CEO ของ Agoda มองกรุงเทพฯ จะกลายเป็น “ซิลิคอนแวลลีย์” แห่งใหม่ ของเอเชีย
12 พ.ค. 2023
Omri Morgenshtern ซึ่งเป็น CEO ของ Agoda แพลตฟอร์มจองห้องพักและการท่องเที่ยวระดับโลก ซึ่งธุรกิจมีจุดเริ่มต้นจากสำนักงานที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ
ได้เผยแพร่ Blog บนเว็บไซต์ LinkedIn ถึงกล่าวถึงแนวโน้มการทำงาน สายเทคโนโลยี ในกรุงเทพฯ ไว้ได้อย่างน่าสนใจ
โดยใจความสำคัญที่สำคัญที่สุด ก็คือ ในอนาคตตัวเขามองว่า กรุงเทพฯ อาจกลายเป็น “ซิลิคอนแวลลีย์” แห่งใหม่ ของเอเชีย
Omri เริ่มต้นด้วยการเล่าว่า ในปี 2013 เขาเองก็เคยตั้งคำถามเช่นเดียวกัน ว่าทำไม Agoda จึงมีการพัฒนาหลัก ๆ อยู่ในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ Omri ยอมรับว่า กรุงเทพฯ ได้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลต่อความสำเร็จของ Agoda ในทุกวันนี้
โดยในปัจจุบันสำนักงานของ Agoda ในกรุงเทพฯ มีจำนวนพนักงานมากกว่า 3,000 คน และในจำนวนนี้ กว่า 1,500 คน เป็นคนทำงานในสายเทคโนโลยี
นั่นทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นฐาน “ปฎิบัติการ” ที่ใหญ่ที่สุด และเติบโตเร็วที่สุดของ Agoda
Omri ยังระบุด้วยว่า การที่จะเรียกว่า กรุงเทพฯ เป็น “ซิลิคอนแวลลีย์” ไม่ใช่แค่คำเรียกธรรมดา ๆ เท่านั้น
เพราะพนักงานที่ทำงานสายเทคโนโลยีของ Agoda มาจากบริษัทระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Google, Meta หรือแม้แต่ OpenAI
และการที่กรุงเทพฯ มีที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากเมืองเทคโนโลยีหลักของโลก เช่น ซานฟรานซิสโก, นิวยอร์ก, ลอนดอน และเทลอาวีฟ
ทำให้คนที่ทำงานในกรุงเทพฯ มีแรงผลักดัน อยากพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เทียบเท่าเมืองเทคโนโลยีหลักของโลก
หรือที่ Omri เรียกว่า เป็นความรู้สึก Fear of Missing Out (FOMO)..
นอกจากนี้ Omri ยังได้สรุปปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นหนึ่งในสูตรความสำเร็จ ของ Agoda ด้วยว่า
1. กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เต็มไปด้วย “คนเก่ง”
Omri ให้ความเห็นว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่ดี เป็นเมืองที่มีคนเก่ง มีความทะเยอทะยาน และมุ่งมั่น ซึ่งเป็นทัศนคติที่มีความสำคัญ
นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ยังเป็นแหล่งรวบรวมคนที่มีความสามารถ และความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ จากทั่วทุกมุมโลก
2. กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ผสมกลมกลืน ระหว่างโลกตะวันตก และตะวันออก
ซึ่ง Omri ระบุว่า การที่ Agoda มีทั้งพนักงานที่มาจากซีกโลกตะวันตก และตะวันออก คือความหลากหลาย ที่นำไปสู่ “ไอเดีย” และความรู้ใหม่ ๆ
และหากมีการจัดการอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้เกิดเป็นการปฎิบัติ หรือผลลัพธ์ ที่ดียิ่งขึ้น
3. กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีโครงสร้างพื้นฐานดี
สิ่งที่ Omri เน้นย้ำ คือประสบการณ์ของเขา ที่ได้ร่วมทำงานกับหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง ที่มีความพยายามผลักดัน ให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองศูนย์กลางทางเทคโนโลยี
ทั้งให้การสนับสนุน การดึงดูด รวมถึงการรักษาคนเก่ง ๆ เอาไว้ พร้อมกับการมีโครงการเสริมสร้างทักษะ รวมถึงขับเคลื่อนนวัตกรรมภายในกรุงเทพฯ
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ Omri ยังมองด้วยว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีการเติบโตของ “คอมมูนิตี้” ของธุรกิจสตาร์ตอัป
สภาพแวดล้อมต่าง ๆ มีความเหมาะสมสำหรับการสร้างนวัตกรรม รวมถึงดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนในด้าน R&D จากต่างชาติ
แถมในตอนท้ายของ Blog นี้ Omri ปิดท้ายด้วยไว้ว่า “เขาเชื่อเป็นอย่างยิ่ง ว่ากรุงเทพฯ จะได้รับการกล่าวถึงในระดับเดียวกับ ซานฟรานซิสโก เซี่ยงไฮ้ และเทลอาวีฟ ในอนาคตอันใกล้นี้” อีกด้วย..