มาสเตอร์การ์ด ต่อยอดการสู้ภัย COVID-19 ดึง 1 พันล้านคน เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
5 มิ.ย. 2020
เป็นการต่อยอดความสำเร็จของมาสเตอร์การ์ดที่ทำให้กว่า 500 ล้านคนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้แล้วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามาสเตอร์การ์ดตั้งใจที่จะดึงธุรกิจขนาดเล็ก 50 ล้านรายและนักธุรกิจหญิง 25 ล้านคนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลภายในปี 2025เป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและความร่วมมือกับหลายพันธมิตร เพื่อให้การสนับสนุนและมอบข้อมูลเชิงลึกในด้านต่างๆ รวมทั้งเข้าถึงธุรกิจและชุมชนท้องถิ่นเป็นการสนับสนุนทั้งในด้านสุขภาพทางการเงินและสุขภาพร่างกาย
ในช่วงวิกฤตนี้ มาสเตอร์การ์ดประกาศต่อยอดความมุ่งมั่นขององค์กรในเรื่องการเข้าถึงบริการทางการเงินของผู้คนทั่วโลก (Financial Inclusion) โดยให้คำมั่นว่าจะทำให้ผู้คน 1 พันล้านคนและธุรกิจขนาดเล็ก 50 ล้านรายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) หรือการเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกโดยการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ ภายในปี 2025 และอีกส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นนี้ มาสเตอร์การ์ดจะมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือนักธุรกิจหญิง 25 ล้านคนแก้ไขปัญหาในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
ผลกระทบจากโควิด-19 ได้ทำให้การสนับสนุนการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน (Inclusive Growth) เป็นปัญหาเร่งด่วนกว่าที่เคย โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เนื่องจากประชากรโลกราว 60% อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้และเป็นภูมิภาคที่เศรษฐกิจมีการเติบโตเร็วที่สุดในโลกอีกด้วย ข้อมูลจากธนาคารโลกในช่วงเดือนเมษายนระบุว่า ประชากรราว 24 ล้านคนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตะวันออกจะหลุดพ้นจากความยากจนในปีนี้หากไม่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
“หากเราต้องการที่จะฟื้นตัวจากสถานการณ์นี้อย่างยั่งยืนในระยะยาว เราต้องมั่นใจว่าทุกคนถูกรวมอยู่ในกระบวนการฟื้นฟู การทำให้ผู้คนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญ” นายอาเจย์ บังกา ประธานและซีอีโอของมาสเตอร์การ์ด กล่าว “การทำให้ผู้คนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนับว่าเป็นการกระทำที่มากกว่าความรักเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน นี่ถือเป็นโอกาสที่องค์กรจะได้ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในการสร้างจุดเปลี่ยนทางสังคมที่ยิ่งใหญ่และทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และเป็นการดำเนินงานที่จะช่วยให้ผู้คนในสังคมเติบโตไปด้วยกัน”
“ผลกระทบจากโควิด-19 ได้ทำให้เห็นถึงความสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลมากกว่าที่เคยเป็นมา และเนื่องจากการเว้นระยะห่างทางสังคมได้กลายเป็นความปกติรูปแบบใหม่ไปแล้ว เราต้องมั่นใจว่าทุกคนในประเทศไทย โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก สามารถทำธุรกรรมการเงินแบบดิจิทัลได้ เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถประคับประครองตัวให้ผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้ เพราะสัดส่วนของเอสเอ็มอีคิดเป็น 99.7% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมดในไทยและทำให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 10 ล้านคน การขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินและเทคโนโลยีดิจิทัลสู่คนกลุ่มนี้จึงสำคัญอย่างมาก” นางสาวไอลีน ชูว ผู้จัดการประจำประเทศไทยและเมียนมาร์ มาสเตอร์การ์ด กล่าว
ความมุ่งมั่นครั้งใหม่นี้เป็นการต่อยอดคำมั่นสัญญาของมาสเตอร์การ์ดที่ประกาศไว้เมื่อปี 2015 ที่จะนำประชากรกว่า 500 ล้านคนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งตั้งอยู่บนความพยายามขององค์กรที่จะช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้คนทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด ทั้งทางด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มาสเตอร์การ์ดสามารถทำตามคำมั่นสัญญาแรกได้สำเร็จ ได้นำประชากร 500 ล้านคนเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลผ่านโครงการกว่า 350 โครงการใน 80 ประเทศทั่วโลก
โครงการที่มาสเตอร์การ์ดได้จัดตั้งขึ้น ได้แก่:
ประเทศอินเดียและอินโดนีเซีย
มาสเตอร์การ์ดได้นำเสนอแพลตฟอร์มที่มีชื่อว่า Micro Credit ทำให้เจ้าของร้านค้าขนาดเล็กที่เมื่อก่อนไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน สามารถสร้างเครดิตให้กับตัวเองได้ และเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับเจ้าของร้านค้าในการใช้เครดิตของตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด มาสเตอร์การ์ดได้ร่วมมือกับองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรจัดอบรมทักษะทางการเงินและด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับเจ้าของร้านค้าเหล่านี้ ในประเทศอินโดนีเซียโครงการนี้ได้เริ่มขยายตัวโดยมีเป้าหมายดึง 1 หมื่นร้านค้าเข้าร่วมโครงการภายในกลางปี 2020
ประเทศบังกลาเทศและกัมพูชา
มาสเตอร์การ์ดได้ร่วมมือกับธุรกิจในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเพื่อพัฒนาระบบซัพพลายเชนให้เป็นรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น ด้วยการจ่ายเงินเดือนพนักงานผ่านระบบดิจิทัลควบคู่กับการส่งเสริมความรู้ด้านการเงินและเทคโนโลยีผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีชื่อว่า Digital Wages Toolkit ซึ่งได้ทดลองใช้แล้วกับแรงงานหญิง 1 หมื่นคนในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าในประเทศบังกลาเทศ ก่อนนำไปปรับใช้กับประเทศกัมพูชา
ประเทศอินโดนีเซีย
มาสเตอร์การ์ดเปิดตัว Mastercard Academy 2.0 โครงการเสริมสร้างทักษะแห่งแรกขององค์กรที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ความรู้ที่จำเป็นด้านเทคโนโลยีแก่ประชากรหลากหลายกลุ่ม โดยภายในปี 2022 โครงการนี้จะมีทักษะที่นักเรียน ผู้ใหญ่ เจ้าของธุรกิจ ตลอดจนบุคลากรที่อยู่ในช่วงกลางของอาชีพการทำงาน สามารถนำไปใช้เพื่อขวนขวายและทำให้ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศอินโดนีเซียสู่ยุคดิจิทัลได้
ประเทศเวียดนาม
มาสเตอร์การ์ดทำงานร่วมกับองค์การแคร์นานาชาติ (CARE International) เพื่อช่วยให้ธนาคารและธุรกิจฟินเทคสามารถมอบบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้หญิงแต่ละราย เพื่อให้พวกเธอสามารถเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและช่วยผลักดันให้ธุรกิจที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง โดยเป้าหมายของความร่วมมือนี้คือการสร้างนักธุรกิจหญิงชาวเวียดนามอย่างน้อย 1 ล้านคน
การจะทำให้ 1 พันล้านคนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้จำเป็นต้องใช้ความพยายามหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาระบบการชำระเงินของรัฐบาล การปรับให้การจ่ายเงินเดือนพนักงานในภาคเอกชนเป็นรูปแบบดิจิทัล การร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ การจัดหาเครื่องมือด้านการเงินให้กับลูกจ้างอิสระ การช่วยขยายกิจการของธุรกิจฟินเทค ตลอดจนการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล กระเป๋าเงินดิจิทัล แอปพลิเคชันและโซลูชันด้านการเงินที่จะช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ความมุ่งมั่นของมาสเตอร์การ์ดครั้งใหม่นี้ต่อยอดมาจากความตั้งใจที่จะสนับสนุนการฟื้นฟูสังคมให้ทั่วถึงผ่านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญและการเข้าถึงประชากรหลายระดับ สิ่งที่มาสเตอร์การ์ดได้เริ่มดำเนินงานแล้วมีดังต่อไปนี้:
• ในช่วงแรกๆ ที่เกิดการระบาดไปทั่วโลก มาสเตอร์การ์ด มูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ และเวลคัม ทรัส ได้ร่วมบริจาคเงินทุนราว 3.9 พันล้านบาท (125 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เร่งจัดตั้งโครงการ ‘COVID-19 Therapeutics Accelerator’ เพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้มีผู้สนใจร่วมบริจาคในเวลาต่อมา เช่น หน่วยงานการกุศล Chan Zuckerberg Initiative รัฐบาลอังกฤษ บริษัทยาอย่างโนวาร์ติสและนักร้องดังอย่างมาดอนนา โดยทุกฝ่ายต่างร่วมมือกันเพื่อเร่งรับมือกับโรคโควิด-19 ผ่านการวิจัย พัฒนาและขยายผลการรักษาเพื่อให้สามารถใช้ได้ทั่วโลก
• มาสเตอร์การ์ดตั้งใจจะลงทุนกว่า 8 พันล้านบาท (250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพื่อสนับสนุนกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กในสหรัฐอเมริกา อินเดียและประเทศอื่นๆ ในด้านเทคโนโลยี การเงิน ผลิตภัณฑ์และบริการในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อเสริมกำลังให้กับธุรกิจและสร้างความมั่นคงด้านการเงินให้กับพนักงาน
• จนถึงปัจจุบัน มาสเตอร์การ์ดได้มอบเครื่องมือและทรัพยากรที่จำเป็นในการขยายธุรกิจให้กับนักธุรกิจหญิงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแล้วกว่า 2.2 ล้านคน
• มาสเตอร์การ์ดได้ให้ความรู้และเสริมทักษะทางการเงินแก่ผู้หญิงเกือบ 200,000 คนผ่านโครงการมากมายในบังกลาเทศ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เนปาล ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และเวียดนาม
ในประเทศอินเดีย มาสเตอร์การ์ดได้ร่วมมือกับมูลนิธิแมนน์เดซี (Mann Deshi Foundation) ซึ่งเป็นองค์กรท้องถิ่นที่ไม่หวังผลกำไร ก่อตั้งหอการค้าที่มุ่งช่วยเหลือนักธุรกิจหญิงในชุมชนด้านบริการทางการเงินแห่งแรกในประเทศ ให้คำแนะนำ เสริมทักษะและมอบโอกาสทางธุรกิจ ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมกว่า 10,000 รายเติบโต
• เครือข่ายชาวไร่ของมาสเตอร์การ์ด หรือ Mastercard Farmers Network คือแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ช่วยให้เกษตรกรในประเทศอินเดียและภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกสามารถซื้อขายและชำระค่าสินค้าเกษตรผ่านโทรศัพท์มือถือได้โดยไม่ต้องไปตลาด ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์แก่เกษตรกรหญิงที่ต้องดูแลงานบ้านทำให้ทิ้งไร่นาหรือสวนไปไม่ได้เป็นอย่างมาก เพราะพวกเธอยังสามารถค้าขายสินค้าได้อยู่ ทั้งยังผ่านช่องทางการชำระเงินที่ปลอดภัยด้วยระบบดิจิทัล ซึ่งทำให้ราคาสินค้ามีความโปร่งใสและสามารถค้าขายกับผู้ซื้อได้โดยตรง นอกจากนี้ แพลตฟอร์มดังกล่าวยังสามารถใช้เป็นบันทึกทางการเงินที่ถูกต้องตามกฎหมายได้อีกด้วย เป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงเงินกู้และบริการทางการเงินอื่นๆ
• ในประเทศอินเดีย เร็วๆ นี้ มาสเตอร์การ์ดจะเปิดตัวอีกหนึ่งโครงการเพื่อผลักดันความสำเร็จของผู้ประกอบการ โดยเพิ่มการเข้าถึงตลาดค้าขายให้แก่เกษตรกร พร้อมปลดล็อคศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของผู้หญิง
Tag:มาสเตอร์การ์ด