“เซ็นทรัล ทำ” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาสิ่งแวดล้อม ต่อยอดสู่การท่องเที่ยวยั่งยืน
29 มี.ค. 2023
“เซ็นทรัล ทํา” ทำด้วยกัน-ทำด้วยใจ ภายใต้โครงการเพื่อความยั่งยืนของ กลุ่มเซ็นทรัล ดําเนินงานโดยมุ่งเน้นการลดความเหลื่อมลํ้า ให้โอกาสทุกคนในสังคมด้วยการ พัฒนาด้านการศึกษาสู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้ ส่งเสริมอาชีพคนพิการ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้มั่นคง แบ่งปันความรู้ทักษะต่าง ๆ สนับสนุนช่องทางการสื่อสารทางการตลาด พร้อมกับการรักษาและดูแลสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่โลกสีเขียว ขับเคลื่อนทุกภาคส่วนสู่การท่องเที่ยวยั่งยืน
คุณพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า ความสำเร็จและเป้าหมายของโครงการ “เซ็นทรัล ทำ” ในปี 2565 สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชน 1,500 ล้านบาท, เพิ่มพื้นที่สีเขียวและฟื้นฟูป่า 5,519 ไร่, ลดขยะจากการรีไซเคิลและการนำมาใช้ประโยชน์ได้กว่า 10,000 ตัน, ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคากว่า 101 แห่ง, ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 71,500 เมกะวัตต์-ชั่วโมง
และในปี 2566 ตั้งเป้าหมายในการสร้างรายได้ให้ชุมชน 1,800 ล้านบาทต่อปี เดินหน้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวและฟื้นฟูป่า 6,500 ไร่ มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2050 ภายใต้การขับเคลื่อน 6 แนวทางการลงมือทำเพื่อความยั่งยืนผ่าน 7 โครงการไฮไลต์
7 โครงการไฮไลต์ 2565 ต่อเนื่อง 2566 มุ่งสู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้ และต่อยอดสู่การท่องเที่ยวยั่งยืน
1)จริงใจ มาร์เก็ต จ. เชียงใหม่ ในย่าน “จริงใจ เซ็นทรัล เชียงใหม่” ของกลุ่มเซ็นทรัล การท่องเที่ยวชุมชนเชิงวิถีเกษตรอินทรีย์ ได้เริ่มต้นตั้งแต่ ปี พศ 2555 รวมพื้นที่ทั้งหมดมากกว่า 28 ไร่ โดยภายในตลาดแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ อาหาร (Food) ศิลปะและงานออกแบบ (Art & Design) งานฝีมือ (Craft) และยังมีร้าน Tops Green สโตร์สีเขียวแห่งแรก รวมไปถึงร้าน Good Goods สินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นผลิตภัณฑ์แบรนด์ไทยที่ผ่านการพัฒนาคุณภาพและออกแบบให้มีความร่วมสมัยที่เน้นสร้างความสุขอย่างยั่งยืนทั้งแก่ผู้คนในชุมชน และนักท่องเที่ยว
ซึ่งสามารถช่วยสร้างเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวให้กับเศรษฐกิจไทยได้กว่า 40 ล้านบาทต่อปี สำหรับตลาดจริงใจ เป็นตลาดปลอดโฟม (No foam 100%) รณรงค์ให้ลูกค้านำกระเป๋าผ้ามาใส่สินค้าเพื่อลดขยะพลาสติก มีจุดตั้งถังขยะแยกประเภทภายในโครงการ เพื่อส่งต่อไปในกระบวนการจัดการขยะที่ถูกต้องได้ง่ายขึ้น ตามเป้าหมายโครงการ Journey to Zero ของกลุ่มเซ็นทรัล
ซึ่งปัจจุบันได้ลดขยะอาหารไปสู่หลุมฝังกลบได้กว่า 43,000 กิโลกรัม และมีการติดตั้งเครื่องผลิตปุ๋ยหมักและก๊าซชีวภาพ (COWTEC ) เมื่อปี 2565 ภายในตลาดด้วยการนำเศษอาหารที่เกิดจากตลาดมาทำเป็นปุ๋ยและก๊าซชีวภาพ และมากไปกว่านั้น ภายในจริงใจมาร์เก็ตยังมีการปูพื้นถนนบางส่วนด้วยบล็อกปูถนนรีไซเคิลจากถุงพลาสติก ซึ่งเป็นนวัตกรรมในการจัดการขยะพลาสติกให้หมุนเวียนและเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนอีกด้วย ทั้งนี้ในระหว่าง มิถุนายน ปี 2565 - กลางเดือน มีนาคม ปี 2566 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวภายในตลาดจริงใจ เชียงใหม่ กว่า 820,000 ราย
2)ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี จ. ตรัง การท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรม ซึ่งมีความโดดเด่นทั้งทางด้านวัฒนธรรมและความงดงามทางธรรมชาติ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่กลุ่มเซ็นทรัลให้การสนับสนุนก่อสร้าง “พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี” เพื่อรวบรวมผ้าทอมือโบราณที่มีประวัติยาวนานกว่า 200 ปี พร้อมทั้งสืบสานลายอัตลักษณ์โบราณ ในปี 2565 ที่ผ่านมา สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 7.3 ล้านบาท และมีจำนวนสมาชิกชุมชนที่เข้าร่วม 155 คน ปัจจุบัน “ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี” นับได้ว่าเป็นต้นแบบของศูนย์การเรียนรู้การอนุรักษ์เชิงวัฒนธรรม ในแต่ละเดือนจะมีหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน แวะเวียนไปดูงานอย่างสม่ำเสมอ โดยในปี 2566 ได้มีการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวและป้ายข้อมูล เพื่อให้นักท่องเที่ยวทราบเเหล่งข้อมูลท่องเที่ยวในชุมชน และอบรมความรู้เรื่องการท่องเที่ยวชุมชน ให้กับชุมชนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยว
3)ศูนย์การเรียนรู้พุทธนิเวศเกษตรอินทรีย์ ไร่เชิญตะวัน จ.เชียงราย การท่องเที่ยวชุมชนเชิงวิถีเกษตรอินทรีย์ เซ็นทรัล ทำ ร่วมมือกับพระเมธีวชิโรดม (ท่าน ว.วชิรเมธี) ผู้ก่อตั้งศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน จังหวัดเชียงราย และภาคีเครือข่าย ต่อยอด โครงการพุทธนิเวศเกษตรอินทรีย์ ไร่เชิญตะวัน ผลักดันสู่ “ต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ด้านนวัตกรรมการทำเกษตรอินทรีย์” เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับชาวไร่ชาวนาในการทำเกษตรแบบบริสุทธิ์ ปลอดสารเคมี และเน้นใช้เกษตรทฤษฎีใหม่ พัฒนาวิสาหกิจชุมชน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืน บนพื้นที่ 2 ไร่ เปิดสอนตั้งแต่ ปี 2556 มีทั้งหมด 13 รุ่น และในปี 2566 เซ็นทรัล ทำ ตั้งเป้าในการพัฒนาพื้นที่เกษตรอินทรีย์เพิ่มเติม 13 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ปลูกไม้ผล พืชเศรษฐกิจ จำนวน 3 ไร่ และพื้นที่ปลูกผักสวนครัว สมุนไพรพื้นบ้าน จำนวน 10 ไร่
4)ชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีชีวิตยั่งยืนแม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ การท่องเที่ยวชุมชนเชิงวิถีเกษตรอินทรีย์ เซ็นทรัล ทำ ร่วมกับ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน (Earth Net Foundation) และหน่วยงานมากมายในการส่งเสริมและสนับสนุนด้านต่าง ๆ ดำเนิน โครงการพื้นที่วิถีชีวิตยั่งยืนแม่ทา เป็นโครงการต้นแบบ บนพื้นที่จำนวน 9 ไร่ ที่มุ่งหวังให้สมาชิกคนรุ่นใหม่รวมกลุ่มกันจัดสรรพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ด้านต่าง ๆ และยังสนับสนุนโครงการพื้นที่ข่วงชีวิต วิถียั่งยืน เพื่อรองรับกิจกรรมรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับการทำเกษตรแบบยั่งยืนในปัจจุบัน นอกจากนี้เซ็นทรัลทำยังได้พัฒนาศักยภาพในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรได้มากขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ผลักดันให้เป็นชุมชนต้นแบบด้านเกษตรอินทรีย์ เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับการเกษตรอินทรีย์และวิถีชีวิตยั่งยืน ทำการก่อสร้างที่พักโฮมสเตย์ภายในพื้นที่ทั้งหมดจำนวน 4 หลัง เพื่อขยายศูนย์การเรียนรู้ให้กับนักท่องเที่ยวและเกษตรกรเพื่อเข้ามาใช้ชีวิตใกล้ชิดกับชุมชนได้ โดยในปี 2565 สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชน มากกว่า 5 ล้านบาท
5)กาแฟรักษาป่า ภูชี้เดือน จ.เชียงราย การท่องเที่ยวชุมชนเชิงนิเวศ กาแฟอินทรีย์ รักษาป่า ภูชี้เดือน กาแฟอาราบิก้าออร์แกนิกบริสุทธิ์จากธรรมชาติ ปลูกด้วยความใส่ใจใต้ต้นไม้ที่เรารักษาไว้เพื่อร่มเงาที่เหมาะสม สำหรับการเติบโตของต้นกาแฟและเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมกับชุมชน เซ็นทรัล ทำ ได้เข้าไปส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟอินทรีย์รักษาป่าภูชี้เดือน จังหวัดเชียงราย สนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ภูชี้เดือนปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกจากเกษตรแบบเชิงเดี่ยวและใช้สารเคมี มาเป็นการปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าแท้ โดยการคัดต้นพันธุ์แท้ ทริปปิก้า มัลเดอริ่ง จากต่างประเทศ มาปลูกในผืนป่าธรรมชาติบนพื้นที่ภูชี้เดือน เป็นการปลูกกาแฟรักษาป่ากว่า 1,500 ไร่ และ ในปี 2565 ที่ผ่านมา สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนมากกว่า 6 ล้านบาท มีสมาชิกเข้าร่วมกว่า 84 ราย
6)ชุมชนผ้าย้อมครามบ้านกุดจิก จ.สกลนคร การท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรม เซ็นทรัล ทำ ร่วมมือกับ กรมพัฒนาชุมชน เข้าไปสนับสนุนพัฒนากลุ่มทอผ้าบ้านกุดจิก โดยให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างชุมชนและองค์กร ร่วมกันหาจุดเด่น และเอกลักษณ์ ที่ทั้งฝ้ายและสีธรรมชาติ นั้นทำการปลูกเอง ครามก็ปลูกเอง ความสามารถที่แตกต่างของชุมชนนี้ กลุ่มเซ็นทรัล นำมาพัฒนา พร้อมถ่ายทอดทักษะความรู้และความเชี่ยวชาญที่เซ็นทรัลมี เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมด้านการขายและการตลาด เพื่อสร้างรายได้และสร้างอาชีพให้กับคนท้องถิ่น ด้วยการสร้างลวดลายใหม่ สนับสนุนโรงย้อมผ้า สนับสนุนช่องทางการจำหน่าย และนำผ้าครามสกลฯ มาพัฒนาเป็นสินค้าหลากหลายแบบภายใต้แบรนด์ “กู๊ด กู๊ดส์” Good Goods เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนและสืบสานวัฒนธรรมการทอผ้าให้คงอยู่ ในปี 2565 เซ็นทรัล ทำ ได้สร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 1 ล้านบาท ต่อปี ซึ่งมีชุมชนเข้าร่วมทั้งหมด 30 คน
7)ศูนย์การเรียนรู้พัฒนาผลผลิตการเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชน บ้านเทพพนา อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ การท่องเที่ยวชุมชนเชิงวิถีเกษตรอินทรีย์ เป็น 1 ใน 7 ของผู้ปลูกอะโวคาโด พันธุ์แฮสส์ในประเทศไทย ผลผลิตหลักคือ อะโวคาโด พันธุ์แฮสส์ แมกซิโก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ดีที่สุดในโลก จุดเริ่มต้นจากการปลูกอะโวคาโด สายพันธุ์แฮสส์ สู่การทำเกษตรอย่างยั่งยืน ช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ด้วยความตั้งใจที่จะปลูกพืชเศรษฐกิจ ที่มีมูลค่าสูงและเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ และได้ทำการขยายผลเครือข่ายผู้ปลูกอะโวคาโด จำนวน 1,000 ราย (พื้นที่เพาะปลูก 2,000 ไร่) ทั้งนี้ โครงการ เซ็นทรัล ทำ โดยกลุ่มเซ็นทรัล ได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วยการ พัฒนาต่อยอดด้านท่องเที่ยวชุมชนเชิงวิถีเกษตรอินทรีย์ โดยจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวร่วมกับสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา จ.ชัยภูมิ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา ชุมชนมีสมาชิกกว่า 400 ราย มีรายได้กว่า 3 ล้านบาท ตั้งเป้าเพิ่มสมาชิกปีละ 100 ราย
นอกจากนี้ เซ็นทรัล ทำ ยังมุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสด้านการศึกษา พัฒนาทรัพยากรบุคคล ส่งเสริมและสร้างอาชีพให้แก่คนพิการ ให้สามารถเลี้ยงดูตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งในปี 2565 เซ็นทรัล ทำ ได้ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้แบบ Project-based Learning ผ่านการลงมือปฏิบัติจริงในฐานการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้จัดทำให้เป็นศูนย์การเรียนรู้แล้ว 47 แห่ง
ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรการศึกษา พัฒนาทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเปิดโอกาสในการจ้างงาน ขยายแนวทางการจัดทำโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา 5 สถานศึกษา มีผู้เรียนรวมจำนวน 10,527 คน ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด
ทำการอบรมโค้ชครู เพื่อเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนแบบท่องจำ ให้เป็นการเรียนรู้ร่วมกันอย่างมีความสุข โดยฝึกอบรมและพัฒนาครูผู้สอนให้มีทักษะการโค้ช ส่งเสริมให้นักเรียนกล้าคิด กล้าถาม กล้าทำ กระตุ้นให้นักเรียนได้ใช้ศักยภาพสูงสุด ครูผู้เข้าอบรมจำนวน 89 คน จาก 11 โรงเรียน ครอบคลุม 8 จังหวัด
ส่งเสริมและสร้างอาชีพเพิ่มโอกาสในการทำงานแก่คนพิการ เซ็นทรัล ทำ ได้เข้าไปพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยการออกแบบและปรับปรุงพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้เอื้อต่อการใช้ชีวิต และส่งเสริมทักษะอาชีพให้กับคนพิการ (People with Disabilities) โดยการแบ่งปันความรู้ สอนทักษะและสร้างอาชีพ เพื่อฟื้นฟูศักยภาพ และสร้างรายได้ให้กับคนพิการอย่างยั่งยืน เราจึงส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการนอกจากร่วมกับมูลนิธิพระมหาไถ่ และเปิดโอกาสโดยการรับเป็นพนักงานประจำกว่า 80 คน ที่ ศูนย์ Contact Center ยังมีการส่งเสริมการสร้างงานให้กับสมาคมรวมใจคนพิการ จังหวัดอุดรธานี ผ่านโครงการสานตะกร้า และนำมาจำหน่ายในร้าน Good Goods
ซึ่งจากปี 2022 สามารถสร้างรายได้กลับไปให้กับสมาคมได้ทั้งหมด 2,256,420 บาท ตั้งแต่ปี 2562 - 2565 สร้างอาชีพแก่คนพิการกว่า 45 คน ทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รายได้เฉลี่ยของคนพิการในโครงการสนับสนุนอาชีพ สานตะกร้าพลาสติกอยู่ที่ 15,000 ต่อคน ต่อเดือน คนพิการเหล่านี้ นอกจากรายได้ที่มั่นคงแล้ว สิ่งสำคัญคือ การได้รับการยอมรับจากคนในสังคม การได้มีส่วนช่วยเหลือ แบ่งปันแก่ผู้อื่น ปัจจุบัน ได้มีการต่อยอด อบรมการสานตะกร้าแก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาส และ ผู้สูงอายุใน จ.อุดรธานี ให้ได้มีรายได้ และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอีกด้วย
เซ็นทรัล ทำ เกิดจากการร่วมมือกันของทุกฝ่าย ลงมือทำเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องพร้อมกับหาแนวทางการอยู่ร่วมกันของการท่องเที่ยวกับท้องถิ่น ทำเพื่อให้เกิดการพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบที่จะสามารถนำไปต่อยอดให้แก่จังหวัดรอบข้าง ด้วยความแข็งแรงของชุมชน มุ่งไปสู่การท่องเที่ยวยั่งยืนที่เน้นคุณค่าและความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่พร้อมรับผิดชอบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนไปพร้อมกัน
Tag:เซ็นทรัล ทำ