“พฤกษา โฮลดิ้ง” จับมือ “มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ” ร่วมด้วยพันธมิตรภาคเอกชน เดินหน้าสร้างป่าชุมชนเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่ Net Zero
24 ส.ค. 2023
พฤกษา โฮลดิ้ง เดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยร่วมมือกับ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้าร่วมโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เอกชนและชุมชน เพื่อสร้างป่าที่สมบูรณ์ควบคู่กับการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้ชุมชน
ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกลุ่มพฤกษาที่มุ่งดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะด้านการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่ประกาศตั้งเป้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30% ภายในปี 2573 และพร้อมมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593
การเข้าร่วมโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้กลุ่มพฤกษาได้มีส่วนร่วมในการรักษาทรัพยากรควบคู่ไปกับการช่วยเหลือสังคม โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ที่สั่งสมประสบการณ์เกือบ 40 ปีมาขยายผลเพื่อร่วมส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชนในป่า พร้อมกับร่วมแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมของไทยและของโลกไปในคราวเดียวกัน
โดยในปี 2566 นี้ โครงการฯ ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนใน 77 ป่าชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 143,496 ไร่ ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ อำนาจเจริญ และยโสธร โดยจะเป็นพื้นที่ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตได้ประมาณ 100,000 ไร่ มีผู้เข้าร่วม 12,721 ครัวเรือน และมีภาคเอกชนชั้นนำมาร่วมสนับสนุนการพัฒนา 14 ราย
นายอุดมศักดิ์ แย้มนุ่น Executive Advisor บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จํากัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในฐานะที่กลุ่มพฤกษาเป็นองค์กรหนึ่งของสังคม เราต้องการทำให้สังคมนี้น่าอยู่และส่งเสริมให้สังคมอบอุ่น ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ซึ่งสอดคล้องกับจุดหมายและวิสัยทัศน์ใหม่ของกลุ่มพฤกษา ด้วยกรอบแนวคิด ใส่ใจเพื่อทั้งชีวิต “อยู่ดี มีสุข” (Live well Stay well)
พฤกษามีความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 30 ภายในปี 2573 พร้อมมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 ดังนั้น การเข้าร่วมโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงถือเป็นหนึ่งใน Road map ที่จะพาองค์กรไปสู่เป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้
อีกทั้งยังมีส่วนช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับคนในชุมชน ช่วยลดปัญหาว่างงาน ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายด้านสังคมของกลุ่มพฤกษา ด้วยเช่นกัน “กลุ่มพฤกษาได้มีการนำเทคโนโลยีสีเขียว “คาร์บอนเคียว” (Carbon Cure) มาใช้ผลิตแผ่นพรีคาสท์คาร์บอนต่ำ (Low Carbon Precast)
โดยใช้ปูนซีเมนต์และคอนกรีตผสมเสร็จสำหรับงานก่อสร้าง ที่ได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์และฉลากลดโลกร้อน จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก องค์กรมหาชน รวมถึงมีโรงงานผลิตแผ่นพรีคาสท์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงแบบระบบอัตโนมัติ
โดยใช้แนวคิด “ขยะเหลือศูนย์” (Zero Waste) ทำให้ลูกบ้านในโครงการต่าง ๆ ที่ก่อสร้างด้วยพรีคาสท์คาร์บอนต่ำจะได้บ้านที่มีคุณภาพ แข็งแรง และยังได้มีส่วนช่วยลดการสร้างมลภาวะต่อโลกอีกด้วย”
นายอุดมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กลุ่มพฤกษายังได้ร่วมกับกรมป่าไม้ในโครงการ "ฟื้นฟูระบบนิเวศเพื่อแบ่งปันคาร์บอนเครดิต" โดยจัดกิจกรรมให้เพื่อนพนักงานและผู้บริหารได้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูระบบนิเวศ ในรูปแบบการปลูก บำรุง อนุรักษ์ และฟื้นฟูป่าบนเนื้อที่ 370 ไร่ ในพื้นที่ ต.ห้วยบง อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา
ซึ่งกิจกรรมนี้ได้นำความภาคภูมิใจมาสู่เพื่อนพนักงานและผู้บริหาร เพราะถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมขององค์กรพฤกษาเรื่อง “Impact for Good” ใช้ใจ ทำดี เพื่อผลลัพท์ที่ดี โดยมีพนักงานสนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 600 คน และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้มีการขยายเวลาร่วมกิจกรรมไปถึงปลายปี 2566
ทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าว เป็นไปตามแนวคิด ESG ที่ผสานแนวคิดด้านสภาพแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ซึ่งถูกปลูกฝังในทุก ๆ ขั้นตอนของการทำงาน เพื่อความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อม