อินเดีย เตรียมขึ้นแท่นเป็นประเทศ เศรษฐกิจใหญ่ที่สุด อันดับ 3 ของโลก แซงหน้า ญี่ปุ่น - เยอรมนี ภายในปี 2030
2 ธ.ค. 2022
S&P Global คาดการณ์ การเติบโตของเศรษฐกิจอินเดีย หรือ GDP ที่ 6.3% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2021 - 2030
หากตัวเลขเป็นไปตามที่คาดการณ์ จะทำให้อินเดีย กลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลก แซงหน้าญี่ปุ่น และเยอรมนี
ก่อนหน้านี้ อินเดีย เคยรายงานว่า มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 13.5% ในช่วงไตรมาส 2 และ 6.3% ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้
แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุด คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดีย ในช่วงไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว เศรษฐกิจอินเดีย ได้ทำลายสถิติ ด้วยอัตราการเติบโตที่สูงถึง 20.1% (ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่ต่ำของปีก่อนหน้า เพราะวิกฤติโควิด)
การคาดการณ์ของ S&P Global นี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า อินเดีย จะต้องมีการเปิดเสรีทางการค้าและการเงิน มีการปฏิรูปตลาดแรงงาน รวมถึงจะต้องมีการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน และทรัพยากรมนุษย์ของประเทศอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ปัจจัยที่จะทำให้เศรษฐกิจอินเดียเติบโตได้นั้น หลายปัจจัยเป็นสิ่งที่รัฐบาลอินเดียกำลังลงมือทำอยู่แล้ว
นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียเอง ยังมีความต้องการในการผลักดันให้อินเดีย กลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก
ซึ่งการจะทำได้สำเร็จนั้น รัฐบาลอินเดีย ได้ใช้มาตรการที่เรียกว่า Production Linked Incentive Scheme หรือ PLIS ในการส่งเสริมการผลิต และการส่งออกของประเทศ
โดยมาตรการ PLIS นี้ เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2020 โดยให้เงินอุดหนุนพิเศษแก่นักลงทุน ทั้งจากในประเทศ และต่างประเทศ ด้วยการให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษี รวมถึงการขอใบอนุญาตต่าง ๆ
และมาตรการนี้เอง S&P Global มองว่า จะทำให้เศรษฐกิจอินเดีย ขับเคลื่อนด้วยการส่งออก และมีความเกี่ยวข้องกับระบบห่วงโซ่อุปทานในระดับโลกมากขึ้น
ในขณะที่ Morgan Stanley ก็มองไปในทิศทางเดียวกัน ว่าเศรษฐกิจอินเดีย จะมีการพึ่งพาภาคการผลิตมากขึ้น จาก 15.6% ของ GDP กลายเป็น 21% ของ GDP ภายในปี 2031
ซึ่งจะทำให้อินเดีย มีรายได้จากภาคการผลิตเพิ่มขึ้น 3 เท่า จาก 4.47 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 15.5 ล้านล้านบาท) กลายเป็น 1.49 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 51.7 ล้านล้านบาท)
นอกจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศของรัฐบาลอินเดียแล้ว
อินเดีย ยังมีข้อได้เปรียบสำคัญ ที่จะช่วงดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้หลายประการ
อินเดีย ยังมีข้อได้เปรียบสำคัญ ที่จะช่วงดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้หลายประการ
นั่นคือ ค่าแรงที่ถูก ต้นทุนการผลิตที่ต่ำ การเปิดกว้างต่อการลงทุน มีนโยบายที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ และมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุน้อยจำนวนมาก ซึ่งส่งผลดีต่อการบริโภค
และข้อได้เปรียบเหล่านี้ คาดว่าจะกลายเป็นข้อได้เปรียบสำคัญของอินเดีย ไปจนถึงสิ้นทศวรรษนี้
อย่างไรก็ตาม แม้อินเดีย จะดูมีอนาคตทางเศรษฐกิจที่สดใส แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ยังคงมองว่าอินเดีย มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเช่นกัน
โดยเฉพาะสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ที่มีแนวโน้ม “ถดถอย” กินระยะเวลายาวนาน เพราะระบบเศรษฐกิจของอินเดีย มีการพึ่งพาการค้าในสัดส่วนที่สูง
เช่นเดียวกันกับปัจจัยในด้านแรงงานที่มีทักษะ ที่อาจมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ รวมถึงปัญหาด้านการเมืองภายในประเทศอีกด้วย