ทำธุรกิจกับเพื่อน ควรแบ่งหุ้นอย่างไร ไม่ให้ทะเลาะกัน ?

ทำธุรกิจกับเพื่อน ควรแบ่งหุ้นอย่างไร ไม่ให้ทะเลาะกัน ?

26 ก.ย. 2023
ใครก็ตามที่เคยลงทุนทำธุรกิจ หรือคิดว่ากำลังจะเริ่มทำธุรกิจ เชื่อว่าหุ้นส่วนคนแรก 
ก็คงจะหนีไม่พ้นคนใกล้ตัว ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ “เพื่อน”
โดยที่ผ่านมา เราก็มักจะได้ยินเรื่องของการเสียเพื่อน.. เพราะทำธุรกิจด้วยกันมานักต่อนัก
ทั้งเรื่องของผลประโยชน์ไม่ลงตัว หรือจะเป็นการที่หุ้นส่วนหมด Passion กับธุรกิจ แล้วเลิกทำไปเสียดื้อ ๆ ก็มีให้เห็นเยอะแยะ
ทีนี้ ถ้าไม่อยากเสียเพื่อนเพราะธุรกิจ และป้องกันปัญหาที่อาจจะตามมาในอนาคต
มันพอจะมีทางไหนบ้าง ที่จะลดโอกาสขัดแย้งกับหุ้นส่วนที่เป็นเพื่อนของเราเองได้ ?
บทความนี้ MarketThink เลยอยากนำวิธีการแบ่งหุ้นกับเพื่อน ในช่วงเริ่มต้นของธุรกิจ มาสรุปให้ฟัง 
เพื่อเป็นแนวทางให้คนที่คิดจะทำธุรกิจกับเพื่อน นำไปปรับใช้ได้ 
ก่อนอื่น มาขยายความคำว่า “หุ้นส่วน” กันก่อน 
หุ้นส่วนก็คือ ผู้ที่มีความเป็นเจ้าของบริษัท ตามสัดส่วนหุ้นที่ถือ 
ถ้ากิจการได้กำไร คนที่ถือหุ้นในสัดส่วนที่เยอะ ก็จะได้ผลตอบแทนเยอะ
ในทางกลับกัน เมื่อบริษัทมีปัญหา คนที่ต้องออกหน้าก่อน และรับความเสี่ยงมากที่สุด ก็คือคนที่ถือหุ้นเยอะที่สุดเช่นเดียวกัน
ดังนั้น ถ้าไม่อยากมีปัญหากับเพื่อนในระยะยาว ทางที่ดีก็ควรจะแบ่งหุ้น และกำหนดบทบาทของแต่ละคนให้ดีตั้งแต่วันแรกที่เริ่มธุรกิจ
ซึ่งแนวทางการแบ่งหุ้น ก็สามารถทำได้หลายวิธี 
เริ่มตั้งแต่การแบ่งหุ้นกันตามจำนวนเงินทุน
ยกตัวอย่างเช่น 
กิจการต้องใช้เงินทุนตั้งต้นประมาณ 1,000,000 บาท ถ้ามีเพื่อน 4 คน ทุกคนแบ่งเงินกัน
ลงคนละ 250,000 บาท เท่ากับว่าแต่ละคนจะได้หุ้น 25% เท่ากัน
แต่ถึงอย่างนั้น มันก็ไม่ง่ายเลยที่การทำธุรกิจในชีวิตจริง จะเป็นแบบนี้ได้
เพราะคนเรามีกำลังทรัพย์ที่อาจจะไม่ได้มีเท่ากันทุกคน 
รวมถึงมีความถนัดที่แตกต่างกัน และความทุ่มเทให้กับธุรกิจ อาจไม่เท่ากัน
ทำให้ส่วนใหญ่แล้ว หุ้นส่วนทางธุรกิจ จะสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลัก ๆ
1. คนลงเงิน 
คนที่อาจจะลงเงินเป็นหลัก รอรับส่วนแบ่งกำไร หรือเงินปันผลจากกิจการ เมื่อธุรกิจมีกำไร 
แต่อาจไม่ได้ยื่นมือไปช่วยบริหารกิจการ หรือกำหนดแนวทางให้บริษัทมากนัก
2. คนลงแรง 
คนที่คอยดำเนินธุรกิจประจำวัน และรับมือกับปัญหาต่าง ๆ หน้างาน
3. คนลงสมอง 
เป็นคนที่คอยกำหนดวิสัยทัศน์ หรือทิศทางต่าง ๆ ให้กับบริษัท 
ซึ่งคนนี้แหละส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นคนตั้งต้นไอเดียในการเริ่มกิจการ
นำมาสู่กรณีถัดไปก็คือ “การแบ่งหุ้นในกรณีที่หุ้นส่วนบางคน ไม่ได้นำเงินมาลงทุน” 
การแบ่งหุ้นด้วยวิธีนี้ จะเป็นการเอาแรงและเอาสมองของหุ้นส่วนที่ไม่ได้ลงเงิน หรือลงเงินน้อย ไปประเมินเป็นค่าแรงสำหรับช่วงเวลาหนึ่ง
ยกตัวอย่างแบบง่าย ๆ เช่น นาย A, นาย B และนาย C ทั้ง 3 คนเป็นเพื่อนกัน และตัดสินใจเป็นหุ้นส่วนกัน เพื่อเปิดร้านค้าแห่งหนึ่ง 
โดยร้านค้าแห่งนี้ ประเมินแล้วว่า ต้องใช้เงินทุนตั้งต้นประมาณ 1,500,000 บาท เพื่อให้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายทั้งปี 
- นาย A เป็นคนลงแรง และขอเป็นผู้จัดการร้าน มีหน้าที่บริหารจัดการหน้าร้านในแต่ละวัน
ซึ่งคิดเป็นค่าแรงของตัวเองที่เดือนละ 35,000 บาท หรือ 420,000 บาทต่อปี
- นาย B เป็นหัวเรือหลัก ขอเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาด ดูแลเรื่องการขยายธุรกิจ และสร้างแบรนด์
ซึ่งคิดเป็นค่าแรงของตัวเองที่เดือนละ 40,000 บาท หรือ 480,000 บาทต่อปี
- นาย C เลือกลงทุนอย่างเดียว 600,000 บาท โดยทุนส่วนนี้จะเอาไปใช้เป็นเงินหมุนเวียนในกิจการ 
จะเท่ากับว่าต่อให้ นาย A และนาย B จะไม่ได้ลงเงินเลย ก็สามารถถือหุ้นในสัดส่วนที่พอ ๆ กันได้
หากตกลงกันว่า จะขอลงแรง ลงสมองแทน ในการช่วยดำเนินธุรกิจ  
โดยในกรณีนี้จะเท่ากับ 
นาย A ถือหุ้น 28% 
นาย B ถือหุ้น 32% 
และนาย C ถือหุ้น 40% นั่นเอง.. 
และนอกจากวิธีนี้ ก็ยังมีอีกวิธีหนึ่งคือ “การเอาหุ้นส่วนที่ลงเงินเยอะ ไปเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท” 
วิธีนี้อธิบายง่าย ๆ ก็คือ ถ้าไม่อยากให้หุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งมีหุ้นมากเกินไป  
ก็สามารถนำเงินของหุ้นส่วนที่ลงเงินเยอะที่สุด ย้ายไปเป็นส่วนของหนี้สินแทน 
เช่น ถ้ากิจการต้องใช้เงินทุนตั้งต้น 1,500,000 บาท จากหุ้นส่วน 3 คน (นาย A, B และ C)
โดยนาย A ลงเงิน 700,000 บาท ได้หุ้น 47%
นาย B ลงเงิน 500,000 บาท ได้หุ้น 33% 
นาย C ลงเงิน 300,000 บาท ได้หุ้น 20% 
ทีนี้ถ้านาย B ที่เป็นตัวตั้งตัวตี และรู้ทิศทางของบริษัทชัดเจน 
จึงเหมาะกับการถือหุ้นในสัดส่วนที่มากที่สุด เพื่อจะได้มีอำนาจในการบริหารอย่างเต็มที่ แต่ไม่มีเงินทุนหนาเท่านาย A 
นาย B ก็สามารถไปตกลงกับนาย A ให้เอาเงินทุนบางส่วนที่มาลง สำหรับใช้เป็นเงินหมุนเวียนในกิจการ 
มาทำสัญญาในรูปแบบให้กิจการกู้ยืมเงิน และเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทแทน
เช่นกรณีนี้ นาย B สามารถไปตกลงกับนาย A ได้ว่า 
แทนที่จะลงเงิน 700,000 บาท เพื่อแลกกับหุ้นของกิจการ 
ก็เปลี่ยนเป็นให้นาย A แบ่งเงินจำนวน 300,000 บาท มาแลกกับหุ้น
และให้กิจการกู้เงินจากนาย A อีก 400,000 บาทแทน 
เท่ากับว่า นาย A จะเป็นทั้งเจ้าของ (ผู้ถือหุ้น) และเจ้าหนี้ (ผู้ให้กู้) ของกิจการนั่นเอง
พอเป็นแบบนี้ ก็จะกลายเป็นว่า
กิจการที่ต้องใช้เงินทุนตั้งต้น 1,500,000 บาทนี้ จะได้เงินทุนมาจาก ผู้ถือหุ้น 1,100,000 บาท และเจ้าหนี้ 400,000 บาท
โดยนาย A ได้หุ้น 27.3% (300,000 / 1,100,000) และได้สถานะเจ้าหนี้ของบริษัทอีก 400,000 บาท 
นาย B ได้หุ้น 45.4% (500,000 / 1,100,000) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุด และมีอำนาจตัดสินใจ
นาย C ได้หุ้น 27.3% (300,000 / 1,100,000) 
จะเห็นได้ว่าด้วยวิธีนี้ กิจการยังได้เงินเท่าเดิมที่ 1,500,000 บาท
ในขณะที่นาย B ก็ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ส่วนนาย A ก็แค่เปลี่ยนผลตอบแทนบางส่วน จากรับเงินปันผลเมื่อกิจการมีกำไร เป็นรับดอกเบี้ยจากกิจการแทนนั่นเอง.. 
สุดท้ายนี้ ทุกธุรกิจย่อมมีปัญหาเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว 
ซึ่งการแบ่งหุ้นและจัดสรรผลประโยชน์ให้ชัดเจน ตั้งแต่วันแรก
ก็น่าจะเป็นวิธีป้องกันความเสี่ยงได้ดีไม่น้อย 
แต่ก็แน่นอนว่ามันไม่ใช่ทุกอย่างของธุรกิจ
ดังนั้น เรื่องของการพัฒนาสินค้าและบริการ การบริหารจัดการธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ 
การให้ความสำคัญกับลูกค้า รวมไปถึงทำการตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้า
ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผู้ประกอบการไม่ควรทิ้ง ถ้าอยากชนะในระยะยาว.. 
—------------------------- 
อ้างอิง: 
-หนังสือ วิชาธุรกิจที่ชีวิตจริงเป็นคนสอน โดย ธรรศภาคย์ เลิศเศวตพงศ์
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.