PwC เผย พฤติกรรมหลายอย่างของผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนแปลง หลังเกิด COVID-19
4 ส.ค. 2020
นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจมุมมองผู้บริโภคทั่วโลกของ PwC ที่ได้แบ่งการสำรวจออกเป็น 2 ครั้ง ได้แก่ ก่อนและหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19
โดยผลสำรวจมุมมองผู้บริโภคทั่วโลก(Global Consumer Insights Survey) ของ PwC สรุปได้ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นฐานในหลายๆ เรื่อง
โดยพบว่า แม้การซื้อสินค้าที่ร้านขายของชำยังคงเป็นช่องทางหลักที่ผู้บริโภคเลือกใช้ แต่มากกว่า 35% ของผู้บริโภคที่ถูกสำรวจ หันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการสั่งอาหาร ขณะที่ 86% ของผู้ที่ซื้อสินค้าออนไลน์ในช่วง Covid-19 ระบาด มีแผนที่จะใช้ช่องทางนี้เพื่อซื้อสินค้าต่อไป แม้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมจะสิ้นสุดลง
สำหรับสินค้าอื่นที่ไม่ใช่อาหาร ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส 47% ของผู้บริโภคจับจ่ายสินค้าที่ร้านค้าเป็นประจำทุกวันหรือทุกสัปดาห์
แต่หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมา การชอปปิงออนไลน์สำหรับรายการที่ไม่ใช่อาหารได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งแนวโน้มของการชอปปิงออนไลน์ที่เติบโตนี้ เห็นได้เด่นชัดใน จีน (เพิ่มขึ้น 60%)และตะวันออกกลาง (เพิ่มขึ้น 58%)
นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมองเรื่องความปลอดภัยและความมั่นคง และการดูแลสุขภาพว่า มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตพอ ๆ กับการมีงานทำ โดย 49% และ 45% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีความเห็นดังกล่าวตามลำดับ เปรียบเทียบกับการมีงานทำที่ 45%
นอกจากนี้ นางสาว วิไลพร ยังเสริมว่า ผู้บริโภคในประเทศไทยยังปรับตัวไปสู่สังคมไร้เงินสดมากขึ้น โดยหันมาใช้บริการ e-Payment มากขึ้น
ฉะนั้น ธุรกิจที่หันมามุ่งเน้นทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์จะต้องมีระบบป้องกันความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า และภัยไซเบอร์ในด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจให้กับผู้บริโภคมากที่สุด