สรุปกลไกการตั้งราคาตั๋วเครื่องบิน แบบครบจบในโพสต์เดียว

สรุปกลไกการตั้งราคาตั๋วเครื่องบิน แบบครบจบในโพสต์เดียว

16 ต.ค. 2023
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมการจะซื้อตั๋วเครื่องบินให้ได้ราคาถูกที่สุด ถึงต้องซื้อล่วงหน้าก่อนเดินทางนาน ๆ
ทำไมถ้ายิ่งซื้อตั๋วใกล้วันเดินทางมากขึ้นเท่าไร
ตั๋วเครื่องบิน ถึงยิ่งแพงตามขึ้น เท่านั้น
แล้วมันจริงไหมที่ว่า ถ้าอยากบินในเส้นทางแปลก ๆ มักจะต้องจ่ายแพงเสมอ

แล้วมีอะไรอีกบ้างที่ทำให้ตั๋วเครื่องบินในเที่ยวเดียวกัน
สามารถแพงขึ้นกว่ากันได้อีก ?
ในบทความนี้ MarketThink จะขออาสามาไขข้อสงสัยที่คาใจหลายคนมานาน ว่าเบื้องหลังของการตั้งราคาตั๋วเครื่องบิน มันเป็นอย่างไรกันแน่ ?
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ธุรกิจสายการบินก็เหมือนกับธุรกิจอื่น ๆ ที่ต้องการรายได้ที่มั่นคง และผลกำไรมาต่อยอดธุรกิจ
แต่ด้วยธรรมชาติของธุรกิจสายการบินนั้น จะต้องแบกรับต้นทุนอันมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นค่าเสื่อม, ค่าพนักงาน, ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง รวมไปถึงค่าดำเนินการต่าง ๆ
ดังนั้นราคาตั๋วเครื่องบินจึงจำเป็นต้องตั้งให้สูงขึ้นตามไปด้วย เพื่อให้คุ้มกับต้นทุน
แต่ถึงอย่างนั้น ถ้าธุรกิจสายการบินเลือกขายตั๋วแบบราคาเดียวกันทั้งหมด (Fixed Rate) ก็อาจจะกลายเป็นความเสี่ยงที่มากเกินไป
ถามว่าเสี่ยงยังไง ? ยกตัวอย่างเช่น เครื่องบินของสายการบิน A มี 100 ที่นั่ง และต้องทำรายได้ต่อเที่ยวประมาณ 1,000,000 บาทขึ้นไป เพื่อให้คุ้มกับต้นทุน
ซึ่งถ้าลองคิดเล่น ๆ ว่าสายการบิน A มีผู้โดยสารเฉลี่ยที่ 70% ของที่นั่ง ก็จะเท่ากับว่าต้องขายตั๋วที่ประมาณ 14,000 บาท ต่อที่นั่ง
ส่งผลให้สายการบิน A ต้องไปจับกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนมีรายได้ปานกลาง-สูง ได้เพียงอย่างเดียว
แถมด้วยวิธีนี้ยังเป็นการทำให้ ลูกค้าไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องรีบร้อนซื้อตั๋ว เพราะไม่ว่าจะจองตอนไหนก็จ่ายเท่ากันอยู่ดี
ทีนี้เพื่อรับประกันความเสี่ยงให้แต่ละเที่ยวบินขาดทุนน้อยที่สุด และเพื่อเป็นการทำให้ตั๋วเครื่องบินเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายขึ้น
หลายสายการบินจึงนิยมใช้สิ่งที่เรียกว่า “Fare Class” มาช่วยในการกำหนดค่าตั๋ว
โดยหลักการของ Fare Class นั้นก็ไม่ยาก
คือแทนที่จะขายตั๋วในราคาเดียวกันทั้งเที่ยว ก็เปลี่ยนมาเป็นการใช้ราคาแบบเฉลี่ยกัน ตั้งแต่ถูกไปจนถึงแพง 
แค่รวมแล้วรายได้เฉลี่ยต่อเที่ยว ยังต้องเท่าเดิมก็พอ
ซึ่งส่วนใหญ่แล้วหลายสายการบินจะนิยมแบ่ง Fare Class ตามตัวอักษรภาษาอังกฤษไล่ไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ราคาถูกไปจนถึงราคาแพง เช่น
Fare Class  A  ราคา 6,000 บาท
Fare Class  B  ราคา 10,000 บาท
Fare Class  F  ราคา 30,000 บาท
พอเป็นแบบนี้ ก็จะเท่ากับว่า สายการบินจะสามารถกระจายความเสี่ยงไปยังกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ได้มากขึ้น
ตั้งแต่คนรายได้น้อยไปจนถึงคนมีฐานะ และยังช่วยลดโอกาสที่เที่ยวบินแต่ละเที่ยวบิน จะขาดทุนได้ไปในตัว
เพราะสมมติว่า ถ้าสายการบิน A อยากได้เงิน 1,000,000 บาท จาก 100 ที่นั่ง
แทนที่จะขายตั๋วใบละ 10,000 บาท 100 ใบ อย่างเดียว
ก็อาจจะเปลี่ยนมาเป็นขาย  
Fare Class  A   6,000 บาท ที่จำนวน 50 ใบ 
Fare Class  B  10,000 บาท ที่จำนวน 40 ใบ 
Fare Class  F  30,000 บาท ที่จำนวน 10 ใบ
รวมแล้วก็จะเท่ากับ 1,000,000 บาทเหมือนกันนั่นเอง
ด้วยระบบแบบนี้ จึงเป็นสาเหตุที่ว่า ทำไมยิ่งจองตั๋วก่อนถึงวันเดินทางนานเท่าไร
ก็ยิ่งจะได้ตั๋วในราคาที่ถูกมากขึ้นเท่านั้น 

นั่นก็เพราะว่าสายการบินจะเลือกขายตั๋วที่มี Fare Class ต่ำ ๆ ให้หมดก่อน
และจะขยับมาขายตั๋วที่มี Fare Class สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามลำดับ
เพื่อทำให้เที่ยวบินนั้น ๆ มีจำนวนผู้โดยสารมากที่สุดไว้ก่อน
โดยอย่างน้อยด้วยจำนวนผู้โดยสารที่เยอะ จะทำให้สายการบินมีโอกาสขายสินค้า และอาหารต่าง ๆ บนเครื่องบิน ได้มากขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง
และนอกจาก Fare Class แล้ว ก็ยังมีเรื่องของความต้องการ (Demand-Supply) ที่จะมากำหนดว่า ตั๋วเครื่องบินจะถูกหรือจะแพงได้อีกเหมือนกัน
ยกตัวอย่างเช่น
ในวันเดินทางที่เป็นช่วงสุดสัปดาห์, วันหยุด หรือในเที่ยวบินที่ไปถึงจุดหมายปลายทางตอนเช้าที่มีความต้องการสูงมาโดยตลอด
หลายสายการบินมักจะตั้งราคาตั๋วให้สูงกว่าปกติ เพื่อเป็นการเฉลี่ยรายได้
กับช่วงเวลาอื่น ๆ ของปี ที่มีผู้โดยสารน้อย
นอกจากนี้ ในเส้นทางที่มีคู่แข่งน้อย ไม่ค่อยมีการแข่งขัน เช่น กรุงเทพ-ยะลา 
ก็เป็นช่องให้สายการบินสามารถ Mark-up ราคาของตั๋วได้เหมือนกัน
แต่ถึงอย่างนั้น ก็ใช่ว่าสายการบินจะสามารถตั้งราคาของตั๋วเครื่องบินได้ตามใจชอบ
เพราะสำหรับประเทศไทย ราคาของตั๋วเครื่องบินจะถูกควบคุมโดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ที่มีการตั้งเพดานค่าโดยสารเอาไว้ตามนี้
สายการบิน Low-Cost จะห้ามคิดค่าตั๋วเกิน 9.4 บาทต่อกิโลเมตร
ส่วนสายการบิน Full-Service จะอยู่ที่ไม่เกิน 13 บาทต่อกิโลเมตร
ทำให้ต่อให้จะมี Demand มากขนาดไหน หรือจะเป็น Fare Class ลำดับสุดท้ายของสายการบินไหน ๆ
ในเที่ยวบิน กรุงเทพฯ - ภูเก็ต ที่ระยะทาง 698 กิโลเมตร 
ก็จะสามารถเก็บค่าโดยสารได้มากสุดแค่ 6,561 บาท สำหรับสายการบิน Low-Cost
และ 9,074 บาท สำหรับสายการบิน Full-Service เท่านั้น..
อ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนน่าจะพอเข้าใจถึงกลไกการคิดราคาตั๋วเครื่องบินมากขึ้นแล้ว
ดังนั้นครั้งหน้าที่จองตั๋วเครื่องบิน แล้วไม่อยากจ่ายแพง
ก่อนจองก็ควรหลีกเลี่ยงช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาว
หรือในช่วงเวลาที่ไปถึงจุดหมายตอนเช้าพอดี
รวมทั้งวางแผนจองตั๋วล่วงหน้าก่อนเดินทางนาน ๆ
หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือเข้าไปเช็กในเว็บไซต์ของสายการบินต่าง ๆ เพื่อดูว่า
ยังเหลือตั๋วที่มี Fare Class ระดับเริ่มต้นในเส้นทางไหนบ้าง นั่นเอง..
#ตั๋วเครื่องบิน
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.