Shake Shack ธุรกิจฟาสต์ฟูด มูลค่า 8 หมื่นล้าน ที่มีจุดเริ่มต้น จากการเป็น “แผงลอย” ในสวนสาธารณะ
16 ก.พ. 2023
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ หลาย ๆ คนอาจเคยได้เห็นข่าวกันมาบ้างแล้วว่า “Shake Shack” ร้านอาหารฟาสต์ฟูด สัญชาติอเมริกัน ที่ได้รับความนิยม และกลายเป็นที่พูดถึงของคนทั่วโลก
กำลังจะมา “ปักหมุด” ในประเทศไทย ด้วยการเปิดสาขาแรก ที่ศูนย์การค้า CentralWorld ในช่วงเดือนมีนาคมนี้
ซึ่งในความจริงแล้ว กระแสของ Shake Shack ในประเทศไทย ได้รับการพูดถึงมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ได้เดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ
จึงมีโอกาสได้ลิ้มลองเมนูของ Shake Shack ซึ่งมีความแปลกใหม่ ไม่เหมือนกับอาหารฟาสต์ฟูดของร้านอื่น ๆ ที่เคยได้ชิมมา
รวมถึงมีการรีวิวของบรรดาอินฟลูเอนเซอร์ หรือยูทูบเบอร์ “สายกิน” จำนวนมาก
ยิ่งทำให้คนไทย ตั้งหน้าตั้งตารอคอย วันที่ Shake Shack จะเข้ามาเปิดสาขาแรกในไทย กันอย่างใจจดใจจ่อ..
ในบทความนี้ MarketThink จะขอพาไป “อุ่นเครื่อง” รอการมาของ Shake Shack ซึ่งจะมาเปิดสาขาแรกในประเทศไทย ในช่วงเดือนมีนาคมนี้
ด้วยการพาไปทำความรู้จักกับ จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของร้านอาหารฟาสต์ฟูดแห่งนี้กัน
ก่อนอื่น ต้องปูพื้นกันก่อนว่าในปัจจุบัน Shake Shack เป็นเชนร้านอาหารฟาสต์ฟูด ที่ใหญ่ไม่น้อย
เพราะจากข้อมูลในปัจจุบัน พบว่า Shake Shack มีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 402 แห่ง ใน 16 ประเทศทั่วโลก
และเป็นบริษัท ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก มีมูลค่าบริษัทประมาณ 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 82,000 ล้านบาท)
โดยเฉพาะในปี 2021 Shake Shack มีรายได้กว่า 739.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 25,300 ล้านบาท)
แม้วันนี้ Shake Shack จะเป็นร้านอาหารฟาสต์ฟูดที่มีรายได้ในระดับ “หมื่นล้านบาท”
แต่ในความจริงแล้ว รู้ไหมว่าความยิ่งใหญ่ของ Shake Shack มีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็น “แผงลอย” เล็ก ๆ ที่ขายฮอตด็อก ที่สวนสาธารณะ Madison Square Park ในมหานครนิวยอร์ก
คำถามที่เกิดขึ้นคือ ทำไมร้านอาหารฟาสต์ฟูดอย่าง Shake Shack จึงมีจุดเริ่มต้นจากการเป็นแผงลอย..
คำตอบก็เป็นเพราะ ในช่วงเวลานั้นสวนสาธารณะ Madison Square Park กำลังตกอยู่ในสภาพทรุดโทรมอย่างหนัก และถูกนำไปใช้ประโยชน์โดยไม่ถูกต้อง
ทำให้ทางการนิวยอร์ก ต้องการปรับปรุงสวนสาธารณะแห่งนี้ใหม่ ซึ่งรวมถึงการใช้สวนสาธารณะแห่งนี้ในการเป็นแหล่งจัดแสดงงานศิลปะชนิดต่าง ๆ ด้วย
และนี่เองจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้ในปี 2001 คุณ Danny Meyer เชฟที่มีชื่อเสียงของนิวยอร์ก รวมถึงนักธุรกิจทางด้านอาหาร ตัดสินใจเปิดร้านขายอาหารในรูปแบบแผงลอย เพื่อช่วย “ระดมทุน” สำหรับการปรับปรุงสวนสาธารณะ และติดตั้งงานศิลปะต่าง ๆ ที่จะนำมาจัดแสดง
โดยอาหารที่นำมาขาย ก็คือฟาสต์ฟูดในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฮอตด็อก และแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งได้รับการปรุง โดยอาศัยครัวของร้านอาหารในละแวกนั้นที่คุณ Danny Meyer เป็นเจ้าของ
หลังจากระยะเวลาผ่านไปไม่นาน ด้วยทำเลของ Madison Square Park ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีอาคารสำนักงานจำนวนมาก จึงทำให้ Shake Shack ได้รับความนิยมจากคนนิวยอร์กอย่างรวดเร็ว
จนก้าวข้ามความเป็นแผงลอยเล็ก ๆ ในสวนสาธารณะไปอย่างสิ้นเชิง
เพราะในที่สุด คุณ Danny Mayer ได้ตัดสินใจที่จะปรับปรุง Shake Shack จากร้านแผงลอย ให้กลายเป็นร้านถาวร ในปี 2004 โดยยังคงตั้งอยู่ที่สวนสาธารณะ Madison Square Park เช่นเดิม
นอกจากนี้ ความนิยมของ Shake Shack สาขาแรก ยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น เพราะชาวนิวยอร์กจำนวนมาก ต่างต้องรอคิวเป็นเวลานาน ๆ
ในบางครั้ง หากใครต้องการอุดหนุนอาหารฟาสต์ฟูดจากร้าน Shake Shack อาจต้องต่อคิวนานอย่างน้อย ๆ 2-3 ชั่วโมง เลยทีเดียว
ครั้งหนึ่ง Shake Shack ถึงกับต้องติดกล้องเพื่อ “ถ่ายทอดสด” ให้เห็นถึงจำนวนคนที่กำลังต่อคิวอยู่ที่หน้าร้านกันเลย..
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของ Shake Shack คงไม่สามารถหยุดอยู่ที่สวนสาธารณะ Madison Square Park เพียงแห่งเดียวได้
ต่อมาในปี 2006 Shake Shack ได้ตัดสินใจ เปิดสาขาที่สอง ในนิวยอร์กเป็นครั้งแรก ซึ่งตั้งอยู่ที่ Columbus Avenue ทางด้านทิศตะวันตกของเมือง
รวมถึงในช่วงเวลาหลังจากนั้นไม่กี่ปี Shake Shack ได้ทำการทยอยเปิดสาขาใหม่ ๆ กระจายตัวไปทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา
และในวันที่ 29 มกราคม 2015 Shake Shack ยังประสบความสำเร็จไปอีกขั้น สู่การเป็นบริษัทมหาชน..
ด้วยการนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก และเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้ซื้อ-ขายหุ้น กันเป็นครั้งแรก
นอกจากนี้ Shake Shack ในสหรัฐอเมริกา ยังเคยทำลายสถิติ เอาชนะคู่แข่งซึ่งเป็นเชนร้านอาหารฟาสต์ฟูดยักษ์ใหญ่อย่าง McDonald’s ไปได้ ในด้าน “ยอดขาย” เฉลี่ยของแต่ละสาขา ซึ่งสูงกว่า McDonald’s ถึงเท่าตัว
ส่วนด้านการขยายตลาดไปยังต่างประเทศนั้น ในปัจจุบัน Shake Shack มีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 402 แห่ง ใน 16 ประเทศทั่วโลก
โดยแบ่งเป็น 262 แห่งในสหรัฐอเมริกา และอีก 140 แห่งในต่างประเทศ
ซึ่งในเอเชีย Shake Shack ได้เริ่มเข้าไปบุกตลาดอาหารฟาสต์ฟูดแล้วหลายประเทศ ทั้งที่ประเทศจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์
ส่วนในประเทศไทยเอง หากใครได้มีโอกาสไปที่ศูนย์การค้า CentralWorld ก็จะพบว่า ในขณะนี้ Shake Shack สาขาแรกของประเทศไทย กำลังอยู่ระหว่างการ “ล้อมรั้ว” เพื่อทำการก่อสร้าง มาได้สักระยะหนึ่งแล้ว และคาดการณ์ว่า จะเริ่มเปิดสาขาแรกในประเทศไทย ได้ในช่วงเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้
สิ่งที่น่าสนใจ คือ Shake Shack ที่เข้ามาบุกตลาดในไทย อย่างเป็นทางการในปีนี้ จะสู้กับการแข่งขันของธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟูดรายอื่น ๆ ที่ทำตลาดมานานหลายสิบปี ได้หรือไม่..
เรื่องนี้คงต้องใช้เวลาสักพักใหญ่ ๆ กว่าจะเห็นภาพการแข่งขันของ Shake Shack ในประเทศไทย ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
แต่ที่แน่ ๆ ในช่วงแรกที่ Shake Shack มาเปิดให้บริการด้วยจำนวนสาขาเพียงแห่งเดียว
ใครที่อยากลองชิม คงต้องอดใจรอ และต่อคิว เหมือนอย่างที่ชาวนิวยอร์ก เคยทำเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ก็เป็นได้..
อ้างอิง: