2 ทางเลือกของทรัมป์ “การใช้ชีวิตที่ไม่มีเงิน” หรือ “การมีเงินแต่เสียชีวิต”

2 ทางเลือกของทรัมป์ “การใช้ชีวิตที่ไม่มีเงิน” หรือ “การมีเงินแต่เสียชีวิต”

30 มี.ค. 2020
ตอนนี้ประชากรโลก 3 พันล้านคนจาก 7.5 พันล้านคนต้องกักตัวเองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แน่นอนว่าการกักตัวแบบนี้ ย่อมส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
วุฒิสภาสหรัฐอเมริกาจึงต้องรีบผ่านร่างงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มูลค่ากว่า 66 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศ
แต่นั่นอาจจะยังไม่สามารถทำให้ประธานาธิบดีดอนัลด์ ทรัมป์คลายความกังวลเรื่องเศรษฐกิจไปได้
ทรัมป์ยังหวังที่จะทำให้เศรษฐกิจในสหรัฐฯ กลับมาเติบโตอีกครั้งโดยเร็วที่สุด
โดยในช่วงแรก ทรัมป์อยากให้ภาคธุรกิจรีบกลับมาดำเนินกิจการตามปกติอีกครั้งในช่วงเทศกาลอีสเตอร์
ซึ่งตรงกับวันที่ 12 เมษายน 2020 หลังจากที่ภาคธุรกิจต้องปิดทำการชั่วคราว เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
แน่นอนว่ามีหลายฝ่ายออกมาคัดค้านความคิดนี้
เพราะในตอนนี้การ Lockdown และ Social Distancing ในระยะเวลาที่เหมาะสม คือหัวใจสำคัญในการยับยั้งการแพร่เชื้อ
ถ้าหากผู้คนเลิกกักตัว แล้วหันมาใช้ชีวิตตามปกติเร็วเกินไป
อาจทำให้การกักตัวที่ผ่านมาเป็นเรื่องไร้ความหมายไปในทันที
เพราะจะเป็นจุดเริ่มต้นการระบาดระลอกใหม่ในสหรัฐฯ
นอกจากนี้ในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ คริสตชนจะไปร่วมทำพิธีทางศาสนาที่โบสถ์กันเป็นจำนวนมาก
การทำแบบนี้ไม่ต่างอะไรจากการจัดงานเลี้ยงต้อนรับโควิด-19 เลย..
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลท้องถิ่นบางแห่งไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้
และจะยังคงดำเนินมาตรการ Lockdown และ Social Distancing ในรัฐของตัวเองต่อไป
สุดท้าย ทรัมป์จึงต้องยอมถอย โดยเขาขยายเวลาปิดร้านค้าและมาตรการ Social Distancing ต่อไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2020
แต่ทรัมป์ยังคงเชื่อว่าการยับยั้งการแพร่ระบาดต่อไปด้วยการกักตัวจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี
ทรัมป์คิดว่า เราจะปล่อยให้ “การรักษาโรค” สร้างปัญหาที่ใหญ่กว่า “โรค” ไม่ได้
และทรัมป์ยังกล่าวอีกด้วยว่า ชาวอเมริกันจะฆ่าตัวตายก่อนจะเป็นโรคตาย
ถ้าพวกเขายังไม่สามารถกลับมาทำงานหรือดำเนินธุรกิจของตัวเองต่อไป
ถึงจุดนี้เราอาจจะเริ่มสงสัยกัน
ว่าอะไรทำให้ทรัมป์ใส่ใจกับเรื่องเศรษฐกิจมากนัก?
มากจนดูเหมือนเขามองข้ามว่า จะมีผู้ติดเชื้อ หรือเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเท่าไร
แค่อยากให้ผู้คนออกมาใช้เงิน และใช้ชีวิตตามปกติ เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนอีกครั้ง
เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะ
ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ คืออาวุธสำคัญในศึกเลือกตั้งของเขาในปีนี้
ที่ผ่านมา ชาวอเมริกันพึงพอใจในการบริหารเศรษฐกิจของทรัมป์มาก
วัดได้จากความพึงพอใจด้านเศรษฐกิจที่สูงที่สุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช
ดังนั้น ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจอย่าง ดัชนีตลาดหุ้น อัตราเงินเฟ้อ จีดีพี อัตราการว่างงาน จึงเป็นตัวแปรสำคัญมากสำหรับทรัมป์ในการชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสมัยต่อไป
แต่อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ต้องไม่ลืมข้อเท็จจริงข้อหนึ่งเกี่ยวกับเศรษฐกิจเมื่อเกิดโรคระบาด
นั่นคือเราต้องหยุดการระบาดของโรคให้ได้เสียก่อน
เราถึงจะกลับมาฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างมั่นคงและมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างก็คือ
ไม่มีผู้โดยสารคนไหนอยากจะเสี่ยงไปติดเชื้อไวรัส กับคนที่นั่งข้างๆ บนเครื่องบิน
หรือไม่มีใครอยากไปดูมวยในสนาม ที่ไม่รู้ว่ามีผู้ติดเชื้อหรือเปล่า
แม้แต่จะออกจากบ้าน ยังต้องกังวลว่าวันนี้ จะมีโอกาสติดเชื้อที่ไหนบ้าง..
ดังนั้น ความปรารถนาของทรัมป์
อาจไม่ต่างอะไรจากการฝืนขับรถที่ลมยางรั่ว
เพราะถ้าไม่ปะยางเสียก่อน
แต่ฝืนขับรถต่อไป รถก็จะไปต่อไม่ได้ในที่สุด
สุดท้ายแล้ว เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ
ถ้าหากเราลองนำมุมมองทางการเมืองออกไป
แล้วมองถึงอีกแง่มุมว่า
การดำเนินชีวิตในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจย่ำแย่ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน..
เราจะมีเงินซื้ออาหารและกักตัวอยู่บ้านต่อไปได้นานแค่ไหน ถ้าไม่ได้รับเงินเดือน หรือรายได้จากธุรกิจ
จึงแทบจะเป็นปัญหาโลกแตกว่า
การใช้ชีวิตที่ไม่มีเงิน กับการมีเงินแต่เสียชีวิต อะไรเป็นเรื่องที่น่าลำบากใจกว่ากัน
เราไม่อาจตัดสินได้ว่าการกระทำแบบไหนเป็นทางเลือกที่ถูกต้อง
ระหว่างการยอมปิดภาคธุรกิจและทำ Social Distancing ต่อไปเพื่อให้คนติดเชื้อน้อยลง
หรือกลับมาเปิดกิจการ ใช้ชีวิตตามปกติ
แล้วปล่อยให้การคัดเลือกโดยธรรมชาติเป็นผู้ตัดสิน..
แน่นอนว่าทั้งสองทางเลือก มีราคาที่ต้องจ่าย
แถมแต่ละตัวเลือก ต้องจ่ายในราคาที่แสนแพงเสียด้วย..
ดังนั้นหากเป็นไปได้
ก็หวังว่าผู้คนจะมีทั้งชีวิตและมีเงินใช้ ในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำต่อไป
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.