ในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกปัจจุบัน การสร้างแบรนด์จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจได้อย่างไร
17 ก.พ. 2023
ในสภาวะการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งจากการเผชิญสภาวะ VUCA คือ ความเปราะบาง (Volatile) ความไม่แน่นอน (Uncertain) ความซับซ้อน (Complex) และยากจะคาดเดา (Ambiguous) ทางด้านการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจทั้งในและต่างประเทศเกิดความผันผวน นักธุรกิจและผู้ประกอบการต่างต้องปรับตัวให้ตอบสนองต่อลักษณะตลาด และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกันต้องมองหาโอกาสและช่องทางทางการตลาดใหม่ๆ เพื่อให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้และสำเร็จอย่างยั่งยืนในอนาคต
Keyword สำคัญที่จะทำให้ธุรกิจภายใต้สภาพเศรษฐกิจที่มีความผันผวน และชลอตัวจากปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้นี้ คงหนีไม่พ้น “การปรับตัว” ที่สอดคล้องกับ “ความต้องการของตลาดหรือผู้บริโภค” นั่นเอง แต่หากธุรกิจทั้งหมดบนโลกใบนี้ พิจารณาและทำแผนกลยุทธ์ทางการตลาดเพียงแค่ 2 สิ่งดังกล่าวข้างต้น คงหนีไม่พ้นการแข่งขันทางการตลาดในสภาวะ Red Ocean ที่ห้ำหั่นส่วนแบ่งทางการตลาดด้วยการกำหนดราคา ดังนั้น การสร้างความโดดเด่นและแตกต่างให้สินค้าและบริการที่อยู่ใน Ocean เดียวกันจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพื่อสร้างอัตลักษณ์และมูลค่าเพิ่ม (Value Creation) ให้แก่ผลิตภัณฑ์ของตน ควบคู่ไปกับการพัฒนาสินค้าและบริการให้อยู่ในกระแสแนวโน้มของตลาดโลก เช่น สิ่งแวดล้อม สังคม นวัตกรรมและความยั่งยืน เป็นต้น เพื่อเป็นปัจจัยในการดึงดูดความสนใจและสร้างความภักดีแก่ลูกค้าเพื่อให้เกิดการซ้ำและบอกต่อ เพื่อให้ธุรกิจดำรงในตลาดได้อย่างยั่งยืน
การสร้างแบรนด์ (Branding) จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ รวมถึงการวางตำแหน่งทางการตลาด (Positioning) ของแบรนด์เพื่อกำหนดเป้าหมายความสำเร็จในการรักษาฐานลูกค้าเดิมและขยายฐานลูกค้ารายใหม่ โดยมุ่งเป้าให้เกิดการภักดีแบรนด์และสินค้าในระดับสูง และพัฒนาต่อยอดจนเกิดเป็นความผูกพันเป็นแบรนด์ในดวงใจ เกิดการซื้อซ้ำและบอกต่ออย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ นอกจากการสร้างแบรนด์ในระดับองค์กรธุรกิจแล้ว มีหลายประเทศที่พยายามสร้างและพัฒนาแบรนด์ในระดับ National Branding เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ รวมถึงประเทศไทย เพื่อสร้างภาพลักษณ์และยกระดับในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการของประเทศให้เป็นที่ยอมรับและไว้วางใจในตลาดสากล
สำหรับประเทศไทยเอง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ก็ได้มีการสร้างและพัฒนาตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark (T Mark) มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี เพื่อให้เป็นตราสัญลักษณ์แห่งแบรนด์ประเทศไทยในด้านสินค้าและบริการที่ได้รับความไว้วางใจจากนักธุรกิจและผู้บริโภคจากทั้งในและต่างประเทศว่ามีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งในมิติการเป็นแหล่งผลิตที่มีคุณภาพ มีการจัดการแรงงานอย่างเป็นธรรม รวมถึงมีการดำเนินงานที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ตอบโจทย์ต่อแนวโน้มเทรนด์การตลาดในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญต่อกระแสต่างๆ อาทิ Corporate Social Responsibility (CSR), Environmental Issues, BCG (Bio-Circular-Green Economy) และ Sustainable Development Goals (SDGs) เป็นต้น
สำหรับท่านที่สนใจเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิก T Mark สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.thailandtrustmark.com หรือ 02-507-8266
รวมถึงติดตามข่าวสารกิจกรรมดีๆ ของ T Mark ได้ทางเพจเฟสบุ๊ค Thailand Trust Mark คลิ๊กลิงก์ https://www.facebook.com/Tmark.DITP