ต่างชาติจับตามอง ไทย อินเดีย มาเลเซีย เวียดนาม อาจกลายเป็น “โรงงานโลก” แห่งใหม่ ทดแทนจีน
27 ธ.ค. 2022
ในช่วงเวลา 40 ปีที่ผ่านมา จีน เป็นประเทศที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “โรงงานโลก” เป็นศูนย์กลางการผลิตของอุตสาหกรรมแทบทุกประเภท
แต่จากการล็อกดาวน์อย่างยาวนาน การใช้มาตรการโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid) รวมถึงปัจจัยทางด้านความกดดันทางการค้า และการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้จีนอาจหมดแรงดึงดูด และไม่ใช่ “โรงงานโลก” อีกต่อไป
แม้จีนจะเพิ่งมีการประกาศปลดล็อกให้ชาวต่างชาติ เดินทางเข้าประเทศได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องมีการกักตัวอีกแล้วก็ตาม
ที่ปรึกษาด้านการลงทุน ให้ความเห็นต่อสถานะโรงงานโลกของจีน ที่กำลังสั่นคลอน โดยพุ่งเป้าไปที่ 2 ปัจจัยสำคัญ นั่นคือ ความกดดันทางการค้า และการเมืองระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ทวีความรุนแรงขึ้น ในยุคที่ดอนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยของโจ ไบเดน
แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้สถานะโรงงานโลกของจีนสั่นคลอน เพราะปัจจัยสำคัญที่สุด คือสถานการณ์โควิด ที่ทำให้บริษัทต่าง ๆ เริ่มประเมินแล้วว่า ไม่ควรพึ่งพาจีน ในฐานะฐานการผลิตเพียงแห่งเดียว
ทำให้ในขณะนี้ หลายประเทศทั่วโลก ถูกจับตามองว่ามีโอกาสกลายเป็น “โรงงานโลก” แห่งใหม่ ทดแทนจีน ซึ่งประเทศเหล่านั้น ได้แก่ อินเดีย มาเลเซีย เวียดนาม และไทย
ในกรณีของอินเดีย เราได้เห็นความพยายามของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ อย่าง Apple ในการย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศจีน ไปยังอินเดีย อย่างต่อเนื่อง
โดยคาดการณ์ว่า อินเดีย จะเป็นฐานการผลิต iPhone ในสัดส่วนราว 5% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ภายในปีนี้ และคาดการณ์ว่า iPhone ราว 1 ใน 4 จะผลิตในประเทศอินเดีย ภายในปี 2025
นอกจาก Apple แล้ว อินเดีย ยังมีศักยภาพที่จะกลายเป็นโรงงานโลกแห่งใหม่ ด้วยจำนวนแรงงานที่มาก บวกกับมาตรการสนับสนุนจากรัฐบาลอินเดีย ที่ดึงดูดให้บริษัทต่าง ๆ เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศ
โดยอินเดีย มีการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) อยู่ที่ราว 83,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.9 ล้านล้านบาท) ในปี 2021 ที่ผ่านมา
ส่วนเวียดนาม มีเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ อยู่ที่ราว 31,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1 ล้านล้านบาท) ในปี 2021 เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับปี 2020 โดยเม็ดเงินนี้ ราว 60% เป็นการลงทุนในภาคการผลิต
โดยจุดแข็งของเวียดนาม อยู่ที่ภาคการผลิตในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเสื้อผ้า รองเท้า รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
และในขณะนี้ มีบริษัทระดับโลกหลายแห่ง ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตบางส่วน ไปที่เวียดนาม เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้ง Samsung, Nike และ Adidas รวมถึง Apple ที่กำลังวางแผนกระจายฐานการผลิตคอมพิวเตอร์ MacBook ไปที่เวียดนาม ในช่วงกลางปีหน้า
ส่วนในกรณีของประเทศไทยเอง ก็ได้ประโยชน์จากการที่จีน สูญเสียสถานะโรงงานโลกเช่นกัน
โดย Business Insider รายงานว่า เม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ ของไทย เพิ่มขึ้น 3 เท่า ในช่วงปี 2020 - 2021
โดย Business Insider รายงานว่า เม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ ของไทย เพิ่มขึ้น 3 เท่า ในช่วงปี 2020 - 2021
ตัวอย่างของบริษัทระดับโลกที่ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย มีทั้ง Sony ที่ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตโทรศัพท์สมาร์ตโฟนมาจากจีน รวมถึง Sharp ที่ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตเครื่องพิมพ์บางส่วนมาจากจีน เพื่อลดปัญหาที่เกิดจากแรงกดดันทางการค้า และการเมืองระหว่างจีน-สหรัฐฯ
นอกจากบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นแล้ว ยังมีบริษัทสัญชาติจีน ที่สนใจย้ายฐานการผลิตมายังไทยเช่นเดียวกัน
เช่น JinkoSolar ซึ่งเป็นบริษัทด้านโซลาร์เซล โดยให้เหตุผลว่า ไทยมีค่าแรงที่ต่ำกว่า และต้องการหลีกเลี่ยงแรงกดดันทางการค้า และการเมืองระหว่างจีน-สหรัฐฯ
เช่น JinkoSolar ซึ่งเป็นบริษัทด้านโซลาร์เซล โดยให้เหตุผลว่า ไทยมีค่าแรงที่ต่ำกว่า และต้องการหลีกเลี่ยงแรงกดดันทางการค้า และการเมืองระหว่างจีน-สหรัฐฯ
รวมไปถึงค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ที่สนใจขยายการลงทุนและฐานการผลิต เข้ามาในประเทศไทยด้วย
ส่วนเพื่อนบ้านของไทย อย่างมาเลเซีย ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศ ที่มีโอกาสเป็นโรงงานโลก ทดแทนจีนเช่นกัน
ในกรณีของมาเลเซีย สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ได้ตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดสถานะการณ์โควิดระบาด โดยหน่วยงานด้านการลงทุนของมาเลเซีย เคยให้ข้อมูลในปี 2020 ว่า มาเลเซีย สามารถดึงดูดให้บริษัทต่าง ๆ ย้ายฐานการผลิตจากจีน มายังมาเลเซีย ได้ทั้งสิ้น 32 โครงการ
นอกจากนี้ Micron บริษัทด้านการผลิตชิปเซ็ตรายใหญ่ของสหรัฐฯ ยังตัดสินใจลงทุนในมาเลเซีย ด้วยเม็ดเงินกว่า 339 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.2 หมื่นล้านบาท)
การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ของมาเลเซียนี้ ทำให้มาเลเซีย มีเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ มากถึง 48,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.7 ล้านล้านบาท) ในปี 2021
ซึ่งนับว่าเป็นเม็ดเงินที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี โดยส่วนใหญ่ เป็นเม็ดเงินการลงทุนจากภาคการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์
ซึ่งนับว่าเป็นเม็ดเงินที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี โดยส่วนใหญ่ เป็นเม็ดเงินการลงทุนจากภาคการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์