
สรุปไอเดียทำ การตลาดระดับประเทศ ผ่านธีมนำเสนอ ของชาติต่าง ๆ ในงาน World Expo 2025
21 เม.ย. 2025
World Expo คืองานนิทรรศการระดับโลก ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุก ๆ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 1851 เพื่อเป็นพื้นที่จัดแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรม วิสัยทัศน์ รวมถึงสถาปัตยกรรม ที่แต่ละประเทศต้องการแสดงให้คนทั่วโลกได้รับรู้
โดย World Expo ครั้งล่าสุด ที่กำลังจัดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ใช้ชื่อว่า “Expo 2025 Osaka, Kansai” จัดขึ้นที่เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 13 เมษายน - 13 ตุลาคม ปี 2025
ซึ่งนอกจากจะเป็นพื้นที่แห่งการแสดงทางด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม วิสัยทัศน์ และสถาปัตยกรรมต่าง ๆ แล้ว
World Expo ที่จัดขึ้นทุกครั้ง ยังเป็นพื้นที่แห่งการแสดงออกด้าน “การตลาด” ที่แต่ละประเทศใช้เป็นเวทีในการนำเสนอตัวตน จุดยืน จุดแข็ง และศักยภาพของตัวเอง ให้กับคนทั่วโลกได้รับรู้
แล้วเราได้เห็นการตลาดของแต่ละประเทศ ภายในงาน World Expo ครั้งนี้อย่างไร ?
MarketThink ขอพาไปดู ผ่านแนวคิดของ Pavilion หรือศาลา ใน 10 ประเทศเด่น ๆ ไปพร้อมกัน..
MarketThink ขอพาไปดู ผ่านแนวคิดของ Pavilion หรือศาลา ใน 10 ประเทศเด่น ๆ ไปพร้อมกัน..
________________________________
1. จีน

Pavilion ของประเทศจีน มาในแนวคิด “Building a Community of Life For Man and Nature - Future Society of Green Development” หรือการสร้างสังคมแห่งชีวิตสำหรับมนุษย์และธรรมชาติ
ตัวอาคาร Pavilion ของประเทศจีน สร้างขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลใจจาก แผ่นไม้ที่ใช้เขียนตัวอักษรจีนในสมัยโบราณ
และนำเสนอปรัชญาจีนโบราณ ที่ว่าด้วยการใช้ชีวิตของมนุษย์ ที่ต้องเคารพธรรมชาติ และอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน
ซึ่งการตลาดที่เราเห็นได้จาก Pavilion ของประเทศจีน ก็คือ การนำประวัติศาสตร์ และปรัชญาจีนในสมัยโบราณ มาใช้เป็นจุดแข็งสำคัญของประเทศ และจับคู่กับเทรนด์ด้านความยั่งยืนทางด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้
________________________________
2. เยอรมนี

Pavilion ของประเทศเยอรมนี สร้างขึ้นบนแนวคิดหลัก คือ “Experience Circular Economy” หรือสัมผัสประสบการณ์เศรษฐกิจหมุนเวียน และมีชื่อการจัดแสดงคือ Wa! Germany
ซึ่งคำว่า Wa นั้น มาจากคำพ้องเสียงในภาษาญี่ปุ่น 3 คำ คือ
輪 ที่แปลว่า วงกลม
和 ที่แปลว่า ความกลมกลืน
และ わ ที่แปลว่า ว้าว เพื่อสื่อสารถึงความตื่นเต้น น่าสนใจ
輪 ที่แปลว่า วงกลม
和 ที่แปลว่า ความกลมกลืน
และ わ ที่แปลว่า ว้าว เพื่อสื่อสารถึงความตื่นเต้น น่าสนใจ
ส่วนตัวอาคารนั้น ก็ทำหน้าที่เป็นนิทรรศการที่แสดงถึงเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยตัวเอง เพราะตัวอาคารสร้างขึ้นด้วยแนวคิดทั้งความยั่งยืน ผสานเข้ากับสถาปัตยกรรม และภูมิสถาปัตย์ ที่สร้างประสบการณ์แปลกใหม่ นำเสนอแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นอนาคตที่สำคัญ
ซึ่งการตลาดที่เราเห็นได้จาก Pavilion ของประเทศเยอรมนี ก็คือ การนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน มาใช้สื่อสารให้กับคนทั่วโลกได้รับรู้ถึงวิสัยทัศน์ทางด้านเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ของเยอรมนี
________________________________
3. เกาหลีใต้

Pavilion ของประเทศเกาหลีใต้ นำเสนอแนวคิด “With Heart : Connecting Hearts, Lives in Bloom” ผ่านการนำเสนอการใช้ชีวิตที่กลมกลืน ด้วยเทคโนโลยีล้ำ ๆ ของเกาหลีใต้ ที่สร้างความมั่นคง และอนาคตที่ยั่งยืน
ซึ่งการตลาดที่เราเห็นได้จาก Pavilion ของประเทศเกาหลีใต้ ก็คือ การสื่อสารจุดแข็ง และนำเสนอภาพลักษณ์ประเทศของตัวเอง ในฐานะผู้นำทางเทคโนโลยี ที่อยู่เบื้องหลังการใช้ชีวิต และความยั่งยืนของคนทั่วโลก
________________________________
4. มาเลเซีย

Pavilion ของประเทศมาเลเซีย มาในแนวคิด “Weaving a Future in Harmony” หรือการถักทออนาคตอย่างยั่งยืน ด้วยการถ่ายทอดความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม และเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซีย
โดยตัวอาคารสร้างขึ้นด้วยไม้ไผ่ มีลักษณะคล้ายกับริบบิ้น ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากผ้าซองเก็ต (Songket) ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวมาเลเซีย แสดงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม นวัตกรรม ความกลมกลืน และความยั่งยืน
ซึ่งการตลาดที่เราเห็นได้จาก Pavilion ของประเทศมาเลเซีย ก็คือ การนำความหลากหลาย มาใช้เป็นจุดเด่นของประเทศ ทั้งในด้านความหลากหลายทางเชื้อชาติ และวัฒนธรรม ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และนวัตกรรมของประเทศมาเลเซีย
________________________________
5. สหราชอาณาจักร

Pavilion ของสหราชอาณาจักร ได้รับแรงบันดาลใจจากบล็อกตัวต่อของเล่นเด็ก แสดงถึงพลังของไอเดียเล็ก ๆ ที่สร้างนวัตกรรมอันยิ่งใหญ่ ไม่ต่างอะไรจากการประกอบบล็อกตัวต่อของเล่นชิ้นเล็ก ๆ เข้าด้วยกัน
ซึ่งการตลาดที่เราเห็นได้จาก Pavilion ของสหราชอาณาจักร ก็คือ การนำเสนอภาพลักษณ์ของประเทศแห่งโอกาส มีพื้นที่สำหรับเปิดรับความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนโลก
________________________________
6. สิงคโปร์

Pavilion ของประเทศสิงคโปร์ มาในแนวคิด “Where Dreams Take Shape” นำเสนออนาคตของประเทศสิงคโปร์ ที่เปลี่ยนความฝันให้กลายเป็นความจริง
ผ่านการนำเสนอที่กระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 สะท้อนการสร้างนวัตกรรม ความยืดหยุ่น และการมีส่วนร่วมของทุกคน ที่สร้างอนาคตร่วมกัน
ซึ่งการตลาดที่เราเห็นได้จาก Pavilion ของประเทศสิงคโปร์ ก็คือ การวาง Position ประเทศของตัวเองไว้เป็นผู้สร้างนวัตกรรม นำเสนอจุดแข็งด้านการปรับตัวได้อย่างยืดหยุ่น ยอมรับการมีส่วนร่วม และความหลากหลาย
________________________________
7. ไทย

Pavilion ของประเทศไทย สร้างขึ้นบนแนวคิด “The World’s Paradise for Medical Healthcare and Cultural Wellness” แสดงถึงการเป็นฮับของโลกด้านการแพทย์ และการรักษาสุขภาพด้วยภูมิปัญญาของไทย โดยมีการนำเสนอผ่านเอกลักษณ์ความเป็นไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น และนวัตกรรม
ซึ่งการตลาดที่เราเห็นได้จาก Pavilion ของประเทศไทย ก็คือ การวาง Position ประเทศไทยให้เป็นฮับด้านการแพทย์ และการท่องเที่ยวในระดับโลก ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน
________________________________
8. อิตาลี

Pavilion ของประเทศอิตาลี ใช้แนวคิด “Art Regenerate Life” ที่มองย้อนกลับไปถึงความเป็นเมืองในอุดมคติในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ผสานเข้ากับยุคสมัยใหม่
โดยนำเสนอทั้งเรื่องแฟชั่น งานหัตถกรรม การออกแบบ งานวิศวกรรม งานวิจัย และนวัตกรรมล้ำ ๆ ของอิตาลี ใน 3 แกนหลัก คือ ด้านอวกาศ สังคม และมนุษย์
ซึ่งการตลาดที่เราเห็นได้จาก Pavilion ของประเทศอิตาลี ก็คือ การวาง Position ของตัวเองไว้เป็นประเทศแห่งศิลปะ ความรุ่มรวยทางด้านวัฒนธรรม ที่มีมานับร้อยนับพันปี จนเป็นรากฐานของเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ ของประเทศอิตาลีในยุคปัจจุบัน
________________________________
9. สวิตเซอร์แลนด์

Pavilion ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ออกแบบบนแนวคิด “From Heidi to High-Tech” สะท้อนวิวัฒนาการของประเทศ จากประเทศเล็ก ๆ ในเทือกเขาแอลป์ สู่ประเทศผู้สร้างนวัตกรรมระดับโลก
ซึ่งการตลาดที่เราเห็นได้จาก Pavilion ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็คือ การนำเสนอตัวตนของตัวเอง ในฐานะประเทศที่เป็นเจ้าของนวัตกรรม และเทคโนโลยีล้ำ ๆ ระดับโลก ที่อยู่เบื้องหลังการใช้ชีวิตของทุกคน
________________________________
10. ญี่ปุ่น

Pavilion ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน World Expo ในครั้งนี้ นำเสนอแนวคิด “Designing a Future Society for Our Lives”
ซึ่งเป็นแนวคิดหลักในการจัดงาน World Expo ร่วมกับแนวคิดของ Pavilion คือ “Between Lives” ที่สร้างพลังงานหมุนเวียนจากเศษอาหารที่เหลือทิ้งภายในงาน ด้วยนวัตกรรมของญี่ปุ่น
ซึ่งการตลาดที่เราเห็นได้จาก Pavilion ของประเทศ การวาง Position และการสื่อสารตัวตน ในฐานะผู้นำทางด้านการคิดค้นนวัตกรรม และเทคโนโลยี ในแบบของตัวเอง ถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้ญี่ปุ่น กลายเป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลก มาอย่างยาวนานหลายสิบปี
________________________________
ทีนี้ หลังจากเราดูแนวคิดและการตลาด ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง Pavilion ของแต่ละประเทศกันแล้ว หากสรุปในภาพรวม ก็จะพบว่า Pavilion ของแต่ละประเทศ ได้โฆษณาด้วยการสื่อสารตัวตน จุดยืน จุดแข็ง และศักยภาพของตัวเองออกมาให้คนทั่วโลกได้รับรู้
เหมือนกับการตลาด ที่มีการสื่อสารจุดขายของสินค้า ว่าสินค้าของเราทำอะไรได้ และมีความแตกต่างจากคู่แข่งในท้องตลาดอย่างไร
โดยที่กลุ่มเป้าหมาย หรือลูกค้า ที่แต่ละประเทศสื่อสารถึง แม้จะไม่ใช่คนที่ซื้อสินค้าโดยตรง แต่ก็เป็นนักลงทุนหรือนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ที่จะหลั่งไหลเข้าไปลงทุน หรือไปท่องเที่ยวในแต่ละประเทศ จากการสื่อสารที่แต่ละประเทศได้กระจายออกไป จากงาน World Expo นั่นเอง
นอกจากนี้ Pavilion ของแต่ละประเทศ ยังมีลักษณะเป็นการตลาดผ่านการสร้างประสบการณ์ (Experiential Marketing) ที่เน้นการสร้างประสบการณ์ร่วม ให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์จากแบรนด์โดยตรงด้วยตัวเอง
เช่นเดียวกับกรณีของ Pavilion ของแต่ละประเทศในงาน World Expo ที่มีทั้งการจัดกิจกรรม และสร้างประสบการณ์เสมือนจริง ให้ผู้เข้าชมได้สัมผัส
จนนำไปสู่การจดจำเป็นภาพลักษณ์ของประเทศ ไม่ต่างอะไรจากการจดจำจุดแข็งของแบรนด์ หรือสินค้านั่นเอง
Tag:World Expo 2025