ผลสำรวจเผย คนไทยนิยมเลี้ยงสัตว์แทนลูก ยอมจ่ายค่าดูแลลูกทูนหัวเฉลี่ย 2-4 หมื่นต่อตัวต่อปี โฆษณาที่มีสัตว์อยู่ ขายง่ายขึ้น

ผลสำรวจเผย คนไทยนิยมเลี้ยงสัตว์แทนลูก ยอมจ่ายค่าดูแลลูกทูนหัวเฉลี่ย 2-4 หมื่นต่อตัวต่อปี โฆษณาที่มีสัตว์อยู่ ขายง่ายขึ้น

11 ม.ค. 2023
รู้หรือไม่ ? กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการคาดการณ์จากว่า มูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงของไทย จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 8.4%
ซึ่งมูลค่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 66,748 ล้านบาท ในปี 2026
และสอดคล้องกับจำนวนสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นทุกปี โดย 49% ของกลุ่มตัวอย่าง มักจะเลี้ยงสัตว์เป็นลูก (Pet Parent) โดยมีค่าดูแลลูกทูนหัวเฉลี่ย 2-4 หมื่นบาท/ตัว/ปี
แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายอาหารสัตว์ต่อเดือนอยู่ที่ 1,001 – 2,000 บาท
และค่าใช้จ่ายในการดูแลเสมือนลูกทั้งสุนัขและแมว เฉลี่ยอยู่ที่ 14,200 บาท/ตัว/ปี
รวมถึงหลายแบรนด์ ยังเลือกใช้สัตว์เลี้ยง เข้ามาช่วยสื่อสารการตลาด และสร้างภาพจำให้กับแบรนด์อีกด้วย
ที่น่าสนใจคือ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้ทำการวิจัยเจาะข้อมูลอินไซต์เหล่าทาส เพื่อนำมาต่อยอดสู่การพัฒนาเป็นกลยุทธ์ “PETSUMER” ให้นักการตลาดไว้ใช้มัดใจทาสสายเปย์
ผศ. ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เผยว่า
ยูโรมอนิเตอร์ คาดการณ์ว่า ในปี 2026 ตลาดสัตว์เลี้ยงของโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 217,615 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมีมูลค่าเท่ากับ 7.3 ล้านล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 7.2%
ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการเลี้ยงสัตว์ในไทย จากฐานข้อมูลเพื่อการขึ้นทะเบียนสุนัข-แมว ว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากในทุกปี
ในขณะที่อัตราการเกิดของเด็กในไทยตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาลดลงอย่างเห็นได้ชัด
สะท้อนให้เห็นถึงครอบครัวจำนวนมากที่นิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพื่อเข้ามาเติมเต็มครอบครัว
นอกจากนั้น หลากหลายแบรนด์เลือกที่จะทำการตลาดในแนวทางของ Pet Marketing เพื่อสื่อสารแบรนด์ถึงกลุ่มคนเลี้ยงสัตว์
โดยกลยุทธ์การตลาดที่แบรนด์เลือกใช้ “สัตว์เลี้ยง” เข้ามาเป็นอัตลักษณ์ส่วนหนึ่งของแบรนด์ ก็เพื่อช่วยในการสื่อสารและสร้างภาพจำ หรือเพื่อผลประโยชน์ทางการตลาด
จากงานวิจัยพบว่า ภาพโฆษณาที่มีทั้งสัตว์และสินค้าอยู่ในโฆษณา จะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อมากถึง 43.82%
เพราะสัตว์จะช่วยดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค อีกทั้งยังดูไม่ขายของจนเกินไป
และอีกหนึ่งแนวทางสำหรับการทำการตลาด ที่กำลังได้รับความนิยม นั่นก็คือ Pet Influencer
โดยเป็นการนำเอกลักษณ์หรือแครักเตอร์ของสัตว์เลี้ยง มาทำให้เกิดประโยชน์ด้านการตลาด
ทั้งการช่วยโปรโมตสินค้าหรือบริการ และมอบความบันเทิงให้ผู้ติดตามได้ในเวลาเดียวกัน
คุณพัชรพันธุ์ เทียนศิริ นักศึกษาปริญญาโท วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า
ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างจากการตอบแบบสอบถาม จำนวน 1,046 คน และสำรวจกลุ่มตัวอย่างโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก จำนวน 100 คน เป็นเพศหญิง 66.8% เพศชาย 22.3% และเพศทางเลือก 10.9%
กลุ่มตัวอย่างส่วนมาก เป็นกลุ่มคนเจเนอเรชันวาย อายุระหว่าง 24 – 41 ปี สูงถึง 77.3% โดยผลวิจัยพบว่า
กลุ่มตัวอย่างมักจะเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นลูก (Pet Parent) 49%
เลี้ยงสัตว์เพื่อสถานะทางสังคม (Pet Prestige) 34%
เลี้ยงสัตว์เพื่อช่วยเหลือและบำบัดรักษา (Pet Healing) 18%
สำหรับประเภทสัตว์เลี้ยงที่มีมากที่สุด ได้แก่ สุนัข 40.4% แมว 37.1% และสัตว์เอ็กโซติก 22.6%
นอกจากนี้ ยังพบว่า 39.3% ของกลุ่มตัวอย่าง มีค่าใช้จ่ายอาหารสัตว์ต่อเดือนอยู่ที่ 1,001 – 2,000 บาท สำหรับค่าใช้จ่ายในการดูแลเสมือนลูกทั้งสุนัขและแมว เฉลี่ยอยู่ที่ 14,200 บาท/ตัว/ปี
และบริการยอดฮิตที่เหล่าทาสเลือกใช้งานมากที่สุด คือ อาบน้ำตัดขนถึง 61% และส่วนใหญ่เลือกบริการต่าง ๆ จากทำเลที่สะดวกเหมาะต่อการเดินทาง
จากสถิติของเหล่าทาส จึงพัฒนาออกมาเป็นกลยุทธ์ “PETSUMER” ให้นักการตลาดไว้ใช้มัดใจทาสสายเปย์ ดังนี้
กลยุทธ์ทางด้านสินค้า และบริการ
- Personalization : ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะด้าน
- Easy Access : ความสะดวกและเข้าถึงง่าย คือ หัวใจ
- Trustworthiness : มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ น่าไว้วางใจ
- Social Influence : อิทธิพลจากคนในสังคมสำคัญต่อการตัดสินใจ
กลยุทธ์ด้านการสื่อสาร
- Uniqueness : สร้างเอกลักษณ์ให้โดดเด่น และเป็นที่จดจำ
- Mental Support : การสื่อสารโดยใช้สัตว์เพื่อคลายเครียด
- Engagement : สร้างความผูกพันกับลูกค้า จนเกิด Loyalty
- Rights : ให้ความสำคัญกับสิทธิ์ของสัตว์เลี้ยง
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.