คุยกับผู้บริหาร RÊVERSHARGER สถานีชาร์จไฟฟ้า ต้องเตรียมตัวอย่างไร เมื่อปีหน้า ไทยจะมีรถ EV วิ่ง 100,000 คัน

คุยกับผู้บริหาร RÊVERSHARGER สถานีชาร์จไฟฟ้า ต้องเตรียมตัวอย่างไร เมื่อปีหน้า ไทยจะมีรถ EV วิ่ง 100,000 คัน

20 ธ.ค. 2023
เมื่อช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ หลายคนน่าจะได้เห็น ตัวเลขยอดจองรถยนต์ไฟฟ้า ภายในงาน Motor Expo ที่มาแรง
และบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนหลายราย ก้าวขึ้นมาอยู่ในกลุ่มบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ที่มียอดจองสูงสุด 10 อันดับแรก ได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น
อันดับ 3 BYD ยอดจอง 6,119 คัน
อันดับ 4 GAC AION ยอดจอง 4,568 คัน
อันดับ 6 CHANGAN ยอดจอง 3,549 คัน
ที่น่าสนใจก็คือ ยอดจองรถยนต์ไฟฟ้าภายในงาน Motor Expo คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 40% ของยอดจองรถยนต์ทั้งหมด ภายในงาน
เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงกระแสการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ที่เรียกได้ว่า “จุดติด” และในช่วงต้นปีหน้า จำนวนรถยนต์ไฟฟ้า ที่สะสมอยู่บนท้องถนน จะมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
สิ่งที่น่าตั้งคำถามคือ “สถานีชาร์จ” ของรถยนต์ไฟฟ้าที่มีอยู่ในประเทศไทย จะเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่
ในบทความนี้ MarketThink ได้คุยกับ คุณพีระภัทร ศิริจันทโรภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด ถึงเรื่องภาพรวมความพร้อม ของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
คุณพีระภัทร เริ่มต้นด้วยการพูดถึงภาพรวมของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ที่ในขณะนี้มีแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน เข้ามาทำตลาดเพิ่มขึ้น ทั้ง CHANGAN และ GAC AION
ทำให้ในขณะนี้ผู้บริโภค ที่ต้องการเลือกซื้อรถยนต์สักคัน มีตัวเลือกและหันมาให้ความสนใจรถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น จนทำให้ความสนใจในรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปแบบเดิมลดลง
แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ของผู้บริโภคชาวไทย
โดยในช่วงปี 2567 ที่จะถึงนี้ คาดการณ์ว่า จะมีรถยนต์ไฟฟ้า (นับรวมรถยนต์ Plug-In Hybrid ซึ่งต้องเสียบปลั๊กชาร์จไฟฟ้าเช่นกัน) อยู่ราว ๆ 100,000 คัน ทั่วประเทศ
และมีความต้องการสถานีชาร์จไฟฟ้าราว ๆ 1,500-2,000 หัวชาร์จ
โดยจำนวน “หัวชาร์จ” ข้างต้นนี้ คำนวณมาจากการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน ของคนทั่วไป ที่ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า 80-85% มักมีการติดตั้งเครื่องชาร์จไฟฟ้าแบบ AC ไว้ที่บ้านของตัวเอง
แต่หากนับรวมการขับรถยนต์ไฟฟ้าไปต่างจังหวัด ก็จะทำให้ความต้องการสถานีชาร์จไฟฟ้าเพิ่มขึ้น กลายเป็น 4,500-5,000 หัวชาร์จในทันที
ซึ่งในจุดนี้ คุณพีระภัทร มองว่า ยังมีช่องว่างให้ RÊVERSHARGER เข้าไปชิงส่วนแบ่งในสถานีชาร์จไฟฟ้า ด้วยการขยายสถานีชาร์จให้มีจำนวน 2,000 หัวชาร์จ ภายในช่วงกลางปี 2567 จากเดิมที่มีอยู่ 900 หัวชาร์จ ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ คุณพีระภัทร ยังได้เล่าถึง Pain Point สำคัญ ที่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าต้องเจอ จากการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ที่สถานีชาร์จต่าง ๆ ว่ามีอยู่ด้วยกัน 3 เรื่องหลัก ๆ ได้แก่
1. แอปพลิเคชันที่ต้องใช้สำหรับการชาร์จไฟฟ้า ไม่เสถียร 
ซึ่งเป็น Pain Point ที่สำคัญที่สุด เพราะหากแอปพลิเคชันไม่เสถียร จนชาร์จไฟฟ้าไม่ได้ ก็จะทำให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ไม่สามารถเดินทางต่อได้เลย
2. ระบบการจอง Slot เวลาเพื่อชาร์จไฟฟ้า
ที่มักสร้างความน่ารำคาญ ให้กับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นอย่างมาก
โดยอินไซต์ที่คุณพีระภัทรพบ ก็คือ โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ใช้จะมีการจองสถานีชาร์จไฟฟ้าล่วงหน้าเฉลี่ยเพียง 30 วินาที ก่อนที่จะเริ่มต้นทำการชาร์จ
นั่นแสดงให้เห็นว่า ความจริงแล้ว ระบบการจอง Slot เวลาเพื่อชาร์จไฟฟ้า อาจไม่ใช่เรื่องจำเป็นสำหรับผู้ใช้งานส่วนใหญ่
3. การชาร์จโดยต้องใช้แอปพลิเคชัน เพื่อเชื่อมต่อระบบ ระหว่างสถานีชาร์จ กับตัวรถ และข้อมูลของเจ้าของ
อย่างไรก็ตาม ในมุมของ RÊVERSHARGER นั้น มีจุดเด่นที่ช่วยแก้ปัญหา Pain Point ทั้ง 3 เรื่องนี้ได้
โดยเฉพาะในด้านความเสถียรของแอปพลิเคชัน ที่คุณพีระภัทร ยืนยันว่าแอปพลิเคชันของ RÊVERSHARGER นั้น มีค่าความเสถียรต่ำสุดที่ 96% ซึ่งสูงกว่าค่าความเสถียรต่ำสุดของตลาด
นอกจากนี้ RÊVERSHARGER ยังมีการวางแผน ที่จะนำระบบการจอง Slot เวลาเพื่อชาร์จไฟฟ้าออก เพื่อให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าทุกคน สามารถนำรถเข้ามาชาร์จไฟฟ้าได้ทันที โดยไม่ต้องมีการจองคิวใด ๆ
รวมถึงจะมีการเปิดตัวฟีเชอร์ Plug & Charge หรือการชาร์จไฟฟ้า โดยไม่ต้องใช้แอปพลิเคชัน
แต่สถานีชาร์จ และรถแต่ละคัน จะมีการคุยกับระบบหลังบ้านโดยอัตโนมัติ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเสียบชาร์จไฟฟ้า ได้ในขั้นตอนเดียว
ซึ่งทั้งการชาร์จไฟฟ้าโดยไม่ต้องจอง Slot เวลาล่วงหน้า และฟีเชอร์ Plug & Charge นี้ คาดว่าจะสามารถใช้งานได้ภายในช่วงปีหน้า หลังจากที่ RÊVERSHARGER มีการขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ครบ 2,000 หัวชาร์จ
ส่วนในด้าน “โมเดลธุรกิจ” ของ RÊVERSHARGER นั้น คุณพีระภัทร ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันรายได้ของ RÊVERSHARGER มาจากการขายเครื่องชาร์จ ทั้งสำหรับการใช้งานที่บ้าน และตามสถานที่ต่าง ๆ อย่างคอนโดมิเนียม และห้างสรรพสินค้า ในสัดส่วน 90%
แต่ก็มีการพบแนวโน้มเช่นกันว่า ในอนาคตผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ติดตั้งเครื่องชาร์จ AC ที่บ้าน จะมีจำนวนลดลง เพราะเทคโนโลยีการชาร์จไฟฟ้า ที่สถานีชาร์จนอกบ้าน ดีขึ้นเรื่อย ๆ
จุดนี้เอง ทำให้คุณพีระภัทร เริ่มเปลี่ยนโฟกัสของ RÊVERSHARGER จากการขายเครื่องชาร์จไฟฟ้าแบบขายขาด ไปให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจ “ขายพลังงาน” ให้มากขึ้น
ไม่ใช่เฉพาะการขายพลังงานไฟฟ้า ให้กับรถยนต์ไฟฟ้าที่คนทั่วไปใช้กันผ่านสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ RÊVERSHARGER กำลังจะทยอยขยายให้ครบ 2,000 หัวชาร์จ ในช่วงกลางปีหน้า
แต่ยังรวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ด้วย ไม่ว่าจะเป็น รถบัส รถตู้ รถขนส่งสินค้า หรือรถโดยสารประจำทาง
เพราะรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์เหล่านี้ มีความต้องการที่แน่นอน (Fix Demand) ทั้งในด้านเส้นทาง และระยะทาง รวมถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีอยู่ตลอดเวลา
ขณะที่ในอนาคต ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ จะมีราคาถูกลงเรื่อย ๆ
ทำให้คุณพีระภัทร คาดการณ์ว่า รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ จะเติบโตตามรอยรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล ที่กำลังเติบโตอยู่ในทุกวันนี้
และทำให้ในอนาคต RÊVERSHARGER จะมีรายได้จากการขายเครื่องชาร์จไฟฟ้า และการขายพลังงาน ในสัดส่วนเท่า ๆ กัน ภายในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้านี้
ปิดท้ายด้วยความคิดเห็นที่น่าสนใจ 
คุณพีระภัทร บอกว่า ใครที่กำลังอยากซื้อรถยนต์ไฟฟ้าสักคันหนึ่ง ให้ซื้อได้เลย
เพราะในขณะนี้ รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาใกล้เคียงกับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปแล้ว แถมยังมีลูกเล่น และเทคโนโลยีที่ดีกว่า
ส่วนเรื่องสถานีชาร์จไฟฟ้า และข้อมูลต่าง ๆ ก็ไม่ต้องกังวล เพราะมีข้อมูลต่าง ๆ รออยู่ในโลกโซเชียล เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.