KOI Thé ร้านชานมไข่มุก ที่โตเร็วสุดในไทย

KOI Thé ร้านชานมไข่มุก ที่โตเร็วสุดในไทย

18 มิ.ย. 2020
เมื่อไม่กี่ปีก่อน ตลาดชานมไข่มุกได้กลับมาคึกคักอีกครั้ง
เกิดกระแสชานมฟีเวอร์ ทั้งในประเทศไทย และประเทศสมาพันธ์ชานมอย่าง ไต้หวัน และฮ่องกง
ซึ่งเมื่อความต้องการของผู้บริโภคพุ่งสูงขึ้น
จึงทำให้เกิดแบรนด์และร้านชานมไข่มุกต่างๆ เปิดเป็นจำนวนมาก
ทั้งแบรนด์ของคนไทยเอง และแบรนด์ที่นำเข้ามาจากต่างชาติ
แม้กระทั่งร้านอาหารบางแห่ง ก็เพิ่มเมนูนี้เข้าไปด้วย
เรียกได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาเป็นปีทอง และทะเลเลือดของร้านชานมในเวลาเดียวกัน
ซึ่งหนึ่งในแบรนด์ที่ผงาดขึ้นมาได้อย่างโดดเด่น ก็คือ “KOI Thé”
โดยมากับสูตรเด็ด สร้างการจดจำแบรนด์แก่ผู้คนอย่าง “ไข่มุกคาราเมลสีทอง’
ไข่มุกสีทอง ลูกเล็กๆ ที่เนื้อเหนียวหนึบหนับ
และรู้ไหมว่า KOI Thé เป็นเชนร้านชานมไข่มุกที่โตเร็วมากที่สุดในเมืองไทย
บริษัท โคอิ เตะ (ประเทศไทย) จำกัด
ปี 2560 มีรายได้ 62 ล้านบาท กำไร 8 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้ 304 ล้านบาท กำไร 81 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 520 ล้านบาท กำไร 107 ล้านบาท
คิดเป็นอัตราการเติบโตของรายได้เฉลี่ย 103% ต่อปี
และกำไรเฉลี่ย 137% ต่อปี
ซึ่งถ้าให้ โคอิ เตะ (ประเทศไทย) จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย
และมีอัตราส่วนมูลค่าบริษัทต่อกำไร (P/E) เท่ากับ 45 เท่า เหมือนกับร้านขนมหวาน อาฟเตอร์ ยู
โคอิ เตะ (ประเทศไทย) จะมีมูลค่าบริษัทประมาณ 4,800 ล้านบาท
ซึ่ง KOI Thé มีจำนวนสาขาในไทยอยู่ 42 สาขา
เฉลี่ยแล้วร้าน KOI Thé 1 สาขา จะมีมูลค่าประมาณ 114 ล้านบาท..
ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นของ KOI Thé ต้องเดินทางย้อนรอยไปที่ไต้หวัน
โดยผู้ให้กำเกิด คุณ Khloe Ma เกิดที่เมืองเล็กๆ ทางใต้ของไต้หวัน
Khloe Ma เกิดในครอบครัวเกษตรปลูกชา
เขาจึงมีโอกาสดื่มชาเป็นประจำตั้งแต่เด็กๆ และก็หลงรักมันในที่สุด
พอโตเป็นผู้ใหญ่ หลังจากปลดประจำการทหาร
Khloe Ma ก็เปิดร้านขายไก่ทอดและชาแถวบ้านควบคู่กันไป ในปี พ.ศ. 2537
แต่ปรากฏว่า ร้านชาขายดีกว่าร้านไก่ทอดมาก เขาเลยปิดร้านไก่ทอดลง แล้วมุ่งทำธุรกิจชาอย่างเดียว
ต่อมาร้านชาของเขาเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ
จนวันหนึ่งมีลูกค้าจากไทเปถึงกับนั่งรถไฟมาทางใต้ เพื่อมาชิมชานมไข่มุกที่เขาทำโดยเฉพาะ
Khloe Ma จึงมีความคิดอยากไปเปิดร้านชาอีกสาขาที่เมืองไทเป และได้ตั้งชื่อแบรนด์ร้านว่า ‘50 Lan’
50 Lan ได้รับความนิยม และมีการขยายสาขาอย่างรวดเร็วด้วยระบบแฟรนไชส์
จนปัจจุบันมีมากกว่า 400 สาขาในไต้หวัน
และครองส่วนแบ่งตลาดชานมมากที่สุดในประเทศ ด้วยสัดส่วนประมาณ 29%
แต่เส้นทางร้านชาของ Khloe Ma ยังไม่จบเพียงเท่านั้น
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2549 เขาเกิดไอเดียอยากแตกแบรนด์ชาอีกแบรนด์ที่ต่างจาก 50 Lan
โดยยึดคอนเซ็ปต์ เป็นแบรนด์ชาที่คนทุกเชื้อชาติสามารถเข้าถึงได้
เพราะเขาอยากให้ผู้คนในต่างประเทศ ได้มีโอกาสดื่มชานมไต้หวันแท้ๆ
และนั้นจึงเป็นที่มาของการเปิดร้าน KOI Café สาขาแรกในไต้หวัน
ซึ่งปีต่อมา KOI Café ก็ได้ขยายสาขาออกไปยังต่างประเทศ โดยเริ่มจากสิงคโปร์เป็นที่แรก
นอกจากนี้ Khloe Ma ยังได้เปลี่ยนชื่อแบรนด์ใหม่เป็น KOI Thé ในปี พ.ศ. 2558
เพราะต้องการให้แบรนด์สื่อถึงความเป็นร้านชามากขึ้น
ทั้งนี้ KOI แปลว่า เมล็ด ในภาษาจีน ซึ่งสื่อความหมายถึง เมล็ดชาและเมล็ดกาแฟ
ส่วน Thé ก็แปลว่า ชา ในภาษาฝรั่งเศส
ปัจจุบัน KOI Thé ได้ขยายอาณาจักรร้านชานมไปยัง 13 ประเทศ
ได้แก่ ไต้หวัน, สิงคโปร์, จีน, มาเก๊า, อินโดนีเซีย, กัมพูชา, ญี่ปุ่น, เวียดนาม, ฮ่องกง, ไทย, พม่า, มาเลเซีย และสหรัฐฯ
ซึ่งมีสาขารวมกันมากกว่า 400 สาขา
อย่างไรก็ตาม ในไต้หวัน KOI Thé มีเพียงสาขาเดียวเท่านั้น
เนื่องจากคุณ Khloe Ma ไม่ต้องการให้ไปแย่งชิงตลาดกับร้าน 50 Lan
ส่วนประเทศไทย KOI Thé เข้ามาเปิดสาขาแรกที่เซ็นทรัล บางนา เมื่อปี พ.ศ. 2559
ซึ่งปัจจุบันมีร้านทั้งหมด 42 สาขาในไทย
ที่สำคัญคือร้าน KOI Thé ทุกสาขา จะใช้ใบชาและเม็ดแป้งไข่มุกที่นำเข้าจากไต้หวัน
เพื่อควบคุมคุณภาพชาทุกแก้วให้มีมาตรฐานเดียวกันหมด
จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ราคาเครื่องดื่มของ KOI Thé จะมีราคาค่อนข้างสูง
ปัจจุบัน ตลาดชานมไข่มุกในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี
และเติบโตปีละประมาณ 40%
KOI Thé จึงยังมีโอกาสขยายกิจการ และสร้างการเติบโตในไทยได้อีกไม่น้อย
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของ KOI Thé หลักๆ ในตอนนี้ มีอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน
เรื่องแรกคือ เทรนด์กระแสความนิยมบริโภคชานมในเมืองไทย
ต่อไปจะยังร้อนแรง และสดใสเหมือนช่วงที่ผ่านมาหรือไม่
วัฒนธรรมชานมนิยม เป็นสิ่งที่สืบทอดต่อๆ กันไปอย่างยั่งยืน หรือเป็นเพียงกระแสชั่วคราวเท่านั้น
เรื่องต่อมาคือ โรคระบาดโควิด-19
KOI Thé ก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงไม่ต่างอะไรกับร้านอาหารและธุรกิจอื่นๆ
ที่ต้องปิดหน้าร้านสาขา อย่างสาขาในห้างฯ เป็นการชั่วคราวในช่วงที่ผ่านมา
แม้ตอนนี้ รัฐได้คลายมาตรการล็อกดาวน์ และ KOI Thé ก็ทยอยกลับมาเปิดร้านอีกครั้ง
แต่ลูกค้าจำนวนไม่น้อยของ KOI Thé เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
เมื่อการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น นักท่องเที่ยวไม่มา
KOI Thé ก็จะขาดฐานลูกค้า และสูญเสียรายได้ที่สำคัญไป
นอกจากนี้ KOI Thé ยังเน้นเปิดร้านสาขาในแหล่งสถานที่ท่องเที่ยว หรือในห้างฯ เป็นหลัก
เลยต้องเผชิญกับภาระค่าเช่าที่สูงๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้
ซึ่งถึงแม้ทางห้างฯ จะยอมลดค่าเช่าให้ เช่น 50% ต่อเดือน
แต่ด้วยยอดรายได้ที่หดหายไปนี้
KOI Thé จึงอาจต้องพบกับสถานะ เงินเข้า น้อยกว่า เงินออก
หรือยอดขายที่ทำได้ มันไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั่นเอง
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.