อธิบายศัพท์ใหม่ “สมองพ็อปคอร์น” สมาธิสั้นแบบคนสมัยนี้ โอกาสใหม่ ของนักการตลาด

อธิบายศัพท์ใหม่ “สมองพ็อปคอร์น” สมาธิสั้นแบบคนสมัยนี้ โอกาสใหม่ ของนักการตลาด

6 ก.ค. 2024
เคยไหม ? ตั้งใจจะทำอะไรสักอย่าง แต่ดันมีสิ่งอื่น ๆ มารบกวน จนเสียความตั้งใจที่จะทำสิ่งก่อนหน้า
ยกตัวอย่างเช่น ตั้งใจจะทำงานให้เสร็จในช่วงเช้า แต่พอเปิดคอมพิวเตอร์กลับมีสิ่งอื่นมารบกวนมากมาย
ไม่ว่าจะเป็น แจ้งเตือนให้อวยพรวันเกิดเพื่อนบน Facebook, แจ้งเตือน Flash Sale จากแอปพลิเคชันอีคอมเมิร์ซ หรือแม้กระทั่งแจ้งเตือนจากเพื่อนที่ตั้งวงคุยกันใน LINE
ทำให้เราสลับการใช้งานแอปพลิเคชันเหล่านี้ไปมา จนรู้ตัวอีกทีเวลาก็ผ่านไปหลายชั่วโมง โดยที่ลืมเรื่องทำงานไปเสียแล้ว..
หากใครที่เคยเป็นแบบนี้ แปลว่า อาจกำลังตกอยู่ในภาวะ “Popcorn Brain” หรือ สมองพ็อปคอร์น คำศัพท์ใหม่ที่เพิ่งถูกพูดถึงเมื่อไม่นานมานี้
แล้ว Popcorn Brain คืออะไร ? สมอง กับ พ็อปคอร์น เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมดังกล่าวอย่างไร ?
บทความนี้ MarketThink จะพาไปหาคำตอบ พร้อมถอดบทเรียนในมุมการตลาดกัน
Popcorn Brain ถูกพูดถึงเป็นครั้งแรกในปี 2011 หรือเมื่อ 13 ปีที่แล้ว โดยคุณ David Levy นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน
ซึ่งให้นิยาม Popcorn Brain ไว้ว่าหมายถึง “ภาวะสมาธิสั้น” หรือการที่เราไม่มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งต่าง ๆ ได้นาน โดยเกิดจากการที่สมองของเราถูกกระตุ้นด้วยเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์
อย่างไรก็ตาม ในอดีตคำว่า Popcorn Brain ไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก อาจเพราะเมื่อก่อนยังไม่เกิดภาวะ Popcorn Brain มากหรือหนักเท่าทุกวันนี้
หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ในปี 2011 เพิ่งเป็นปีที่ iPhone 4S เปิดตัวเป็นครั้งแรก จึงอาจจะยังไม่มีอะไรมากระตุ้นความสนใจของผู้คนได้มากพอ
แต่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา Popcorn Brain เริ่มเป็นที่พูดถึงในนิตยสารและเว็บไซต์ข่าวต่างประเทศมากขึ้น
เพราะในปัจจุบัน นอกจากจะมีสมาร์ตโฟนที่ถูกพัฒนาให้ทันสมัยมากขึ้นแล้ว
ยังมีแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่พร้อมจะกระตุ้นความสนใจ และขโมยเวลาในชีวิตประจำวัน จนทำให้เราตกอยู่ในภาวะ Popcorn Brain ได้ง่ายขึ้น
ซึ่งวิธีกระตุ้นความสนใจของเรา จากแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น
- การที่แพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันต่าง ๆ พร้อมใจกันยิง Notification ทั้งเสนอสินค้าใหม่ อัปเดตเรื่องราวใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นความสนใจจากเราตลอดเวลา
- แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่พัฒนาหน้าฟีดแบบ “Infinite Scrolls” หรือก็คือ หน้าฟีดที่เลื่อนเท่าไรก็ไม่เจอจุดสิ้นสุด แถมเมื่อรีเฟรชหน้าฟีด ก็มักจะเจอแต่คอนเทนต์ใหม่ ๆ ที่อัลกอริทึมคัดมาให้แบบถูกใจเรา
ซึ่งการที่เราถูกกระตุ้นด้วยแพลตฟอร์มต่าง ๆ เหล่านี้ ก็ทำให้เราติดอยู่ในวังวนแห่งการสลับการใช้งานแอปพลิเคชันเหล่านี้ไปมา ทำให้ความคิด ความสนใจของเรากระจัดกระจาย
จนท้ายที่สุด ทำให้เราไม่สามารถโฟกัสในสิ่งที่ต้องการจะทำได้
จุดนี้เองที่ ความคิด ความสนใจของเรากระจัดกระจาย ก็เปรียบเสมือนกับ เมล็ดข้าวโพด ที่กำลังถูกกระตุ้นด้วยความร้อน จนแตกออกทีละเม็ด ๆ กลายเป็นพ็อปคอร์น อย่างรวดเร็วและกระจัดกระจาย
จึงกลายเป็นที่มาของการเรียกภาวะนี้ว่า “Popcorn Brain” นั่นเอง..
ซึ่งถ้าถามว่า แพลตฟอร์มต่าง ๆ กระตุ้นความสนใจของเรา และทำให้เกิด Popcorn Brain หนักขึ้นแค่ไหน ?
คุณ Gloria Mark นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้ทำการวิจัยเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี
เพื่อเปรียบเทียบว่า เมื่อคนเราอยู่กับหน้าจอ ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน เราจะจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น ๆ นานแค่ไหน
ผลการวิจัยปรากฏว่า
ในปี 2004 พบว่า ผู้คนใช้เวลาอยู่กับหน้าจอ เฉลี่ย 2.5 นาที
แต่ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ผู้คนใช้เวลาอยู่กับหน้าจอ เฉลี่ยลดลงเหลือเพียง 47 วินาที
หมายความว่า ในปัจจุบัน ผู้คนใช้เวลาในการจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งสั้นลง
เช่น ไถฟีด Facebook ได้เพียงแป๊บเดียว ก็เปลี่ยนไปเลื่อนดูสตอรี IG จากนั้นเพียงแป๊บเดียวก็เปลี่ยนไปเล่นแอปพลิเคชันอื่นแทน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าหลายคนจะมีสมาธิจดจ่อสั้นลง
แต่โดยรวมแล้ว ข้อมูลจาก DataReportal ระบุว่า คนทั่วโลกก็ยังถูกสมาร์ตโฟน หรือคอมพิวเตอร์ ดึงดูดเวลาในชีวิตประจำวันไป เฉลี่ย 6 ชั่วโมง 35 นาทีต่อวัน อยู่ดี..
ทีนี้หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วทำไมถึงเป็น Popcorn Brain กันมากขึ้น ?
ต้องอธิบายก่อนว่า โดยปกติแล้วสมองของเราจะมีวงจรการให้รางวัลตัวเอง (Brain Reward Circuit)
หมายถึง การที่เรารู้สึกพึงพอใจหรือมีความสุข เมื่อได้รับสิ่งกระตุ้น จึงทำให้เกิดความต้องการในการได้รับสิ่งกระตุ้นเหล่านั้นซ้ำ ๆ
อย่างที่รู้กันว่า แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และแอปพลิเคชันต่าง ๆ ต่างก็มีอัลกอริทึมหรือมีวิธีที่จะเสิร์ฟคอนเทนต์ เสิร์ฟโปรโมชันให้ตรงใจเรามากขึ้น
ซึ่งเมื่อแพลตฟอร์มเหล่านี้ กระตุ้นเราด้วยการยิง Notification หรือการที่เราเข้าแอปพลิเคชันไปแล้วเจอคอนเทนต์ที่ถูกใจ ก็จะทำให้สมองหลั่งสารเอนดอร์ฟินและโดปามีน ซึ่งเป็นสารแห่งความสุข และรู้สึกดี
เมื่อเป็นแบบนี้ สมองของเราเลยเรียนรู้ว่า การได้รับ Notification ใหม่ ๆ หรือการใช้งานแพลตฟอร์มต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้มีความสุข
จึงกลายเป็นวงจรความเสพติด ที่ทำให้เราอยากทำสิ่งเหล่านี้ไปเรื่อย ๆ นั่นเอง..
อย่างไรก็ตาม หากใครที่เกิดภาวะ Popcorn Brain ในระยะยาว ก็อาจส่งผลเสียในหลาย ๆ ด้าน
นอกจากสมาธิที่ลดลง เช่น ประสิทธิภาพการทำงานลดลง มีความเครียดเพิ่มขึ้น มีความเหนื่อยล้า เพราะสมองต้องทำงานหนักในการสลับความสนใจไปมา
แต่ถ้าในเมื่อพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ ๆ กำลังเป็นแบบนี้
แล้วนักการตลาดจะคว้าโอกาสจากยุค Popcorn Brain ได้อย่างไร ?
- คอนเทนต์ย่อยง่าย เช่น วิดีโอสั้น Reels
หากแบรนด์คิดจะทำการตลาดด้วยคอนเทนต์ (Content Marketing) ก็ควรเลือกทำคอนเทนต์ที่ย่อยง่าย สั้น กระชับ เช่น วิดีโอสั้นอย่าง Reels หรือ Shorts ที่ความยาวไม่เกิน 60-90 วินาที
เพื่อตอบสนองความสนใจของลูกค้าที่มีสมาธิจดจ่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งสั้นลง
- การตลาดที่สร้างความสุขให้ลูกค้าได้แบบเร่งด่วน (Instant Gratification)
ยกตัวอย่าง การยิง Notification หรือยิง LINE Ads เพื่อเสนอโปรโมชัน เช่น ส่วนลด, Flash Sale ที่กำลังจัดอยู่ เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าสนใจภายในไม่กี่วินาที
- การเพิ่มช่องทางการสื่อสาร และช่องทางการขายแบบ Multi-Channel
เพราะลูกค้าในยุค Popcorn Brain ไม่ได้ใช้งานแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ แค่ช่องทางเดียว แต่จะมีพฤติกรรมสลับการใช้งานแอปพลิเคชันไปมา
แบรนด์จึงควรมีช่องทางการสื่อสาร หรือช่องทางการขายที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มโอกาสและให้เข้าถึงลูกค้าได้ในทุก ๆ ช่องทาง
ทั้งหมดนี้คือ Popcorn Brain ภาวะสมาธิสั้น หรือการที่เราไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้นาน ๆ ในยุคดิจิทัล
โดยพฤติกรรมที่พบเห็นได้บ่อย ๆ เช่น การสลับการใช้งานแอปพลิเคชันต่าง ๆ ไปมา, การหยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมาดูทุก ๆ ไม่กี่นาที เพื่อส่องแจ้งเตือน หรือไถดูอะไรใหม่ ๆ ในหน้าฟีด
ซึ่ง Popcorn Brain กำลังเป็นภาวะที่หลาย ๆ คนเป็นโดยไม่รู้ตัว..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.