ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด ยอดส่งอาหารถึงบ้านปีนี้ โต 78-84%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด ยอดส่งอาหารถึงบ้านปีนี้ โต 78-84%

6 ส.ค. 2020
จากวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 และการที่ทางการไทยต้องใช้มาตรการเข้มข้นในการปิดกิจการหรือจำกัดการให้บริการของภาคธุรกิจเป็นการชั่วคราว รวมถึงธุรกิจร้านอาหารที่เหลือเพียงช่องทางการซื้อกลับและการจัดส่งอาหารไปส่งยังที่พัก (Food Delivery) ผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งได้กลายเป็นช่องทางที่สำคัญของทั้งผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารและผู้บริโภค
จากข้อมูลของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ พบว่า มีจำนวนร้านอาหารขนาดเล็ก-กลาง สมัครเข้าร่วมกับแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร ไม่น้อยกว่า 20,000 ต่อสัปดาห์ ส่งผลทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 จำนวนครั้งของการจัดส่งอาหารไปยังที่พักเติบโตสูงถึงประมาณร้อยละ 150 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
สำหรับทิศทางของตลาดธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พักและภาวะการแข่งขันในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 หลังจากการเข้ามาร่วมแข่งขันของผู้ให้บริการรายใหม่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จัดส่งอาหารไปยังที่พักที่เข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อตลาดในมิติที่หลากหลาย
จากความนิยมของผู้บริโภคในการใช้แอพพลิเคชั่นสั่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) ทำให้ธุรกรรมในตลาดเติบโตเร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่สนใจของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสั่งอาหารเพื่อจัดส่งไปยังที่พัก ทั้งต่างชาติและไทยเข้ามาทำตลาด ซึ่งมาจากทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันรวมถึงผู้เล่นจากนอกอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเมื่อผู้ให้บริการรายใหม่ของไทยได้เข้ามาในตลาดนี้ ด้วยรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ (Business Model) ที่ต่างจากเดิม อาทิ การไม่จัดเก็บค่าบริการต่างๆ จากร้านอาหาร (ปัจจุบันผู้ให้บริการมีการหักค่าบริการ ซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและอัตราที่จะมีความแตกต่างกัน แต่อาจสูงถึงร้อยละ 35) เช่น การหักค่าบริการจากกำไรขั้นต้น (ค่า GP) และอื่นๆ ระยะเวลาการชำระเงินคืนกลับไปยังร้านอาหารที่รวดเร็ว รวมถึงการเพิ่มคุณสมบัติและระบบการทำงานของแอพพลิเคชั่นที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งาน หรือการออกแบบวิธีการทำงานของแอพพลิเคชั่นการจัดส่งที่ให้ร้านอาหารสามารถเปรียบเทียบราคาค่าส่งอาหารจากผู้ให้บริการส่งอาหารได้ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารและผู้บริโภค
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่จะสร้างความตื่นตัวและส่งผลต่อธุรกิจจัดส่งอาหารในมิติต่างๆ ดังนี้
กระตุ้นให้ผู้เล่นรายเดิมจัดโปรโมชั่นด้านราคาอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาฐานตลาดและความสามารถในการแข่งขันของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม หลังจากสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ในประเทศดีขึ้น ร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ รวมถึงผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นและกลับไปใช้บริการนั่งรับประทานในร้านมากขึ้น ทำให้ปริมาณผู้ใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์ชะลอลง และส่งผลทำให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารไปยังที่พักยังคงต้องกระตุ้นตลาดอย่างหนักเพื่อรักษาฐานลูกค้าที่มีรวมถึงดึงดูดกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ให้เข้ามาใช้งาน นอกจากนี้น่าจะมีการทำการตลาดร่วมกับพันธมิตรร้านค้ารายเดิมมากยิ่งขึ้น
แม้จะเพิ่มช่องทางการขายให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร ขณะเดียวกันทำให้การแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารรุนแรงขึ้นรวมถึงสร้างข้อจำกัดให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารในการทำตลาด ถึงแม้ว่าการเข้ามาของผู้ให้บริการรายใหม่ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการร้านอาหาร เนื่องจากมีช่องทางการขายเพิ่มขึ้นและสามารถเลือกใช้บริการในแพลตฟอร์มที่เหมาะสมกับโครงสร้างต้นทุนของผู้ประกอบการ แต่ในอีกด้านหนึ่งส่งผลทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการร้านอาหารที่รุนแรง และสร้างความท้าทายให้กับผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร อาทิ การปรับขึ้นราคาสินค้าที่อาจจะมีข้อจำกัด เนื่องจากลูกค้าสามารถเปรียบเทียบราคาสินค้าอาหารภายในแอพพลิคชั่นได้ อีกทั้งผู้ประกอบการต้องระมัดระวังในเรื่องคุณภาพและบริการ จากการที่แพลตฟอร์มของผู้ให้บริการสั่งออนไลน์บางรายจะมีการให้บริการคอมเมนท์ของผู้บริโภค หรือการวัดคุณภาพของผู้ประกอบการร้านอาหาร
การปรับโมเดลรูปแบบธุรกิจเพื่อสร้างความสมดุลและประโยชน์ของผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก เมื่อผู้ให้บริการรายใหม่เข้ามาด้วยรูปแบบของธุรกิจที่ต้องการแก้จุดอ่อนของตลาด ส่งผลทำให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรายเดิมคงจะมีการปรับกลยุทธ์ เพื่อรองรับการแข่งขันที่จะเข้ามา อาทิ เงื่อนไขบางประการเพื่อให้เหมาะสมกับพาร์ทเนอร์แต่ละกลุ่ม อย่างการปรับรูปแบบการคิดค่าบริการจากร้านอาหารและผู้ให้บริการรับจ้างส่งอาหาร รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่ได้ถูกใช้งานเข้ามาสนับสนุนธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พักในบางพื้นที่ที่ได้รับความนิยมสูง หรือการปรับสวัสดิการสำหรับผู้ขับขี่ให้เหมาะสมมากขึ้น เพื่อให้เกิดความสมดุลกับทุกฝ่ายและรักษาจำนวนพาร์ทเนอร์ของแพลตฟอร์ม รวมถึงการจัดสร้างครัวกลาง (Cloud Kitchen) ที่คาดว่าจะเข้ามาช่วยลดข้อจำกัดในการสั่งอาหารข้ามพื้นที่
การยกระดับคุณสมบัติการใช้งานของแอพพลิเคชั่นของผู้เล่นรายเดิม เข้าสู่ Super Application ด้วยการให้บริการครอบคลุมไปยังกิจกรรมด้านอื่นๆ ของผู้บริโภค เพื่อสร้างรายได้ระยะยาว โดยคาดว่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์ออนไลน์รายเดิมจะมีการเร่งพัฒนายกระดับคุณสมบัติการใช้งานของแอพพลิเคชั่นให้ครอบคลุมไปยังกิจกรรมในชีวิตประจำวันด้านอื่นๆ ของผู้บริโภคหรือมีลักษณะเป็น One-Stop Application เพื่อเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ เนื่องจากธุรกิจการให้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พักต้องใช้งบประมาณสูงในการกระตุ้นตลาดด้วยการใช้กลยุทธ์ด้านราคาเข้ามาทำตลาด และส่งผลกระทบให้กำไรสุทธิจากการทำธุรกิจดังกล่าวติดลบ กอปรกับ การระดมเงินทุนเพิ่มเติมจากภายนอกองค์กร อาจทำได้ยากอย่างยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความเปราะบางเช่นนี้
สำหรับทิศทางของตลาดธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พักในช่วงที่เหลือของปี 2563 นี้ ภายหลังการระบาดของโควิด-19 ได้คลี่คลาย และธุรกิจร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการ ส่งผลทำให้ปริมาณความหนาแน่นของการสั่งอาหารไปยังที่พักจะไม่ได้สูงเมื่อเทียบกับช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่ยังสูงกว่าก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากความนิยมในการใช้บริการการสั่งอาหารไปส่งยังที่พักยังมีต่อเนื่อง และความกังวลเรื่องการระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ที่จะกลับมาก็อาจจะทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มยังคงเลือกสั่งอาหารมายังที่พัก
นอกจากนี้ เทรนด์ของร้านอาหารที่ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะรายใหญ่ได้มีการปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจและการลงทุน เช่น การลดจำนวนการขยายร้านอาหารประเภทการให้บริการเต็มรูปแบบ โดยหันมาเปิดร้านขนาดเล็ก หรือแบบ Kiosk การปรับขั้นตอนปฏิบัติและรูปแบบร้านให้รองรับการสั่งอาหารไปยังที่พัก เป็นต้น
อีกทั้งการเข้ามาของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารรายใหม่ น่าจะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันที่เข้มข้นระหว่างผู้ให้บริการในการกระตุ้นตลาด ทำให้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 จำนวนครั้งของการจัดส่งอาหารน่าจะเติบโตร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (แต่หากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศกลับมามีการระบาดอีกครั้ง ก็มีโอกาสที่ธุรกรรมจะปรับสูงขึ้น)
และทั้งปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จำนวนครั้งของการจัดส่งอาหารจะมีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 78.0-84.0 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
Disclaimer
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำx
ที่มา - ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.