KPB Investment Flash on COVID-19: ทิศทางตลาดตราสารหนี้โลกจะเป็นอย่างไรต่อไป
8 พ.ค. 2020
การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบอย่างรวดเร็วและในวงกว้าง จนสร้างความผันผวนให้ตลาดทุนทั่วโลก รวมไปถึงตลาดตราสารหนี้ ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ เมื่อความเสี่ยงสูงขึ้น เกิดเป็นความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น พันธบัตรสหรัฐฯ และเยอรมัน ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลในบางประเทศ เช่น อิตาลี ที่ประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง บวกกับฐานะการคลังที่เปราะบางกลับถูกเทขายอย่างหนัก
โรคโควิด 19 เป็นเรื่องใหม่และสร้างความตื่นตระหนกให้ตลาดมากเทียบเท่ากับวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008 โดยนักวิเคราะห์บางท่านเทียบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงในช่วงทศวรรษ 1930 เลยทีเดียว นอกจากราคาพันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่เศรษฐกิจอ่อนแอจะลดลงมากแล้ว ราคาสินทรัพย์เสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นหุ้น และหุ้นกู้ ต่างก็ปรับตัวลดลงสะท้อนการคาดการณ์ของนักลงทุนว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างหนัก อย่างไรก็ตาม KBank Private Banking คาดการณ์ว่า แม้โรคโควิด 19 จะกระทบเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง แต่จะส่งผลกระทบเพียงชั่วคราว และเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 เนื่องจากประเมินว่ามาตรการทั้งการเงินและการคลังทั่วโลกจะช่วยพยุง และผลักดันเศรษฐกิจให้เข้าสู่ภาวะปกติได้ในที่สุด
ราคาตราสารหนี้จะฟื้นตัว เมื่อตลาดเข้าสู่ภาวะปกติ
KBank Private Banking ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารความมั่งคั่งอย่างครบวงจรชั้นนำของประเทศไทย คาดว่าแรงเทขายแบบทั่วทุกตลาดจะบรรเทาลง ราคาสินทรัพย์จะเคลื่อนไหวในกรอบที่แคบลง จากช่วงก่อนที่เปลี่ยนแปลงได้มากถึงวันละ 3-5% รวมทั้งตลาดตราสารหนี้ที่ผันผวนมากในช่วงก่อนหน้า เนื่องจากสัดส่วนการผิดนัดชำระหนี้ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่สภาพคล่องในตลาดสูงขึ้นมากจากมาตรการพิเศษของภาครัฐ คาดว่าราคาตราสารหนี้ โดยเฉพาะหุ้นกู้คุณภาพดี จะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ และสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนดังเช่นที่ผ่านมา
ปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตามอง
ด้านภาพรวมของการลงทุน KBank Private Banking แนะนำให้นักลงทุนจับตาปัจจัยสำคัญๆ ได้แก่
สถานการณ์การแพร่ระบาด แนวโน้มการพัฒนาวัคซีน ตลอดจนความพร้อมของระบบสาธารณสุขในแต่ละประเทศ ประสิทธิภาพของมาตรการการเงินและการคลังปัจจุบัน ที่แต่ละประเทศใช้ประคับประคองสถานการณ์ ตลอดจนงบประมาณของภาครัฐ และเครื่องมือในอนาคตที่จะกลับมาใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในตลาดตราสารหนี้ในบางกลยุทธ์ เช่น ตราสารหนี้เอกชนระยะยาว และต่างประเทศ มีทั้งความซับซ้อนและความเสี่ยงสูงกว่าการลงทุนหุ้นในประเทศมาก จึงไม่เหมาะที่นักลงทุนทั่วไปจะติดตามและบริหารจัดการด้วยตนเอง ควรสรรหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่มีผลงานระยะยาวโดดเด่น แม้ผ่านตลาดในช่วงที่ท้าทายมาหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปปี 2011 วิกฤตหนี้กรีซปี 2015 เศรษฐกิจโลกชะลอตัวช่วงปลายปี 2015 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2016 และล่าสุดกับปัญหาเรื่องหนี้และประเด็นการเมืองในอิตาลีเมื่อปี 2018
ทั้งนี้ แม้ผลตอบแทนของกองทุนรวมตราสารหนี้บางกลุ่มตั้งแต่ต้นปี 2020 อาจน่าผิดหวัง แต่หากดูรายได้ดอกเบี้ยและผลตอบแทนรวมในช่วงเวลาที่ยาวขึ้น การลงทุนในตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกสามารถสร้างผลตอบแทนเป็นบวกได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น นักลงทุนจึงควรจัดสรรสัดส่วนเงินลงทุนอย่างเหมาะสม และสร้างความคาดหวังต่อผลการลงทุนในระยะยาวเช่นกัน
ความเสี่ยงสำคัญในทุกๆ การลงทุนคือ หากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยระยะยาวอย่างแท้จริง ตลาดอาจตื่นตระหนกและนักลงทุนเริ่มเทขายสินทรัพย์เสี่ยง การลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ จะได้รับผลกระทบกดดันในเชิงลบอีกครั้ง ดังนั้น ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้สถานการณ์ใดๆ นักลงทุนจึงควรสำรองสภาพคล่องให้เพียงพอ จัดสรรสัดส่วนเงินลงทุนในแต่ละสินทรัพย์อย่างเหมาะสมตามระดับความเสี่ยงของตน พร้อมทั้งเข้าใจและติดตามผลการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ