภายในหลัง ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร
2) ความล้มเหลว
การจะประสบความสำเร็จได้ ไม่ใช่ว่าต้องไม่ล้มเหลว หรือล้มเหลวให้น้อยที่สุด
แต่การยิ่งล้มเหลวให้มาก เรียนรู้ให้มาก อาจยิ่งนำไปสู่ความสำเร็จได้มากกว่า
เหมือนอย่าง บริษัท พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง ที่กว่าจะเจอแบรนด์ทาโร และธุรกิจประสบความสำเร็จ
ก็เคยทำธุรกิจขาดทุน และลองผิดลองถูกมาหลายอย่าง
และได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่เคยทำผิดพลาดไป
จนในที่สุดก็มีประสบการณ์ และแข็งแกร่งมากพอ ที่จะก้าวเข้าสู่เส้นชัย..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.