ดีทีจีโอ ร่วมมือจุฬาฯ พัฒนานวัตกรรม AI สำหรับโมเดลภาษาขนาดใหญ่รองรับ 3 ภาษา ยกระดับการบริหารจัดการองค์กรพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ดีทีจีโอ ร่วมมือจุฬาฯ พัฒนานวัตกรรม AI สำหรับโมเดลภาษาขนาดใหญ่รองรับ 3 ภาษา ยกระดับการบริหารจัดการองค์กรพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

5 ก.พ. 2025
บริษัท ดีทีจีโอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาเครื่องมือสำหรับใช้งานร่วมกับโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (DTLM) เพื่อใช้ในการยกระดับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้งในมหาวิทยาลัยและสังคมไทย
โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.คณพล จันทน์หอม รองอธิการบดีจุฬาฯ และนายกิตติคุณ โพธิวนากุล ประธานเจ้าหน้าที่งานเทคโนโลยี บริษัท ดีทีจีโอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือ
พิธีลงนามความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและบริษัท ดีทีจีโอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในครั้งนี้เป็นการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการภายในและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่บุคลากรและนิสิตจุฬาฯ
วัตถุประสงค์ของโครงการความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากการพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยให้การติดต่อและสื่อสารในองค์กรเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตอบคำถามด้านการบริหาร การให้บริการด้านการศึกษา การพัฒนาศักยภาพขององค์กรแล้ว ยังสนับสนุนการพัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่ โดยใช้ทรัพยากรและข้อมูลดิจิทัลของมหาวิทยาลัยเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการทำงาน รวมถึงการพัฒนานวัตกรรม AI เช่น ระบบ Retrieval-Augmented Generation (RAG) มาใช้ในการตอบโจทย์ความต้องการของนิสิตไทยและนิสิตต่างชาติ โดยเฉพาะนิสิตชาวจีน
โครงการความร่วมมือในครั้งนี้ยังเน้นการทำงานบนพื้นฐานของความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ด้วยการใช้โครงสร้างพื้นฐาน Private Cloud ที่ได้มาตรฐาน เพื่อรองรับการใช้งานในระดับที่มีข้อมูลขนาดใหญ่ มีความซับซ้อนสูง และมีความปลอดภัยเป็นพิเศษ ความร่วมมือในครั้งนี้ยังเป็นต้นแบบที่ดีของการบูรณาการความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์สูงสุดเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
ศาสตราจารย์ ดร.คณพล จันทน์หอม รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของโครงการนี้คือการพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยให้การติดต่อและสื่อสารในองค์กรเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตอบคำถาม การให้ข้อมูลสำคัญ หรือการสนับสนุนการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานที่หลากหลาย
“ผมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและบริษัท   ดีทีจีโอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยี แต่ยังเป็นต้นแบบที่ดีของการบูรณาการระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ในอนาคต”ศาสตราจารย์ ดร.คณพล กล่าว
นายกิตติคุณ โพธิวนากุล ประธานเจ้าหน้าที่งานเทคโนโลยี บริษัท ดีทีจีโอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้พัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (DTLM) ที่เชี่ยวชาญ 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญของการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลภายในองค์กร และเป็นการนำเทคโนโลยี AI มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารองค์กร และการให้บริการลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
“ความร่วมมือระหว่างบริษัทและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ จึงมีความหมายอย่างยิ่งต่อการก้าวสู่องค์กรชั้นนำ ที่ตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนาและประยุกต์ใช้ AI เพื่อยกระดับการบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเป็นแนวทางในการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการสร้างนวัตกรรมร่วมกัน ที่ไม่จำกัดเพียงแต่เฉพาะในภาคการศึกษาและภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น” นายกิตติคุณ กล่าวสรุป  
© 2025 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.