Rolls-Royce ทดสอบ เครื่องยนต์เครื่องบิน ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน ไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ขณะเผาไหม้
28 พ.ย. 2022
ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีความพยายามจากหลาย ๆ หน่วยงาน ในการสร้างนวัตกรรม ที่ทำให้อุตสาหกรรมการบิน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
เพราะการเดินทางด้วยเครื่องบินโดยสารในแต่ละเที่ยวบิน สร้างมลพิษให้กับโลกเป็นจำนวนมาก..
ล่าสุด Rolls-Royce หนึ่งในผู้ผลิตเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินโดยสารรายใหญ่ จากสหราชอาณาจักร ได้ทำการทดสอบ เปลี่ยนเชื้อเพลิงที่ใช้สำหรับเครื่องยนต์เจ็ต จากน้ำมัน เป็นไฮโดรเจน โดยไม่ใช้น้ำมันเลยแม้แต่หยดเดียว
การทดสอบในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง Rolls-Royce และสายการบินต้นทุนต่ำ EasyJet โดยใช้เงินลงทุนจำนวนหลายล้านปอนด์ โดยทำการทดสอบทั้งเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินใบพัด และเครื่องยนต์เจ็ต
Rolls-Royce ใช้เครื่องยนต์รุ่น AE 2100 ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่ใช้ติดตั้งกับเครื่องบินทั่วไปในท้องตลาดอยู่แล้ว โดยพบว่าเครื่องยนต์ที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง สามารถสตาร์ตเครื่องยนต์ได้ที่ความเร็วต่ำ และการทดสอบเบื้องต้นบนพื้นดิน ก็เป็นไปได้ด้วยดี
โดยหลังจากนี้ Rolls-Royce วางแผนที่จะทำการทดสอบกับเครื่องยนต์เจ็ต รุ่น Pearl 15 ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เจ็ตที่ใช้กับเครื่องบินโดยสารขนาดเล็ก อย่าง Bombardier Global Express 5500
นอกจากนี้ Rolls-Royce ยังตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะต้องใช้ไฮโดรเจน เป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนเครื่องบินให้ได้ภายในช่วงกลางทศวรรษที่ 2030 หรืออีกเพียง 10 กว่าปีนับจากวันนี้
อย่างไรก็ตาม แม้การทดสอบใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานในการขับเคลื่อนนี้ จะประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี และพอที่จะเห็นแนวโน้มได้ว่า เครื่องยนต์ของเครื่องบินสามารถทำงานโดยใช้ไฮโดรเจนได้
Rolls-Royce ระบุว่า เครื่องยนต์ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนนี้ มีข้อดีอยู่ที่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขณะเผาไหม้ ซึ่งต่างจากการใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง
ด้านสายการบิน EasyJet ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ที่ร่วมทำการทดสอบกับ Rolls-Royce ได้ระบุถึงความน่าจะเป็นในการใช้เครื่องยนต์ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนว่า สามารถเกิดขึ้นได้จริง
หลังจากที่ก่อนหน้านี้สายการบิน EasyJet ได้มองหาความเป็นไปได้ ที่จะใช้เครื่องบินที่อาศัยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ แต่พบว่าไม่เหมาะกับการใช้งานในเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ ไฮโดรเจนจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
แม้พลังงานไฮโดรเจน จะดูมีข้อดี แต่ความจริงแล้ว หากจะมีการนำไฮโดรเจนไปใช้เป็นพลังงานในการขับเคลื่อนเครื่องบินจริง ๆ ต้องมีการออกแบบเครื่องบินใหม่ในหลายจุด เพราะต้องมีการเก็บรักษาไฮโดรเจนในรูปแบบน้ำ ที่อุณหภูมิ -235 องศาเซลเซียส ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นก๊าซเพื่อทำการเผาไหม้ในเครื่องยนต์ นั่นหมายความว่า จะต้องมีการออกแบบพื้นที่สำหรับบรรจุไฮโดรเจนภายในเครื่องบินโดยสารใหม่
รวมถึงข้อจำกัด ที่ทำให้ต้องใช้ไฮโดรเจนมากกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงราว 4 เท่า จึงจะทำให้เครื่องบิน บินได้ระยะทางไกลเท่าเดิม
และต้องหาทางลำเลียงไฮโดรเจนจากถังเก็บ เข้าสู่เครื่องยนต์ให้ได้ ซึ่งนั่นทำให้ต้องมีการลงทุน และศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอีกมหาศาล
อย่างไรก็ตาม Rolls-Royce ไม่ใช่ผู้เล่นเพียงรายเดียวในอุตสาหกรรมการบิน ที่ต้องการทำให้เครื่องบินโดยสารเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ไม่นาน Airbus ก็ได้เปิดตัวโครงการพัฒนาเครื่องบินโดยสาร ที่ใช้พลังงานจากไฮโดรเจนเช่นเดียวกัน