คุยกับผู้บริหาร SNNP ผู้ผลิตเบนโตะ-เจเล่ ถึงวิธีการปั้นแบรนด์ให้สำเร็จ สูตรลับคนทำธุรกิจ จนกำไรโต 5 เท่า ใน 2 ปี

คุยกับผู้บริหาร SNNP ผู้ผลิตเบนโตะ-เจเล่ ถึงวิธีการปั้นแบรนด์ให้สำเร็จ สูตรลับคนทำธุรกิจ จนกำไรโต 5 เท่า ใน 2 ปี

12 ธ.ค. 2023
หลายคนคงรู้แล้วว่า ขนมเบนโตะ, โลตัส ขาไก่, เวเฟอร์ ช๊อคกี้, เครื่องดื่มเจเล่ และเมจิกฟาร์ม
มีเจ้าของแบรนด์เดียวกัน คือ บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SNNP
บริษัทผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยวรายใหญ่ ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ในมุมธุรกิจนั้น ที่ผ่านมา SNNP ถือว่าทำผลงานได้อย่างน่าสนใจ
เพราะผลคะแนนข้อสอบของโลกธุรกิจ ซึ่งก็คือ ตัวเลข “กำไร” นั้นเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ปี 2563 มีรายได้ 4,436 ล้านบาท กำไร 94 ล้านบาท
ปี 2564 มีรายได้ 4,391 ล้านบาท กำไร 437 ล้านบาท
ปี 2565 มีรายได้ 5,604 ล้านบาท กำไร 516 ล้านบาท
เห็นได้ว่าบริษัท มีกำไรเติบโต 449% หรือเพิ่มเป็น 5 เท่า ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี
แล้วเบื้องหลังความสำเร็จของ SNNP คืออะไร
บริษัทมีกลยุทธ์หรือเคล็ดลับในการดำเนินธุรกิจอย่างไร ?
วันนี้ MarketThink ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ แบบเจาะลึก กับคุณวิโรจน์ วชิรเดชกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานธุรกิจในประเทศ บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SNNP
ถึงประเด็นต่าง ๆ เช่น ความเข้มข้นของการแข่งขันในตลาดขนมขบเคี้ยว,
ความสำเร็จในการทำตลาดของ SNNP, เทคนิคการทำธุรกิจ, แนวทางการพัฒนาสินค้าของบริษัท,
ทิศทางการบริหาร และกลยุทธ์การตลาดในปี 2567
ที่คนทำธุรกิจ นักการตลาด และคนสร้างแบรนด์ สามารถเรียนรู้ และนำมาถอดบทเรียน เพื่อเอามาปรับใช้ต่อไปได้..
—-----------------------------------
ภาพรวมตลาดขนมขบเคี้ยว และเทรนด์พฤติกรรมของผู้บริโภค
—-----------------------------------
ปีนี้ ตลาดขนมขบเคี้ยวในไทย มีมูลค่าประมาณ 43,000 ล้านบาท โดยภาพรวมเติบโตราว 3-5%
แต่หากแยกย่อยเข้าไปตามแต่ละประเภทของขนม ก็จะมีทั้งตลาดที่เติบโต และหดตัว ในเวลาเดียวกัน
เช่น ปีนี้ ตลาดปลาหมึกปรุงรสเติบโต แต่ขนมมันฝรั่งทอดกรอบหดตัว
เพราะว่าแต่ละปี ขนมแต่ละประเภท จะมีวัฏจักรของตัวเอง ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย เช่น พฤติกรรมของผู้บริโภค, กิจกรรมทางการตลาด การโฆษณา, การกระจายสินค้า และการออกรสชาติใหม่ ๆ
นอกจากนี้ คุณวิโรจน์ ยังได้เผยอินไซต์อีกว่า หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้แบรนด์ขนมบางแบรนด์ ไม่ออกรสชาติใหม่ ๆ มาตีตลาด ส่วนหนึ่งเพราะเรื่องค่า GP ที่แบรนด์ขนม โดนเรียกเก็บจากร้านโมเดิร์นเทรด
เนื่องจากรสชาติที่ออกใหม่ จะโดนค่า GP สูงขึ้นเรื่อย ๆ
สมมติเช่น เบนโตะ รสชาติดั้งเดิม เคยเสียค่า GP กับร้านค้าที่อัตรา 30%
แต่ถ้าเบนโตะ ออกรสชาติใหม่มาวางขาย ก็ต้องเสียค่า GP เพิ่มอีก 2% เป็นต้น
ดังนั้น บางแบรนด์ จึงไม่ออกรสชาติใหม่ เพราะขายรสชาติเดิม ก็มีกำไรแล้ว และมีอัตรากำไร (Margin) ที่แฮปปี แถมไม่ต้องเสี่ยงลุ้นว่ารสชาติใหม่ จะขายดีไหม
ส่วนเรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภคนั้น
คุณวิโรจน์ มองว่า ด้วยภาวะเศรษฐกิจ ที่ไม่แน่นอนแบบนี้
ทำให้กำลังซื้อของคนอ่อนแอลง และผู้บริโภคคิดมากขึ้น เวลาจะซื้ออะไรสักอย่าง
เช่น เมื่อก่อนเด็ก ๆ ได้เงินค่าขนมวันละ 50 บาท ไปโรงเรียน ตอนนี้ก็อาจถูกลดลงมาเหลือ 30 บาท
เมื่อเด็ก ๆ เหลือเงินซื้อขนมน้อยลง สิ่งแรกที่พวกเขาจะเลือกซื้อคือ ขนมที่ชอบก่อน หรือเป็นแบรนด์ที่รู้จัก รสชาติที่พวกเขาคุ้นเคย
ซึ่งเป้าหมายของ SNNP คือ แบรนด์ขนมทั้งเบนโตะ, โลตัส
ต้องเป็น Top of Mind ของเด็ก ๆ และต้องอยู่ในเม็ดเงิน 30 บาทนี้ให้ได้
ดังนั้นสิ่งที่ทาง SNNP ทำคือ ไม่ทิ้งตลาด “ขนม 5 บาท”
เหมือนอย่างที่แบรนด์ขนมอื่น ๆ ทำ ด้วยการปรับขึ้นราคาเป็น 6 บาท หรือ 7 บาท จนต้องสูญเสียตลาดขนมไซซ์ 5 บาทไป
อีกทั้งยังทำกิจกรรมทางการตลาด กับไซซ์ 5 บาท อยู่เรื่อยมา รวมถึงแคมเปญซื้อ 2 แถม 1
เพื่อรักษาฐานลูกค้าเอาไว้ และเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด
ซึ่งที่ทำอย่างนี้ได้ เพราะว่า SNNP มีความสามารถในการควบคุมต้นทุนการผลิตของสินค้าได้ดี นั่นเอง
—-----------------------------------
ความสำเร็จของ SNNP ในช่วงปีที่ผ่านมา
—-----------------------------------
คุณวิโรจน์ บอกว่า ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา ปีนี้เป็นปีที่ SNNP ทำยอดขายผลประกอบการ New High ถึงแม้เศรษฐกิจจะไม่ค่อยดี โดยทั้งเบนโตะ, โลตัส และเจเล่ ทำลายสถิติด้านยอดขายหมด
ปัจจุบัน เบนโตะ ครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว ประเภทปลาหมึกอบ ปลาหมึกเส้น และปลาเส้น ที่ 72%
ในขณะที่ เจเล่ ครองส่วนแบ่งตลาดเจลลีพร้อมดื่มและเจลลีคาราจีแนน อันดับ 1 ที่ 77%
ส่วนขนมโลตัส แบรนด์ก็มีศักยภาพในการเติบโตสูงมาก ซึ่งปีนี้ยอดขายโตระดับเลข 2 หลัก
สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรก ปี 2566
บริษัทมีรายได้ 4,406 ล้านบาท กำไร 471 ล้านบาท
และคาดว่าสิ้นปีนี้ รายได้และกำไรทั้งปี 2566 จะสูงกว่าปี 2565
ในแง่ของการตลาด บริษัทก็สามารถสร้างนวัตกรรมสินค้าใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดได้หลายตัว
พร้อมกับสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค ผ่านสื่อต่าง ๆ ในด้านภาพลักษณ์ของบริษัท และทำให้รู้ว่า แบรนด์สินค้าต่าง ๆ ทั้งเบนโตะ, โลตัส, ช๊อคกี้, เจเล่, เมจิกฟาร์ม อยู่ภายใต้ร่มเงาเดียวกัน คือ SNNP
แล้วแบรนด์สินค้าในเครือ SNNP แข็งแกร่งแค่ไหน ?
ถ้าพูดถึงเรื่อง “ความแข็งแกร่งของแบรนด์”
คุณวิโรจน์ จะมองเรื่อง คุณภาพสินค้า, ยอดขาย, ส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) และช่องทางการจัดจำหน่าย ประกอบกัน
ซึ่งแบรนด์เบนโตะ และเจเล่ ทำคะแนนได้ยอดเยี่ยมในทุก ๆ ด้าน จึงเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งมาก
อย่างเรื่องของคุณภาพของสินค้า เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง ในเรตราคาเดียวกัน เช่น ราคา 5 บาท, 10 บาท
สินค้าของ SNNP นอกจากมีรสชาติถูกปากคนไทยแล้ว
กระบวนการผลิตยังมีมาตรฐานที่สูง สะอาด ปลอดภัย ผู้บริโภคจึงมั่นใจมากกว่า
นอกจากนี้ คุณวิโรจน์ บอกด้วยว่า อยากเห็นผู้เล่นในตลาด เข้ามาแข่งขันมากขึ้น
เพราะมองว่าเป็นเรื่องดี ที่จะทำให้ตลาดโดยรวมคึกคัก และขยายใหญ่ขึ้นได้
รวมถึงกระตุ้นให้แบรนด์ต่าง ๆ สร้างสรรค์นวัตกรรมออกมากันมากขึ้น
—-----------------------------------
สูตรติดปีกให้ธุรกิจเติบโต แบบก้าวกระโดด
—-----------------------------------
1) มองหาการเพิ่ม “คุณค่า (Value)” ให้ตัวสินค้าอยู่เสมอ
หลายคนคงเข้าใจว่า แบรนด์ที่สร้างยอดขายในประเทศไทย ให้กับ SNNP ได้มากที่สุด คือ เบนโตะ
แต่คำตอบที่แท้จริง คือ “เจเล่”
จริง ๆ แล้ว ตลอดที่ผ่านมา เฉพาะยอดขายภายในประเทศของ SNNP นั้น
เบนโตะ เป็นแบรนด์ที่มีสัดส่วนยอดขายมากที่สุด
แต่ปีนี้ เป็นปีแรก ที่เจเล่ แซงเบนโตะ ขึ้นมาได้
แล้วเพราะอะไร ?
เรื่องนี้ คุณวิโรจน์ ให้คำตอบไว้ว่า กลยุทธ์ที่ใช้แล้วทำให้ เจเล่ มีการเติบโตทั้งด้านยอดขาย และ Branding นั้น
คือ การเพิ่ม “คุณค่า” ให้กับตัวสินค้าอย่างต่อเนื่อง
เมื่อก่อนเราคงคุ้นเคยกับภาพ เจเล่ ไลท์ แบบถ้วย ที่ขายกันในราคา 5 บาท
แต่ตอนนี้ เจเล่ มีพัฒนาการเปลี่ยนไปมาก
ทั้งเพิ่มสินค้าที่มากับแพ็กเกจจิงใหม่ ที่ทันสมัยกว่าเดิม เหมาะกับวางขายตามร้านโมเดิร์นเทรด
และขยายไลน์สินค้าภายใต้แบรนด์เจเล่ ให้หลากหลาย และมีลูกเล่นเยอะขึ้น
ทั้งเจเล่ บิวตี้, เจเล่ ไวต้าบีด, เจเล่ ชิววี่ เยลลี่, เจเล่ ดับเบิ้ล เยลลี่, เจเล่ วิตามิน เยลลี่
ซึ่งมีราคาขายสูงขึ้น ตั้งแต่ 10-20 บาทขึ้นไป
ที่น่าสนใจคือ คุณวิโรจน์ บอกว่า แม้สินค้าจะมีราคาสูงขึ้น แต่เจเล่ กลับขายได้มากขึ้นกว่าเดิมอีก.. โดยเฉพาะสินค้าที่ออกใหม่ของ เจเล่ ก็ผลตอบรับดีหมด
เพราะว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป กลุ่มลูกค้าที่เข้าร้านโมเดิร์นเทรด ไม่ได้พิจารณาเรื่องราคาอย่างเดียว แต่กำลังให้ความสำคัญกับคุณภาพ และคุณค่าที่เพิ่มเข้ามาในตัวสินค้า มากกว่า
สรุปแล้ว การเพิ่มคุณค่าให้สินค้าเจเล่ เลยทำให้แบรนด์สามารถตั้งราคาขายได้สูงขึ้น
และยังส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้น แถมมีอัตรากำไร (Margin) ที่ดีขึ้นด้วย
ซึ่งนอกจาก เจเล่ แล้ว ที่ผ่าน ๆ มาทาง SNNP ก็มีการมองหาวิธีการเพิ่มคุณค่าสินค้า ให้กับแบรนด์อื่น ๆ ในเครืออย่าง เบนโตะ, โลตัส และเมจิกฟาร์ม เช่นกัน แต่ในปีหน้าจะนำกลยุทธ์นี้มาปรับใช้แบบเข้มข้นยิ่งขึ้น
2) อยากไปได้ไกล “พาร์ตเนอร์” ต้องดี
การเดินคนเดียว มักมีข้อจำกัดเสมอ โดยเฉพาะในโลกธุรกิจ
ถ้าต้องการให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง การมีคู่ค้าและพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจที่ดี และเป้าหมายตรงกัน คือสิ่งที่ขาดไปไม่ได้
ซึ่งในการทำธุรกิจ พาร์ตเนอร์ที่เราต้องเจอนั้นมีหลายฝ่ายด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน, สถาบันการเงิน, ซัปพลายเออร์, อินฟลูเอนเซอร์ ฯลฯ
แต่อีกหนึ่งในพาร์ตเนอร์ที่ SNNP ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ บรรดาร้านค้าต่าง ๆ ทั้งโมเดิร์นเทรด และร้านค้าปลีกดั้งเดิม (Traditional Trade)
ที่เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายให้กับ SNNP ในการช่วยกระจายสินค้าของแบรนด์ ไปถึงมือผู้บริโภคโดยตรง
เพราะการที่ธุรกิจ จะเดินหน้าได้ สินค้าดีอย่างเดียว ยังไม่พอ
ช่องทางการจัดจำหน่ายต้องแข็งแกร่งและครอบคลุมด้วย
โดยปัจจุบัน ยอดขายของ SNNP ในไทย มาจากโมเดิร์นเทรด 55% และร้านค้าปลีกดั้งเดิม 45%
ในฝั่งโมเดิร์นเทรด SNNP ค่อนข้างมี Strong Relationship ในแง่พาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ กับโมเดิร์นเทรดรายใหญ่ ๆ แทบทุกเจ้า
โดยเฉพาะกับทาง 7-Eleven, Makro, Lotus's และ Big C
ทำให้ SNNP มีช่องทางในการขายที่มีศักยภาพสูง และสามารถเข้าถึงฐานลูกค้าได้ทั่วประเทศ
ซึ่งคุณวิโรจน์ เผยในรายละเอียดว่า โดยปกติแล้ว SNNP มีการวางแผนธุรกิจร่วมกันกับร้านค้า (Joint Business Plan : JBP) ในประเด็นต่าง ๆ เป็นประจำ
เช่น ปีหน้า เบนโตะ จะออกสินค้าใหม่/รสชาติใหม่ เป็นอะไร, มีการทำโปรโมชันช่วงเดือนไหน, มีแคมเปญกี่ครั้ง, แต่ละแคมเปญ ตั้งเป้าสร้างยอดขายเท่าไร ฯลฯ
เพื่อที่บริษัทและร้านค้า จะได้ประสานงานร่วมกันให้มีประสิทธิภาพ และช่วยกันทำให้เป้าที่ตั้งไว้ บรรลุผลในที่สุด
โดยโมเดิร์นเทรดทุกเจ้า SNNP จะมี Key Account ไปประกบ
และต้องให้ Key Account เข้าไปรีวิวกัน (Business Review) กับทาง 7-Eleven, Makro, Lotus's, Big C ทุกเดือน
ด้วยความที่มีความสัมพันธ์อันดีกับพาร์ตเนอร์ ซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีในการสร้าง
ประกอบกับเบนโตะ และเจเล่ เป็นแบรนด์ที่มี Market Share เป็นอันดับ 1
ทำให้เวลาไปคุยกับทางร้านค้า ทางแบรนด์จึงมักจะได้หัวชั้นวางสินค้า (Display) ก่อน
ซึ่งการได้ชั้นวางสินค้าที่ดี ก็จะช่วยเรื่องการเพิ่มโอกาสในการขาย แถมยังเป็นป้ายโฆษณาชั้นดี ของสินค้าไปในตัวอีกด้วย
นอกจากนี้ SNNP ยังซัปพอร์ตเรื่องการทำโปรโมชันหรือแคมเปญในร้านค้า (Distribution Campaign Drive) เช่น ทำโปรโมชัน เมื่อซื้อ 2 ชิ้น แล้วได้ส่วนลด
ซึ่งร้านค้าต่าง ๆ ก็ชอบ เพราะเมื่อมีโปรโมชันมากระตุ้นยอดขาย จะทำให้อัตราการหมุนเวียนของสินค้าเร็วขึ้น ร้านค้าจึงสามารถทำให้พื้นที่ต่อตารางเมตร สร้างรายได้ ได้มากขึ้น
โดยที่ร้านค้าไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเรื่องโปรโมชันตรงนี้เองเลย
แต่ทั้งนี้ คุณวิโรจน์ ได้ให้ข้อสังเกตว่า การจะทำโปรโมชัน หรือแคมเปญ อะไรสักอย่าง ไม่ใช่อยากจะทำ ก็ทำเลย แต่ต้องเอา Data มาดูก่อน แล้ววิเคราะห์ว่า ตอนนี้ผู้บริโภคสนใจอะไร มีพฤติกรรมอย่างไร
รวมถึงแคมเปญที่เคยทำในอดีต ประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลว เพราะอะไร
เพื่อที่จะประเมินได้ว่า ต่อไปแบรนด์ควรทำแคมเปญในลักษณะไหน และควรจัดในช่วงเวลาไหน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
ในส่วนของฝั่ง ร้านค้าปลีกดั้งเดิม (Traditional Trade) นั้น
คุณวิโรจน์ บอกว่า ร้านค้าส่ง ในปัจจุบันพัฒนาไปเยอะมาก
โดยสามารถแบ่งประเภทร้านค้าส่ง ได้ 4 แบบ
1) ห้องแถวค้าส่ง เช่น ร้านยี่ปั๊วขนาดกลาง
2) ค้าส่งแบบมีรถเร่ ไปตามหัวเมือง ตามรอบนอก
3) ค้าส่งแบบมีหน้าร้าน จัดร้านคล้าย ๆ แบบ Makro
4) ร้านค้าส่งสมัยใหม่ เช่น ธนพิริยะ, ซุปเปอร์ชีป
ซึ่งภาพรวมตลาด ในแบบที่ 3 และ 4 นั้น กำลังเติบโตดี
ทาง SNNP จึงเลือกอัดเงินและแคมเปญ ไปกับ 2 ช่องทางนี้ มากกว่าช่องทางอื่น ๆ
และเมื่อใส่ทรัพยากรได้ถูกจุด เดี๋ยวยอดขายก็ตามมาเอง
นอกจากนี้ ทาง SNNP ยังมีการเอาองค์ความรู้ หรือ Know-How ต่าง ๆ ที่ได้จากช่องทางโมเดิร์นเทรด มาปรับใช้กับช่องทางจัดจำหน่ายเหล่านี้ด้วย เช่น ให้คำแนะนำปรึกษากับคู่ค้า, การทำโปรโมชัน
—-----------------------------------
แนวทางในการพัฒนาสินค้าใหม่ ของ SNNP
—-----------------------------------
ทาง SNNP นั้น มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการทำขนม มาอย่างยาวนาน
อีกทั้งสินค้าที่ออกใหม่ทุกตัว จะมีการทำ Consumer Product Test
ทำให้ขนมที่ทำออกมาแทบทุกตัว มีรสชาติที่อร่อย และถูกปากผู้บริโภค
อย่างไรก็ดี คุณวิโรจน์ เข้าใจดีว่า ขนมที่อร่อย ไม่ได้การันตีว่า จะขายดีเสมอไป..
เพราะยังมีอีกหลาย ๆ ปัจจัย ที่มากำหนดว่า สินค้าไหน จะปัง หรือจะแป้ก
พอเป็นแบบนี้ คุณวิโรจน์ จึงพยายามทำการวิจัยผู้บริโภค (Consumer Research) บ่อย ๆ
เพื่อที่จะได้เข้าใจ รสนิยมและพฤติกรรมของผู้บริโภค อย่างลึกซึ้ง รวมถึงแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้น
แล้วนำมาประเมินว่า รูปแบบของตัวขนมและวัตถุดิบ, ราคา, แพ็กเกจจิง, การสื่อสารทางการตลาด ฯลฯ
แบบไหน ที่จะทัชใจและดึงดูดผู้บริโภคได้มากที่สุด
เพื่อเพิ่มโอกาสความสำเร็จ ในการพัฒนาสินค้าใหม่ ออกมาทำตลาด
โดยคุณวิโรจน์ เผยว่า พื้นฐานความสำเร็จในสินค้าของ SNNP เกิดจาก
- ขนมที่อร่อย ตอบโจทย์เทรนด์ตลาดหรือผู้บริโภค
- การควบคุมคุณภาพ และต้นทุนการผลิต ได้ดี
- ที่เหลือให้เอา การตลาด (Marketing) มาครอบ เช่น สื่อสารแคมเปญ สร้างการรับรู้ หรือให้คนอยากมาลอง, โปรโมชันกระตุ้นยอดขาย ฯลฯ
นอกจากนี้ ทาง SNNP ยังมีการจ้างทีมงาน Outsource ให้เข้าไปดู 7-Eleven ทุกสาขาในกรุงเทพฯ
เพื่อสังเกตพฤติกรรมของผู้บริโภค และเก็บข้อมูลจากหน้างานโดยตรง
ทางบริษัท จะได้สัมผัสใกล้ชิดต่อ พฤติกรรมของผู้บริโภค มากขึ้น
และรู้ว่ากำลังเผชิญปัญหาอะไรอยู่ เช่น 7-Eleven บางสาขา สินค้าของ SNNP ขาดสต็อก คนหาซื้อไม่ได้ แต่บางสาขา กลับขายได้ไม่ดีเท่าที่ควร
เพื่อที่จะได้เข้าใจปัญหาที่แท้จริง และจัดการได้อย่างทันท่วงที
—-----------------------------------
เป้าหมายธุรกิจในปีหน้า และกลยุทธ์การตลาด
—-----------------------------------
ปีหน้า SNNP ตั้งเป้าภาพรวม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โตแบบ Double-Digit หรือระดับเลข 2 หลัก
โดยธุรกิจในต่างประเทศของ SNNP โรงงานเบนโตะ เฟส 2 ที่เวียดนาม เสร็จแล้ว
ปีหน้าก็เริ่มทำเบนโตะ ไซซ์ 5 บาท ออกขาย และเริ่มกระจายสินค้า เข้าร้านค้าปลีกต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งมีกว่า 500,000 ราย
จากเดิมทุกวันนี้ เบนโตะ ที่วางขายในเวียดนาม มีเฉพาะไซซ์ 20 บาท
พอในอนาคตมีไซซ์ 5 บาท ก็เลยสามารถกระจายไปวางขายตามร้านหัวเมือง หรือต่างจังหวัดของเวียดนามได้
ซึ่งโรงงานที่เวียดนาม จะผลิตสินค้าเพื่อทำตลาดที่เวียดนามโดยเฉพาะ และมีความสามารถในการสร้างรายได้ถึงปีละ 2,000 ล้านบาท เลยทีเดียว
ทั้งนี้ ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ทั้งหมดของบริษัท SNNP
75% มาจากการขายในประเทศไทย
25% มาจากการขายในต่างประเทศ (โดยส่วนนี้กว่า 75% คือที่เวียดนาม)
แต่ปีหน้าคาดว่า บริษัทจะมีสัดส่วนรายได้ในประเทศไทย 70%
และต่างประเทศ เพิ่มเป็น 30% จากการเติบโตของยอดขายในเวียดนาม
ที่สำคัญอัตรากำไร (Margin) ของสินค้าที่วางขายในต่างประเทศ ดีกว่าที่เมืองไทย เพราะสามารถตั้งราคาขายสูงกว่าได้
ดังนั้น พอสัดส่วนยอดขายในต่างประเทศมากขึ้น จึงทำให้บริษัทมีกำไร/อัตรากำไร สูงขึ้นด้วย
ซึ่งถ้ามองเป้าหมายไปไกลกว่านั้น..
SNNP ได้ตั้งเป้าว่า อีก 3 ปีข้างหน้า บริษัทจะมียอดขายรวมแตะ 8,000 ล้านบาท
โดยแบ่งเป็นรายได้ภายในประเทศ 60% และต่างประเทศ 40%
สำหรับกลยุทธ์ธุรกิจ ในปีหน้านั้น
คุณวิโรจน์ ย้ำว่า SNNP จะยึด 2 กลยุทธ์หลัก ๆ คือ
1) โฟกัสกับการสร้างความแข็งแกร่งของ Core Business Brand (เจเล่, เบนโตะ, โลตัส) ให้มากยิ่งขึ้น
เพราะเศรษฐกิจปีหน้า มีความไม่แน่นอนสูง
ฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือ ทุ่มทรัพยากร ใส่เม็ดเงินเข้าไปใน Core Brand หรือทำโปรโมชันกับ Core Brand ที่ติดตลาดอยู่แล้ว มันจะเห็นผลลัพธ์ได้ดีกว่า ผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์ใหม่
โดยปีหน้า SNNP จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ และรสชาติใหม่ น้อยลง และทำด้วยความระมัดระวังที่มากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับสภาวะแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น
รวมถึงโฟกัสกับรายละเอียดปลีกย่อยในการทำธุรกิจเยอะขึ้น
เช่น จากเดิมที่เวลาออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ก็หว่านขายทุกช่องทางการจัดจำหน่าย แต่ต่อไป จะเลือกทำตลาดเฉพาะบางช่องทางการจัดจำหน่าย ที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์นั้น ๆ
2) สร้าง New S-Curve กับธุรกิจใหม่
SNNP จะรุกเข้าไปในธุรกิจ “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร”
ซึ่งคุณวิโรจน์ เปรยว่า สินค้าพัฒนาเสร็จแล้ว ผ่าน อย. หมดแล้ว และ 7-Eleven อนุมัติแล้ว
ซึ่งปีหน้า จะมีสินค้าออกมาหลายตัว ออกเป็นแบบซีรีส์
ในไตรมาส 1 ชุดหนึ่ง ไตรมาส 2 ชุดหนึ่ง และไตรมาส 3 อีกชุดหนึ่ง
และหนึ่งจุดเด่นของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากบริษัท คือเรื่องของ “ราคา” ที่จับต้องได้ ไม่แพง ตามแบบฉบับของสินค้าในเครือ SNNP
ส่วนงบการตลาด ที่จะใช้ในปีหน้านั้น
SNNP จะใช้งบ Marketing ที่ 3% ของยอดขายทั้งบริษัท
โดยค่าใช้จ่ายตรงนี้ จะใช้ทำการตลาด ไปกับแคมเปญหรือช่องทาง ที่เน้นสร้างเอนเกจกับผู้บริโภคมากขึ้น เช่น อาจไปสนับสนุนเรื่อง มิวสิก-อีสปอร์ต (Music & Esports Marketing)
รวมถึงทำแคมเปญกับพาร์ตเนอร์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
สุดท้ายนี้ คุณวิโรจน์ ย้ำว่า การเติบโตขององค์กรหนึ่ง ๆ ไม่ว่าจะในระยะสั้น กลาง หรือยาว
“บุคลากร” สำคัญมาก
ดังนั้น องค์กร ควรให้ความสำคัญกับเรื่องทรัพยากรบุคลากร
ตั้งแต่การคัดเลือกบุคลากร การพัฒนาคน และ Benefit ต่าง ๆ ของพนักงาน
เพราะความยั่งยืนขององค์กรที่แท้จริง เกิดจาก “ทรัพยากรมนุษย์” นั่นเอง..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.