เล่าโมเดลธุรกิจ MLM เครือข่ายพีระมิด ที่หลายคนฝัน อยากเป็นคนบนยอดสุด

เล่าโมเดลธุรกิจ MLM เครือข่ายพีระมิด ที่หลายคนฝัน อยากเป็นคนบนยอดสุด

9 ต.ค. 2024
หลายคนอาจจะมีภาพจำไม่ค่อยดีเกี่ยวกับ “ธุรกิจเครือข่าย” หรือ MLM (Multi-Level Marketing) ที่คนขายมักจะชวนเราไปเป็น Downline ให้ช่วยขายสินค้าให้ ด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม
เช่นชวนไปลงทุน, ชวนไปลงคอร์สเรียน และอีกสารพัด
แล้วมันไม่ดีจริงไหม ? MarketThink มาเล่าเรื่องของ ธุรกิจเครือข่าย MLM ให้ฟังแบบเข้าใจง่าย ๆ ..
-ว่ากันว่าธุรกิจเครือข่ายมีจุดเริ่มต้นมาจาก คุณ ริชาร์ด เดอโวส และ คุณเจย์ แวน แอนเดล สองนักธุรกิจชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้งแบรนด์ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ Amway เมื่อ 70 กว่าปีก่อน
แนวคิดของธุรกิจเครือข่ายก็คือการเอา “Margin” หรือ อัตรากำไรของสินค้า มาแบ่งออกเป็นหลาย ๆ ชั้น
ด้วยการให้คนขายของบริษัทสามารถรับ “ส่วนแบ่งจากยอดขาย” ของผู้ที่ตัวเองชวนเข้ามาเป็นคนขายอีกต่อหนึ่งได้ เรียกว่าการหา “Downline”
ยกตัวอย่างเช่น
นาย A ขายผลิตภัณฑ์เสริมความงาม แล้วชวนนาย B ให้รับสินค้าไปขายได้
จะเท่ากับว่า นาย B เป็น Downline ของนาย A
และนาย A ก็เป็น Upline ของนาย B
ซึ่งทุก ๆ ยอดที่นาย B ขายได้ นาย A จะได้ส่วนแบ่งด้วย
ในมุมของบริษัท ข้อดีของการขายแบบนี้คือ จะช่วยดึงคนให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรมากขึ้น
และเมื่อมีคนขายเยอะขึ้น ก็มีโอกาสที่แบรนด์จะขายสินค้าได้มากขึ้น
ในมุมของคนขายก็จะมีโอกาสหารายได้มากขึ้น แทนที่จะขายของอย่างเดียวก็สามารถหา Downline
มาช่วยขาย แล้วได้ส่วนแบ่งจากยอดขาย Downline เป็นรายได้เสริมอีกทาง โดยที่ไม่ต้องเหนื่อยขายเอง
โมเดลแบบนี้ ได้รับความนิยมไปทั่วโลก และมีหลายบริษัทที่ใช้โมเดลแบบนี้เพื่อขยายกิจการ
โดยเฉพาะกับสินค้าประเภท อาหารเสริม, ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ หรือสินค้าฟุ่มเฟือยอื่น ๆ ที่สามารถ Mark-Up หรือตั้งราคาขายได้สูงเมื่อเทียบกับต้นทุน
เพราะจะได้เอากำไรตรงนั้น มาแบ่งกันได้เยอะ ๆ
อย่างไรก็ตามโมเดลแบบนี้ ก็เป็นอีกโมเดลธุรกิจ ที่มักถูกเอาไปใช้แบบผิดจุดประสงค์ค่อนข้างบ่อย
เพราะรูปแบบการแบ่งกำไรจากสินค้าออกเป็นทอด ๆ จะหมายความว่าคนที่อยู่ด้านบน (Upline) ก็จะมีโอกาสสร้างรายได้ ได้มากกว่าคนที่อยู่ด้านล่าง (Downline) เสมอ
ทำให้คนขายในเครือข่ายมักจะเลือกหา Downline มากกว่าพยายามขายสินค้า ให้คนที่เป็นลูกค้าจริง ๆ
แถมหลาย ๆ องค์กรที่ใช้โมเดลนี้ มักจะมีการกำหนดส่วนแบ่ง หรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามจำนวน Downline
ในลักษณะลำดับขั้นแบบพีระมิด เช่น สิทธิพิเศษ, เงินโบนัส หรืออีกหลาย ๆ อย่าง
ซึ่งก็ยิ่งเป็นการดึงดูดให้คนในเครือข่ายพยายามชักชวนคนนอกให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายมากขึ้น
เพื่อให้ตัวเองได้ขยับขึ้นไปอยู่ชั้นบนของพีระมิด ไปเรื่อย ๆ แบบไม่รู้จบ
และก็บ่อยครั้งที่การพยายามชวนคนนอกเข้ามาร่วมเป็น Downline นั้นมาจากวิธีการที่หลายคนไม่ชอบ
เช่น การชวนไปลงทุน, การตื้อ, การชวนไปลงคอร์สเรียน และอีกสารพัดท่า
ทำให้หลายคนอาจจะมีภาพจำไม่ดีกับโมเดลเครือข่ายนั่นเอง
สุดท้ายนี้เอาจริง ๆ เนื้อแท้ของธุรกิจเครือข่ายมันก็ไม่ต่างจากโมเดลธุรกิจรูปแบบหนึ่ง ที่ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวเอง
และแม้ “ธุรกิจเครือข่าย” จะดูแย่ในสายตาของผู้บริโภคบางคนแค่ไหน
แต่ตราบใดที่บริษัทยังออกสินค้าและบริการ ที่มีผู้บริโภคยอมควักกระเป๋าจ่ายเงินออกมาได้
ก็ย่อมส่งผลให้มีคนเชื่อและพร้อมศรัทธาในการทำธุรกิจรูปแบบนี้อยู่เสมอ
และคนข้างล่าง ก็คงฝันว่าสักวันตัวเองจะเป็นคนบนยอดสุดของพีระมิด
ซึ่งไม่ผิดถ้าจะคิดว่า ตัวเองเป็นยอดพีระมิด แล้วมีคนมาต่อเป็น Downline ลงไปลึก ๆ อีกหลายสิบหลายร้อยชั้น
แต่ถ้าใครฝันว่าตัวเองจะเป็นคนที่สูงที่สุดในเครือนี้ให้ได้ อันนี้คงเป็นไปไม่ได้
เพราะคนบนยอดสุด มีได้แค่คนเดียว คือเจ้าของเครือข่ายธุรกิจนี้..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.