อันดับความน่าเชื่อถือของ ทรู คอร์ปอเรชั่น กับการวางรากฐานที่แข็งแกร่งเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านโทรคมนาคม-เทคโนโลยีของประเทศ

อันดับความน่าเชื่อถือของ ทรู คอร์ปอเรชั่น กับการวางรากฐานที่แข็งแกร่งเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านโทรคมนาคม-เทคโนโลยีของประเทศ

14 มิ.ย. 2023
ในเดือนมีนาคม 2566 บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) นั้นประสบความสำเร็จในการรวมธุรกิจเป็นบริษัทใหม่ และได้ประกาศเจตนารมณ์ในการสร้างบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีอันดับหนึ่งของประเทศ ซึ่งภายหลังการรวมธุรกิจแล้วเสร็จในนาม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นั้นได้รับการจัดอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ A+ โดยทริสเรทติ้ง
นายนกุล เซห์กัล และนางสาวยุภา ลีวงศ์เจริญ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) (Co-Chief Financial Officer) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถึงความหมายของการจัดอันดับเครดิตองค์กรที่สูงขึ้นต่อเส้นทางอนาคตของบริษัท และการวางรากฐานสู่การเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำของประเทศ
อันดับเครดิต A+
จุดมุ่งหมายหลักในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) ของบริษัทนั้น คือการประเมินแนวโน้มความเสี่ยงที่บริษัทจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด การจัดอันดับเครดิตจึงทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการประเมินความน่าเชื่อถือและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท อีกทั้งช่วยให้นักลงทุนและเจ้าหนี้มีข้อมูลเพียงพอในการประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินการลงทุน หรือการเข้าร่วมพันธมิตรทางธุรกิจ
“ยิ่งอันดับเครดิตสูง บริษัทก็จะยิ่งมีทางเลือกที่มากขึ้นในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยที่ดีกว่า ทำให้ในระยะยาวช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการกู้ยืมและเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงิน คล้ายๆ กับในกรณีของบุคคลทั่วไป การมีอันดับเครดิตที่ดีช่วยให้บุคคลนั้นๆ สามารถเข้าถึงสินเชื่อหรือเงินกู้จากธนาคารได้ในอัตราดอกเบี้ยที่สมเหตุสมผล” นายนกุลอธิบาย
อันดับความน่าเชื่อถือของ ทรู คอร์ปอเรชั่น ภายหลังการควบรวม ถูกจัดให้อยู่ในระดับ A+ โดยทริสเรทติ้ง สถาบันจัดอันดับเครดิตแห่งแรกของประเทศไทยซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2536 ทั้งนี้ การจัดอันดับเครดิตของทริสเรทติ้งจะเริ่มต้นตั้งแต่ AAAไล่ลงไปจนถึง D เรทติ้งดังกล่าวถือเป็นข้อมูลเชิงลึกที่ช่วยให้นักลงทุนทราบถึงสุขภาพทางการเงินและความเสี่ยงของบริษัทที่ตนต้องการเข้าไปลงทุน 
โดยก่อนการควบกิจการ อันดับความน่าเชื่อถือของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUEE อยู่ที่ระดับ BBB+ และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC อยู่ที่ระดับ AA การที่ ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ควบรวมแล้วได้รับการปรับอันดับเครดิตเพิ่มขึ้นสามระดับ จาก BBB+ เป็น A+ นั้น ช่วยให้บริษัทสามารถรีไฟแนนซ์หนี้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง และเข้าถึงสภาพคล่องในตลาดด้วยกลุ่มนักลงทุนที่กว้างขึ้น
ในปี 2565 ตลาดตราสารหนี้หรือ ‘หุ้นกู้’ คิดเป็นมูลค่ารวมราว 1.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า19 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้ บริษัทหลายแห่งมีการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ และจากข้อมูลพบว่าร้อยละ 75 ของมูลค่ารวมนี้สามารถเข้าถึงได้โดยบริษัทที่มีอันดับเครดิตที่ระดับ A หรือสูงกว่า 
ทำทุกสิ่งให้เหนือความคาดหมาย
การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทใหม่ ซึ่งเกิดจากการหลอมรวมกิจการระหว่างทรู-ดีแทคนั้น ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการประสานจุดแข็งด้านการเงินของทั้งสองบริษัทภายหลังการควบรวม ตำแหน่งทางการตลาด (market position) ที่แข็งแกร่งในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ เสริมทัพด้วยโครงข่ายทั่วประเทศ ชุดคลื่นความถี่ที่ครอบคลุม และชื่อแบรนด์ที่ผู้บริโภคคุ้นเคย
ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจัยด้านเศรษฐกิจระดับมหภาค อาทิ ตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของ GDP ประเทศไทย อันเนื่องมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ยังมีส่วนช่วยให้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ A+ 
อย่างไรก็ดี ในการประเมินอันดับความน่าเชื่อถือนั้นได้มีการนำปัจจัยเรื่องความท้าทายจากการแข่งขันที่มีความรุนแรงในตลาดโทรคมนาคม ภาระหนี้สิน และความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากกระบวนการรวมกิจการ มาประเมินร่วมด้วย
“การจัดอันดับเครดิตบริษัทนั้นเป็นเสมือนจุดอ้างอิงให้กับนักลงทุนในการประเมินความเสี่ยงและผลตอบแทน ยิ่งอันดับเครดิตสูง ความเสี่ยงก็ยิ่งต่ำ และในระยะยาวนั้นจะช่วยลดต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มที่มากขึ้นให้แก่ผู้ถือหุ้น” นางสาวยุภาอธิบาย
ทั้งนี้ จากการอธิบายเพิ่มเติมโดยนางสาวยุภา ทริสเรทติ้งมีการจัดอันดับเครดิตโดยพิจารณาจากมุมมองและแนวโน้มในอนาคตเป็นหลัก ซึ่งทริสเรทติ้งนั้นเชื่อว่าการรวมกิจการในครั้งนี้จะนำมาซึ่งโอกาสมากมายจากการประสานพลัง(synergy) ของสองบริษัท 
“เพื่อรักษาอันดับเครดิตนี้ไว้ เราต้องทำทุกอย่างให้ได้ตามเป้าหมายและแผนธุรกิจที่วางไว้ การทำสิ่งต่างๆ ให้เหนือความคาดหมายของลูกค้า ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จะช่วยปูทางไปสู่การจัดอันดับเครดิตที่ดียิ่งขึ้นในอนาคต ซึ่งทุกคนในบริษัทล้วนมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนการดำเนินงานและเป้าหมายด้านกลยุทธ์ของเราด้วยการทำสิ่งต่าง ๆ ที่เหนือความคาดหมายอย่างต่อเนื่อง”เธอกล่าวเสริม
สร้างรากฐานที่แข็งแกร่ง
ด้วยภารกิจที่ล้นมือ ทำให้ Co-CFO ทั้งสองคนต้องแบ่งบทบาทความรับผิดชอบอย่างชัดเจนเพื่อให้สามารถมุ่งดูแลส่วนงานเฉพาะด้านได้อย่างราบรื่นมากที่สุด อย่างไรก็ดี ความร่วมมือและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการบรรลุประโยชน์ทางการเงิน (financial synergies) 
เพื่อให้บริษัทสามารถเดินหน้าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ และสร้างคุณค่า (value creation) อย่างต่อเนื่อง อันจะนำมาซึ่งความสำเร็จในระยะยาว
“ในการรวมธุรกิจ ความร่วมมือและการเรียนรู้ซึ่งกันและกันเป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก เพื่อเราจะได้เข้าใจเกี่ยวกับภาพรวมธุรกิจของบริษัท จากนั้นเราจึงค่อยจัดสรรบทบาทความรับผิดชอบให้สอดคล้องกับทักษะความเชี่ยวชาญของแต่ละคน การทำเช่นนี้ช่วยให้เราทั้งคู่มีจุดมุ่งหมายการทำงานที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนบริษัทแห่งนี้ไปสู่อนาคต” นายนกุล กล่าว
บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้กำหนดเป้าหมายในการเปลี่ยนผ่านองค์กร ภายใต้วิสัยทัศน์ในการก้าวไปเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำของประเทศไทย ที่จะยกระดับวิถีชีวิตของผู้คนนับล้าน อย่างไรก็ดี หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงินทั้งสองคนก็เน้นย้ำถึงภารกิจเบื้องหน้าในการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่ง การมุ่งยกระดับผลการดำเนินงาน และการบริหารจัดการทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ
“ด้วยรากฐานที่แข็งแกร่ง เราจะสามารถขับเคลื่อนบริษัทแห่งนี้ในฐานะผู้นำด้านโทรคมนาคม-เทคโนโลยีที่เปี่ยมด้วยศักยภาพในการลงทุนเพื่ออนาคต แต่การจะทำเช่นนั้นได้ เราต้องให้ความสำคัญกับยกระดับการดำเนินงานขององค์กร การมุ่งใช้ประโยชน์สูงสุดจากการประสานพลัง (synergy) และการเพิ่มความสามารถในการทำกำไร” นางสาวยุภากล่าว
หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงินทั้งสองต่างตระหนักดีถึงความท้าทายในการหลอมรวมสององค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งมีวัฒนธรรมและวิถีการทำงานที่แตกต่างกัน ทั้งคู่จึงให้ความสำคัญกับการทำงานที่เป็นหนึ่งเดียวและตั้งอยู่บนจุดมุ่งหมายเดียวกัน เพื่อส่งมอบคุณค่าให้แก่บรรดาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสังคมโดยรวมผ่านการบรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 
“เรามุ่งมั่นที่จะสร้างความแตกต่างที่มีความหมายให้กับบริษัทและสังคม นี่คือสิ่งที่ขับเคลื่อนเราสองคนในทุกๆ วัน” ทั้งคู่ทิ้งท้าย
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.