AstraZeneca ประเทศไทย กับความมุ่งมั่นในการรับมือกับวิกฤติสุขภาพ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ภัยร้ายอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตคนทั่วโลก
27 ก.ค. 2023
โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของระบบสาธารณสุขทั่วโลกในช่วงศตวรรษที่ 21 รวมถึงในประเทศไทย เพราะว่าในขณะที่อัตราการเสียชีวิตจากโรคติดต่อกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ตัวเลขกลับสวนทางกับผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ด้วยจำนวนกว่า 41 ล้านคนในแต่ละปี
โดยกว่า 17 ล้านคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร หรืออายุน้อยกว่า 70 ปี ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าว ทำให้หลายประเทศและองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นวาระแห่งชาติ เพราะกลุ่มโรคดังกล่าวไม่เพียงแต่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพบุคคล ครอบครัว หรือชุมชน แต่ยังส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจและสังคมโดยรวมด้วยเช่นกัน
โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ Non-Communicable Diseases (NCDs) เป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโรค และไม่ได้ติดต่อจากคนสู่คนโดยการสัมผัสหรือการหายใจ แต่เป็นโรคที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสมของเรา โดยกลุ่มโรค NCDs อาจมีสาเหตุจากพฤติกรรม เช่น การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้องตามโภชนาการ ความเป็นอยู่ที่ไม่เหมาะสมก่อให้เกิดปัญหาการนอนหลับ และเกิดความเครียด การออกกำลังกายหรือการมีกิจกรรมทางกายภาพในชีวิตประจำวันไม่เพียงพอ เป็นต้น กลุ่มโรค NCDs ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง และโรคไตเรื้อรัง
โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต หรือคิดเป็นจำนวน 17.9 ล้านคนต่อปี รองลงมาคือโรคมะเร็ง 9.3 ล้านคน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง 4.1 ล้านคน และโรคเบาหวาน รวมถึงโรคไตที่เกิดจากโรคเบาหวานถึง 2 ล้านคน
สถิติของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในประเทศไทย: โรคไม่ติดต่อเรื้อรังคร่าชีวิตคนไทยประมาณ 400,000 รายในแต่ละปี หรือคิดเป็น 74% ของการเสียชีวิตทั้งหมด พร้อมทั้งยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.8 แสนล้านบาทในปี 2556
องค์การอนามัยโลกได้ตั้งเป้าหมายในการลดอัตราผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเนื่องมาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังให้ได้จำนวน 1 ใน 3 ภายในปี 2030
วิธีการลดอัตราการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เป็นต้น
แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย กับความมุ่งมั่นในการนำวิทยาศาสตร์มาต่อยอดและพัฒนา พร้อมช่วยดูแลผู้ป่วยในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี โดยมุ่งเน้นที่ 4 กลุ่มโรคหลัก ได้แก่ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด ไต และเมแทบอลิซึม กลุ่มโรคมะเร็งวิทยา กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบภูมิคุ้มกัน วัคซีน และภูมิคุ้มกันบำบัด และกลุ่มโรคหายาก
ตัวอย่างโครงการของแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ที่จัดทำขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคและปัญหาสุขภาพ เพื่อส่งเสริมการป้องกันโรคผ่านการตรวจคัดกรองเพื่อนำไปสู่กระบวนการวินิจฉัยในระยะเริ่มต้น
-Lung Ambition Alliance เป็นความร่วมมือระหว่างภาคีพันธมิตรระดับนานาชาติร่วมกัน 4 องค์กร ใน 50 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เพื่อศึกษาทำความเข้าใจถึงวิวัฒนาการของโรค พัฒนาเทคนิคระดับก้าวหน้าเพื่อการดูแลรักษาโรคมะเร็งปอด และส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น โดย Lung Ambition Alliance Thailand ได้ทำโครงการนำร่องการตรวจคัดกรองเบื้องต้น (Pre-screening) สำหรับโรคมะเร็งปอดด้วยการใช้เทคโนโลยี AI เสริมกับภาพถ่ายเอกซเรย์ทรวงอก ภายใต้โครงการ Lung Ambition Thailand เพียงเฉพาะที่ดำเนินการกับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2565 มีผู้เข้ารับการตรวจคัดกรองจำนวน 7,318 คน พบความผิดปกติของภาพถ่ายเอกซเรย์ทรวงอกแบบต่างๆ โดยรวมร้อยละ 29.5 พบรอยโรคที่สงสัยก้อนในปอด 586 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 และพบรอยโรคที่สงสัยก้อนในปอดที่มีโอกาสความน่าจะเป็นในการเป็นโรคมะเร็งปอดสูง คิดเป็นร้อยละ 0.3 โดยผู้ป่วยที่ตรวจพบรอยโรคของก้อนในปอดจะได้รับการยืนยันผลโดยรังสีแพทย์ และได้รับการนัดหมายพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาเพิ่มเติมที่โรงพยาบาลต่อไป
-SEARCH เป็นโครงการตรวจคัดกรองภาวะไตเสื่อมในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ภายใต้ความร่วมมือกับสมาคมวิชาชีพ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยบริการสุขภาพต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสการตรวจพบภาวะไตเสื่อมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นซึ่งสามารถให้การดูแลรักษาเพื่อชะลอการเสื่อมของไตได้ทันท่วงที
-Healthy Lung เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และหน่วยงานพันธมิตรจากภาครัฐหลายหน่วยงาน เพื่อสร้างเสริมความตระหนักรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง แก่ภาคประชาชน รวมถึงการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ให้มีองค์ความรู้ที่ทันสมัย การส่งเสริมการเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยและการรักษาของผู้ป่วย และการนำนวัตกรรมมาร่วมพัฒนาศักยภาพของหน่วยบริการสุขภาพเพื่อยกระดับการดูแลผู้ป่วยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
-Young Health Programme เป็นโครงการส่งเสริมสุขภาพเยาวชน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผู้นำเยาวชนต้นแบบในชุมชนให้มีทักษะความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ในระยะยาว และอาศัยพลังของกลุ่มเพื่อนในการเผยแพร่องค์ความรู้ และต่อยอดสู่การปฏิบัติเพื่อการมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง
เพราะอนาคตที่ยั่งยืนขึ้นอยู่กับการที่ประชาชน ชุมชน และโลกมีสุขภาพที่ดีและแข็งแรง แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย พร้อมดูแลสุขภาพของคนไทย และเดินหน้าพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อขยายขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์ในการพัฒนายาและโซลูชันต่างๆ ที่จะเปลี่ยนชีวิตของผู้ป่วย พร้อมยกระดับการดูแลสุขภาพ และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีแก่สังคมทั่วโลก