กลุ่มอลิอันซ์ เปิดโผ 5 ความเสี่ยงสำคัญของธุรกิจไทย พร้อมเผย AI ความเสี่ยงมาแรงที่ต้องจับตามอง

กลุ่มอลิอันซ์ เปิดโผ 5 ความเสี่ยงสำคัญของธุรกิจไทย พร้อมเผย AI ความเสี่ยงมาแรงที่ต้องจับตามอง

13 ก.พ. 2024
กลุ่มอลิอันซ์ เปิดเผยรายงาน Allianz Risk Barometer ซึ่งวิเคราะห์จากข้อมูลเชิงลึกของนักบริหารความเสี่ยงกว่า 3,000 คน ต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทในประเทศไทยในปี 2567 ชี้ให้เห็นว่า การเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก และความเสี่ยงด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นความเสี่ยง 2 อันดับแรกที่มีคะแนนด้านความเสี่ยงใกล้เคียงกัน ตามมาด้วยภัยทางไซเบอร์ (อันดับ 3) เช่น มัลแวร์เรียกค่าไถ่ การละเมิดข้อมูลและการหยุดชะงักด้านไอที ภัยไฟไหม้และการระเบิด (อันดับ 4) และเทคโนโลยีใหม่ (อันดับ 5) เช่น ความเสี่ยงจากผลกระทบของ AI และรถยนตร์ไฟฟ้า
ลาร์ส ไฮบุทสกี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงกำลังกลายเป็นเรื่องปกติใหม่ บริษัทต่างๆจำเป็นต้องใหความสำคัญกับแผนการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทานและความต่อเนื่องทางธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจต่างๆ สามารถรับมือกับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวได้”
ประเทศไทยยังคงได้รับผลกระทบจากภัยทางธรรมชาติ น้ำท่วมในภาคใต้คร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนมากและส่งผลกระทบต่อครัวเรือนนับหมื่น นับตั้งแต่น้ำท่วมซึ่งเริ่มขึ้นธันวาคมปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนกว่า 70,000 หลังคาเรือนในจังหวัดสตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส บริการรถไฟบางแห่งในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งติดกับมาเลเซียกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งหลังจากปิดไปหลายวัน เนื่องจากรางรถไฟทรุดตัว ช่วงฤดูฝนในประเทศไทยมักเกิดน้ำท่วมทุกวันเป็นเวลาหลายเดือน แต่นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดโดยฝีมือมนุษย์อาจทำให้ฝนตกหนักมากขึ้น
การผลิตข้าวนอกฤดูกาลในเอเชียมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากปัญหาความแห้งแล้ง ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่ลดลง และผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะทำให้ผลผลิตลดลงในช่วงต้นปี 2567 ทำให้อุปทานไม่เพียงพอ ส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้น จากการวิเคราะห์ของผู้ค้าข้าวและนักวิเคราะห์ ประเทศไทยซึ่งผลิตข้าวมากเป็นอันดับ 2 ของโลก อาจจะผลิตข้าวนอกฤดูลดลงในไตรมาสแรก และคาดว่าจะมีการส่งออกข้าวน้อยลง
นอกจากนั้น ความเสี่ยงในเรื่องเทคโนโลยีใหม่ โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ยังเป็นเรื่องที่ธุรกิจต้องสนใจและคำนึงถึง โดย ลาร์ส แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ว่า “การเร่งพัฒนา AI ในปี 2566 ช่วยให้เกิดโอกาสอย่างมากสำหรับธุรกิจต่างๆ และสังคมโดยทั่วไป ในขณะเดียวกัน ยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลที่จะตามมาของเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ ซึ่งปัญหาหลายอย่างที่เรากังวลว่าจะเกิด ได้เกิดขึ้นจริงแล้วในอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องทำงานร่วมกันเพื่อลดความเสี่ยงเหล่านี้ ศักยภาพของ AI ในการพลิกโฉมธุรกิจจะพัฒนาขึ้นไปอีก โดยจะสามารถเปลี่ยนแปลงทุกอุตสาหกรรมและทุกด้านของชีวิตตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ในฐานะเทคโนโลยีอเนกประสงค์”
เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ผลกระทบด้านความเสี่ยงจาก AI ถือเป็นความเสี่ยงอันดับที่ 5 ของประเทศไทย สื่ออย่างบางกอกโพสต์รายงานว่า 72% ของผู้สำเร็จการศึกษาชาวไทยอาจตกงานเพราะ AI ภายในปี 2573 โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานธุรการและการจัดการสำนักงานทั่วไปที่ขาดทักษะเฉพาะด้าน นอกจากแผนที่จะมีการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบด้าน AI แล้ว แนวทางสำคัญของยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการด้าน AI แห่งชาติของประเทศไทยที่เปิดตัวในปี 2565 ได้แก่ การปรับปรุงความสามารถด้านการศึกษาและกำลังคนที่เกี่ยวข้องกับ AI รายงานความคืบหน้าในเดือนสิงหาคม 2566 ให้ข้อมูลไว้ว่า รัฐบาลได้อนุมัติแผนการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะด้าน AI แล้วเพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลายของภาคอุตสาหกรรม
------------------------------
เกี่ยวกับ Allianz Risk Barometer
Allianz Risk Barometer เป็นรายงานการจัดอันดับความเสี่ยงทางธุรกิจประจำปีที่รวบรวมโดย Allianz Commercial บริษัทประกันภัยของกลุ่มอลิอันซ์ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ของอลิอันซ์ โดยรวบรวมความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารความเสี่ยง 3,069 คนใน 92 ประเทศและเขตการปกครอง ซึ่งรวมถึงซีอีโอ ผู้จัดการความเสี่ยง เอเย่นต์ และผู้เชี่ยวชาญด้านประกันภัย Allianz Risk Barometer ได้รับการเผยแพร่เป็นครั้งที่ 13
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.