อธิบายเทคโนโลยี RFID ขดลวด ใต้ป้ายราคา Uniqlo เอาไว้ช่วยคิดเงิน คุมสต็อกสินค้า

อธิบายเทคโนโลยี RFID ขดลวด ใต้ป้ายราคา Uniqlo เอาไว้ช่วยคิดเงิน คุมสต็อกสินค้า

22 เม.ย. 2024
ใครซื้อเสื้อผ้า Uniqlo บ่อย ๆ จะพบว่า ตอนนี้มีระบบชำระเงินแบบใหม่
โดยเปลี่ยนจากเคาน์เตอร์ชำระเงินกับพนักงาน เป็นเคาน์เตอร์ Self-Checkout ที่ให้ลูกค้าชำระเงินด้วยตัวเอง
เชื่อว่าใครที่ได้ลองใช้ คงจะแปลกใจไม่น้อย เพราะเป็นระบบ Self-Checkout ที่ใช้งานง่าย
เพียงวางเสื้อผ้าที่ซื้อบนพื้นที่ที่กำหนด ระบบก็จะคำนวณราคาทั้งหมดให้เอง โดยไม่ต้องสแกนบาร์โคดทีละตัวให้เสียเวลา
รู้หรือไม่ว่า เบื้องหลังระบบ Self-Checkout ของ Uniqlo ที่ทำให้ชำระเงินได้แบบง่าย ๆ คือ “ขดลวดเล็ก ๆ” ที่ซ่อนตัวอยู่ในป้ายราคา หรือเป็นเทคโนโลยีที่มีชื่อเรียกว่า “RFID”
แล้วเทคโนโลยี RFID คืออะไร ? เข้ามาช่วยให้ระบบชำระเงินของ Uniqlo ดีขึ้นได้อย่างไร ?
อธิบายง่าย ๆ RFID Technology ย่อมาจาก Radio-Frequency Identification
เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยในการเก็บหรือติดตามข้อมูลผ่านคลื่นวิทยุ โดยจะประกอบไปด้วย
- RFID Tag มีลักษณะเป็นชิปหรือขดลวดขนาดเล็ก ที่สามารถเข้าไปฝังหรือซ่อนอยู่ในวัสดุต่าง ๆ ได้
โดยภายในตัวขดลวด จะมีเสาอากาศและวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อระบุข้อมูลของวัตถุชิ้นนั้น ๆ โดยเฉพาะ เช่น หมายเลขประจำตัว, วันที่ผลิต
- RFID Reader เปรียบเสมือนเครื่องอ่านข้อมูล โดยจะส่งคลื่นวิทยุออกมา และเมื่อ RFID Tag อยู่ในระยะก็จะส่งสัญญาณข้อมูลกลับมาที่เครื่องอ่าน ทำให้ได้ข้อมูลต่าง ๆ ที่อยู่ใน RFID Tag
ในกรณีของ Uniqlo
RFID Tag คือ ขดลวดที่ซ่อนอยู่ในป้ายราคา
ส่วน RFID Reader คือ เครื่อง Self-Checkout นั่นเอง
อย่างที่กล่าวไปว่า RFID Tag จะระบุข้อมูลของวัตถุชิ้นนั้น ๆ โดยเฉพาะ
หมายความว่า เสื้อ Uniqlo 1 ตัว, กางเกง Uniqlo 1 ตัว, หมวก Uniqlo 1 ใบ ต่างก็ต้องมี RFID Tag ที่แตกต่างกัน
โดย McKinsey & Company บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลก เปิดเผยว่า ในอดีต RFID Tag มีราคาอยู่ที่ 0.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อชิ้น หรือราว 22 บาทต่อชิ้น
แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีในการผลิตที่พัฒนาดีขึ้น ง่ายขึ้น
ทำให้ RFID Tag มีราคาลดลงเหลือ 0.04 ดอลลาร์สหรัฐต่อชิ้น หรือเพียง 1.5 บาทต่อชิ้นเท่านั้น
แม้ตัวเลข 1.5 บาทต่อชิ้น อาจดูเหมือนน้อย
แต่ถ้าลองเทียบกับสินค้า 1 แบบ เช่น เสื้อยืด AIRism สีขาว ที่ส่วนใหญ่ Uniqlo จะมีการสั่งผลิตขั้นต่ำ 1 ล้านตัว
หมายความว่า ในการออกสินค้าอย่าง เสื้อยืด AIRism สีขาว
Uniqlo ต้องเสียค่า RFID Tag ถึง 1,500,000 บาท เลยทีเดียว..
ถ้าถามว่า การที่ Uniqlo ยอมจ่ายเงินค่า RFID Tag ในราคา 1.5 บาทต่อชิ้น คุ้มค่าไหม ?
เรื่องนี้ก็ต้องอธิบายไปพร้อม ๆ กับการที่ Uniqlo นำ RFID Tag ไปใช้ในแต่ละส่วน
1. ระบบ Self-Checkout
Fast Retailing บริษัทแม่ของ Uniqlo เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่เริ่มมีการนำ RFID Tag มาใช้ให้ลูกค้าชำระเงินได้ด้วยตัวเอง พบว่า ช่วยลูกค้าประหยัดเวลาลงกว่า 50% ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาต่อแถวนาน ๆ
อีกทั้ง Self-Checkout ยังไม่ยุ่งยาก เมื่อลูกค้าทดลองใช้งานแล้วพบว่า ใช้งานง่าย ก็ส่งผลให้ลูกค้าประทับใจในแบรนด์มากขึ้นอีกด้วย
ที่สำคัญ ในด้านการทำธุรกิจของ Uniqlo ตัว RFID Tag ยังเข้ามาช่วยให้บริษัทประหยัดต้นทุน
ยกตัวอย่างเช่น ค่าจ้างพนักงาน ที่ในแต่ละสาขา สามารถจ้างพนักงานน้อยลงได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีพนักงานประจำเคาน์เตอร์ชำระเงินหลาย ๆ เคาน์เตอร์เหมือนเมื่อก่อน
2. ช่วยบริหารจัดการสต็อกสินค้า (Stock Management)
ต้องบอกว่า ก่อนที่ Uniqlo จะนำ RFID Tag มาทดลองใช้กับระบบ Self-Checkout ในปี 2019
ก่อนหน้านั้น Uniqlo ได้นำมาใช้กับระบบจัดการสต็อกสินค้ามาตั้งแต่ปี 2013 หรือกว่า 11 ปีมาแล้ว
โดย RFID Tag เปรียบเสมือนตัวเก็บ Data สินค้า ที่ทำให้รู้ว่า
- สินค้าแต่ละแบบ ผลิตมาเท่าไร
- สินค้าแต่ละแบบ มีจำนวนคงเหลือเท่าไร
- สินค้าไหนขายดี หรือกำลังเป็นเทรนด์
เมื่อได้ข้อมูลในส่วนนี้ ก็จะทำให้ Uniqlo วางแผนบริหารจัดการสต็อกได้แบบเรียลไทม์ และถูกต้องแม่นยำว่า สินค้าแบบไหนควรเพิ่มการผลิต และสินค้าแบบไหนควรลดการผลิต เพื่อแก้ปัญหา “สินค้าล้นสต็อก” ซึ่งนำมาสู่การขาดทุนอีกด้วย
จากทั้งหมดนี้ ถ้าให้ตอบว่า RFID Tag เป็นเทคโนโลยีที่คุ้มค่าแก่การลงทุนไหม
ในมุมของ Uniqlo ก็ต้องบอกว่า “คุ้มค่า”
เพราะการที่ Uniqlo ยอมจ่ายเงินเพียง 1.5 บาทต่อชิ้น แต่ได้กลับคืนมามากกว่า ไม่ว่าจะเป็น การช่วยประหยัดต้นทุน รวมถึงวางแผนบริหารจัดการสต็อกได้แม่นยำขึ้น
แต่ก็ไม่ใช่ว่า หากธุรกิจอื่น ๆ นำ RFID Tag มาใช้งาน แล้วจะคุ้มค่าด้วยเหมือนกัน
ยกตัวอย่างเช่น ร้านซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ได้กำไรจากการขายสินค้าหนึ่งชิ้น เพียงไม่ถึงหลักสิบบาท ก็อาจไม่คุ้มค่ากับการจ่ายเงินเพื่อนำ RFID Tag มาใช้งาน..
ปิดท้ายด้วยเรื่องที่น่าสนใจ
รู้หรือไม่ ? เทคโนโลยี RFID อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด โดย RFID Tag ฝังอยู่ในบัตรหรือป้ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น
- ตั๋ว MRT ชนิดเที่ยวเดียว ที่มีลักษณะเป็นเหรียญกลม ๆ สีดำ ไว้ใช้แตะบนเครื่องอ่าน ที่หน้าทางเข้า-ออกของแต่ละสถานี
- สติกเกอร์ M-Flow ที่ต้องติดไว้บนกระจกรถ เพื่อผ่านด่านเก็บเงินอัจฉริยะบนมอเตอร์เวย์ โดยไม่ต้องผ่านไม้กั้น และไม่ต้องต่อแถวชำระเงิน
- บัตรผ่านเข้า-ออกโครงการ หรือคอนโดมิเนียมต่าง ๆ ก็เช่นกัน
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.