TCP สรุปไฮไลต์ประจำปี 2567 เดินหน้าเป็นผู้นำธุรกิจ F&B ระดับเอเชีย ตอบโจทย์ผู้บริโภค-ผนึกพันธมิตร-ขับเคลื่อนความยั่งยืน

TCP สรุปไฮไลต์ประจำปี 2567 เดินหน้าเป็นผู้นำธุรกิจ F&B ระดับเอเชีย ตอบโจทย์ผู้บริโภค-ผนึกพันธมิตร-ขับเคลื่อนความยั่งยืน

24 ธ.ค. 2024
ตลอดทั้งปี 2567 เราได้เห็นถึงมูฟเมนต์ที่น่าสนใจของธุรกิจ Food & Beverage (F&B) ที่มีการเปิดตัวสินค้าใหม่ ๆ เพื่อรับกับเทรนด์ และความต้องการของผู้บริโภค
ซึ่งหนึ่งในผู้นำของธุรกิจ F&B ในไทย ก็คือกลุ่มธุรกิจ TCP ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ดัง ที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น กระทิงแดง (เรดบูล), เรดดี้, โสมพลัส, สปอนเซอร์, แมนซั่ม, เพียวริคุ และซันสแนค ได้สรุปไฮไลต์กลยุทธ์ธุรกิจที่น่าสนใจตลอดทั้งปี 2567
แล้วจะมีกลยุทธ์อะไรที่น่าสนใจบ้าง MarketThink สรุปให้อ่านกันในโพสต์นี้..
เริ่มต้นกันด้วยภาพใหญ่ นั่นคือเป้าหมายของกลุ่มธุรกิจ TCP ในการขับเคลื่อนกลยุทธ์การเติบโต ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้เป้าหมาย “ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า” โดยการใช้ 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่
1. ปลุกพลังด้วยแบรนด์สินค้า (Fulfilling)
2. ปลุกพลังธุรกิจเติบโต (Growing)
3. ปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม (Caring)
โดยปีนี้เน้นการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อเดินหน้าสู่การเป็นองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืนในด้านธุรกิจ พร้อมสร้างผลกระทบเชิงบวก ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งไทยและต่างประเทศ มุ่งสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจ F&B ของเอเชีย
ทีนี้ เราลองมาเจาะลึกลงไปในแต่ละกลยุทธ์ 
1. ปลุกพลังแบรนด์สินค้า (Fulfilling)
ในปีนี้ กลุ่มธุรกิจ TCP ตอกย้ำความเป็น “House of Great Brands” ด้วยการพัฒนานวัตกรรม และปั้นแบรนด์สินค้าใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ และความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย เช่น
- เรดบูล โซดา รสชาติใหม่ “บลูเบอร์รี แบล็กเคอร์แรนต์” 
ที่ร่วมพัฒนากับทีมเบคอนไทม์ Pro Player ROV อีสปอร์ต โดยมีความน่าสนใจ คือเป็นรสชาติที่เหมาะกับเกมเมอร์โดยเฉพาะ 
เพราะเป็นเครื่องดื่มที่เติมเอเนอร์จี และตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ช่วยสร้างการเติบโตของเครื่องดื่มเรดบูลในตลาดพรีเมียม
- สปอนเซอร์ ไอโซโทนิก 
นวัตกรรมเครื่องดื่มล่าสุดของอุตสาหกรรม F&B ในประเทศไทย เป็นเครื่องดื่มเกลือแร่สูตรหวานน้อย คืนความสดชื่นได้เร็ว ช่วยให้ร่างดูดซึมน้ำ เกลือแร่ และสารอาหารได้อย่างรวดเร็ว 
ซึ่งสปอนเซอร์ ไอโซโทนิก เป็นเครื่องดื่มที่แสดงให้เห็นถึงความพร้อมเจาะตลาดสปอร์ตดริงก์มูลค่า 5,400 ล้านบาท ตอบโจทย์กับเทรนด์ Health & Wellness ที่กำลังมาแรง
นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจ TCP ยังมีการปลุกพลังสินค้าด้วยการใช้กลยุทธ์ในรูปแบบอื่น เช่น
- สปอนเซอร์ แบรนด์ไทยแบรนด์แรกที่สนับสนุนการแข่งขัน วอลเลย์บอลหญิง เนชันส์ ลีก 2024 (VNL) รอบชิงชนะเลิศ 
ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทย โดยร่วมมือกับ Volleyball World เป็นกลยุทธ์การตลาดที่น่าสนใจมาก เพราะสามารถสร้างแบรนด์ด้วยการเข้าถึงผู้บริโภคที่รับชมกีฬาจากทั่วโลก สร้างการมองเห็นให้แบรนด์สปอนเซอร์ได้ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน ในช่วงการแข่งขัน
- ฟาร์มซ่า (FarmZaa) เครื่องดื่มจากน้ำมะปี๊ดโซดา จับมือ เซเว่น อีเลฟเว่น ยกระดับ “มะปี๊ด” จากสวนสู่ฟาร์มซ่า
พร้อมจัดแคมเปญ “FarmZaa ปันน้ำใจสู่เกษตรกรไทย” เมื่อซื้อฟาร์มซ่าทุก 1 กระป๋อง ที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่นทั่วประเทศ ฟาร์มซ่าร่วมบริจาค 1 บาท สมทบให้มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนเกษตรกรไทย เติบโตอย่างยั่งยืน
- ร่วมสร้างสนาม Red Bull Skate Park กับกรุงเทพมหานคร
สเกตพาร์กสาธารณะในร่มแนวสตรีต ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในศูนย์กีฬาเบญจกิติ กลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ ปลุกกระแสการเล่นกีฬาสเกตบอร์ด สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ ที่ชอบใช้ชีวิตแบบแอ็กทิฟ
2. ปลุกพลังธุรกิจเติบโต (Growing)
กลยุทธ์ถัดมาของกลุ่มธุรกิจ TCP คือ กลยุทธ์การขยายธุรกิจสู่ตลาดโลก ด้วยการสร้างความร่วมมือทางธุรกิจในหลากหลายภูมิภาค ผลักดันให้กลุ่มธุรกิจ TCP ก้าวสู่การเป็นผู้เล่นรายสำคัญในธุรกิจ F&B ในระดับนานาชาติ
โดยในปี 2567 เราได้เห็นมูฟเมนต์ที่น่าสนใจของกลุ่มธุรกิจ TCP ที่มีการรุกตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาดจีน ซึ่งถือเป็นตลาดที่เครื่องดื่มให้พลังงานสูง มีมูลค่ามากถึง 300,000 ล้านบาท 
ซึ่ง TCP ได้ทุ่มทุนกว่า 6,500 ล้านบาท เตรียมเดินเครื่อง เปิดโรงงานแห่งที่ 3 ที่กว่างซี ประเทศจีน ในช่วงต้นปี 2568 นี้
นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจ TCP ยังได้มีการโชว์ศักยภาพของแบรนด์ที่มีอยู่ในพอร์ตโฟลิโอ ด้วยการส่งแบรนด์หลักอย่าง สปอนเซอร์, เรดดี้ และวอริเออร์ ไปโชว์ความเจ๋งในงาน THAIFEX – ANUGA ASIA 2024
พร้อมทั้งมีการรุกตลาดใหม่ ขยายฐานการเติบโต เจาะกลุ่มลูกค้าซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ในต่างประเทศ ทั้งในแอฟริกา อินเดีย และตะวันออกกลาง อีกด้วย
3. ปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม (Caring)
นอกจากกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจที่เน้นสร้างการเติบโตด้วยการพัฒนานวัตกรรม เปิดตัวสินค้าใหม่ ๆ รวมถึงการสร้างการเติบโตในตลาดต่างประเทศแล้ว
กลุ่มธุรกิจ TCP ยังมีกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน โดยไฮไลต์ที่น่าสนใจ มีอยู่ 4 ด้านหลัก ๆ คือ
- Product Excellence 
เพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ทางเลือกสุขภาพ ทั้งการปรับปรุงสูตร และพัฒนาสูตรใหม่ รวมเป็นจำนวน 13 SKUs นับเป็น 72.92% ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด จากที่ตั้งเป้าไว้ 80% ภายในปี 2569
- Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน
บรรลุเป้าหมายการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดให้รีไซเคิลได้ 100% ภายในปี 2567 และปีนี้ยังได้นำร่องการใช้ขวด rPET ในผลิตภัณฑ์แมนซั่ม คอลลาเจน สูตรน้ำตาลน้อย ครั้งแรกของฟังก์ชันนัลดริงก์ไทย ช่วยลดการใช้พลาสติกใหม่ (Virgin Plastic PET)
- Water Sustainability การจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
ลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิตลงได้ 24% เมื่อเทียบกับปี 2562 และสามารถคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติและชุมชนภายใต้โครงการโอบอุ้มลุ่มน้ำไทย ได้มากกว่า 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร 
ปัจจุบันโครงการโอบอุ้มลุ่มน้ำไทย สามารถคืนน้ำกลับให้ชุมชนสะสมมากกว่า 17 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทำให้กลุ่มธุรกิจ TCP บรรลุเป้าหมาย Net Water Positive ก่อนเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2573
นอกจากนี้ ตลอดทั้งปี 2567 ที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจ TCP ยังมีไฮไลต์ทางด้านกิจกรรมเพื่อความยั่งยืนหลายไฮไลต์ด้วยกัน เช่น
- จัดงานประชุมด้านความยั่งยืน TCP Sustainability Forum 2024 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3
โดยในปีนี้ มาในแนวคิดการจัดงาน “Water Resilience in a Changing Climate” ผนึกพันธมิตรกระตุ้นภาคธุรกิจไทยให้ยืดหยุ่นและปรับตัวได้เร็ว รับความท้าทายด้านทรัพยากรน้ำเพื่ออนาคต
- โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย
เป็นบริษัทไทยเพียงบริษัทเดียว ที่ได้รับรางวัลระดับภูมิภาคเอเชีย คือ รางวัล Asia Responsible Enterprise Awards (AREA) สาขา Social Empowerment และรางวัลระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Steward Leadership 25 ประจำปี 2567
โดยเป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกลุ่มธุรกิจ TCP กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคสังคม และชุมชน
- จัดแคมเปญใหญ่ WEnergy for the World
แคมเปญนี้มีความพิเศษอยู่ตรงที่การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมในทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นในแคมเปญ ตั้งแต่หนังโฆษณาที่ไม่มีการออกกอง เพราะใช้ “รียูสฟุตเทจ” ที่มีอยู่แล้ว ช่วยลดการใช้ทรัพยากรและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
และยังมีงานวิ่ง TCP WEnergy re.run 2024 ที่มีการเก็บบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในงาน กลับไปรีไซเคิล โดยร่วมมือกับพันธมิตร อย่างเครือแก้วกรุงไทย และบริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด
ปิดท้ายด้วยการกระตุ้นให้ผู้บริโภค สนใจกับความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดกิจกรรมลุ้นโชค “ดื่มฟรีตลอดปี รีไซเคิลตลอดไป เพียง ดื่ม-แยก-ลุ้น” โดยร่วมมือกับบิ๊กซี ตั้งจุดรับบรรจุภัณฑ์ และเครือแก้วกรุงไทย เพื่อนำไปรีไซเคิลต่อไป
- รับโล่เกียรติคุณ องค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก ประจำปี 2567
โดยกลุ่มธุรกิจ TCP ได้รับรางวัลระดับยอดเยี่ยม จากการประเมินโดยคณะกรรมการเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (TCNN)
- รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทอาคารสำนักงานโรงงาน องค์กรต้นแบบจัดการขยะครบวงจร 
ในโครงการคัดแยกขยะครบวงจรระดับ 50 เขต ประจำปี 2567 ของกรุงเทพมหานคร
และในเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ร่วมพิธีเปิด “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ” ชุมชนบ้านแม่ขมิง อำเภอวังชิ้น และชุมชนบ้านห้วยขึม อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ 
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่โครงการโอบอุ้มลุ่มน้ำไทย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญในด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ให้กับบุคคลที่มีความสนใจในเรื่องนี้
และที่สำคัญคือ กลุ่มธุรกิจ TCP ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ภายใต้โครงการโอบอุ้มลุ่มน้ำไทย ร่วมกับพันธมิตร มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ (อพ.) และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) 
เพื่อสานต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระยะที่ 2 อีกด้วย
ทั้งหมดนี้ คือไฮไลต์ประจำปี 2567 ของกลุ่มธุรกิจ TCP ซึ่งใช้กลยุทธ์ที่เรียกได้ว่าเป็นการสร้างการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน พร้อมกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ตามเป้าหมายของกลุ่มธุรกิจ TCP ที่ไม่ได้ต้องการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง และขยายธุรกิจอย่างยั่งยืนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมุ่งมั่นผลักดันการสร้างโลกที่ดีขึ้น
ด้วยการเดินหน้าปลุกพลังเพื่อวันที่ดีกว่า สำหรับผู้บริโภค สังคม และโลกใบนี้อย่างต่อเนื่อง..
Tag:TCP
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.