จากความฝัน 30 ปีของคุณพ่อสู่ “พิพิธภัณฑ์ สุขสะสม”

จากความฝัน 30 ปีของคุณพ่อสู่ “พิพิธภัณฑ์ สุขสะสม”

19 ม.ค. 2020
ถ้าคุณพ่อเรามีความฝันอยากที่จะสร้างสิ่งยิ่งใหญ่อะไรสักอย่างหนึ่ง
เราจะยอมสละเงินและเวลา เพื่อมาสานความฝันนั้นให้เป็นจริงหรือไม่ ?
หลายคนอาจมีคำตอบที่แตกต่างกันออกไป
แต่สำหรับคุณธีรวัฒน์ เจริญทวีสิทธิ์ เลือกจะต่อ จิ๊กซอว์ความฝันนั้น ให้เกิดเป็นความจริงขึ้นมา
เพราะรู้หรือไม่ว่าคุณพ่อของเขานั้นเก็บสะสมสิ่งของโบราณเกือบทุกอย่างตั้งแต่ยังเด็กจนถึงวัยชรา
จนมีของสะสมมากกว่า 3 แสนชิ้น
และคิดว่าสักวันหนึ่ง “ฉันจะต้องมีพิพิธภัณฑ์เป็นของตัวเอง”
แต่...ความฝันนั้นถูกเก็บไว้ในลิ้นชักหัวใจนานเกือบ 30 ปี และไม่มีทีท่าว่าจะกลายเป็นจริง
แม้คุณธีรวัฒน์เอง ก็หลงรักของสะสมของคุณพ่อเป็นชีวิตจิตใจ เหมือนกัน
เพราะในวัยเด็กเมื่อคุณพ่อของเขาได้ซื้อของเก่าของโบราณมาจากที่ต่างๆ
ก็จะมาถ่ายทอดประวัติความเป็นมาของสิ่งของเหล่านั้นให้เขาได้ฟัง
จนทำให้คุณธีรวัฒน์ หลงรักและศึกษาของสะสมของคุณพ่อมาตั้งแต่ยังเด็ก
และนี่เอง! ที่ทำให้เขาได้แข่งขัน “แฟนพันธุ์แท้” ในหมวด พิพิธภัณฑ์ไทย
จนคว้าตำแหน่ง “สุดยอดแฟนพันธุ์แท้” ไปครอง
ขณะเดียวกัน ในเวลานั้นเขาก็เริ่มคิดแล้วว่า เขามี “หัวใจเดียวกัน” กับคุณพ่อ
เขาจึงเริ่มวาดความฝันของคุณพ่อลงบนกระดาษด้วยมือตัวเอง
นั่นคือแบบก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมของสะสม 3 แสนชิ้น
แต่...การสานฝันให้คุณพ่อเขาดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายและโหดร้ายพอสมควร
เมื่อเจอปัญหาโดนผู้รับเหมาโกงจนงบประมาณก่อสร้างเริ่มบานปลาย
รวมถึงอีกสารพัดปัญหาอื่นๆ ที่รุมเร้า
เขาเลือกตัดสินใจลาออกจากพนักงานธนาคารที่ทำมานานถึง 3 ปี เพื่อมาคุมงานก่อสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้เหมือนอย่างที่เขาวาดไว้ในจินตนาการ
และแล้ว... “พิพิธภัณฑ์ สุขสะสม” ของเขาก็สร้างเสร็จสมบูรณ์ด้วยงบการลงทุนก่อสร้าง 18 ล้านบาท
บนถนนพุทธมณฑลสาย 2 ที่มีสัญญาเช่าพื้นที่นาน 25 ปี
เหมือนทุกอย่างจะราบรื่น แต่จริงๆ แล้ว...มันเพิ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นต่างหาก
เพราะหากเป็นคุณมีของสะสม 3 แสนชิ้น คุณจะจัดวางลงในพิพิธภัณฑ์อย่างไร ให้ลงตัว
โดยมีโจทย์ว่าจะต้องทำให้ของสะสมแต่ละชิ้นสามารถเชื่อมโยงร้อยเรียงเป็นเรื่องราวได้
แค่คิดก็ “เหนื่อยแทนแล้ว”
ทำให้ตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 5 ทุ่มของทุกๆ วัน เขากับคุณพ่อจะมาจัดเรียงของสะสม 3 แสนชิ้น
ลงในพิพิธภัณฑ์ตัวเองโดยใช้เวลานาน 1 ปีกว่าทุกอย่างจะลงตัว โดยแบ่งออกเป็น 5 โซน
แยกหมวดหมู่กันชัดเจน
สรุปแล้วเขากับคุณพ่อใช้เวลานานถึง 3 ปีกว่าจะเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
แต่เชื่อหรือไม่ว่างบลงทุนก่อสร้าง 18 ล้านบาท (ไม่รวมของสะสม) กับเวลาที่เสียไป 3 ปี
เขากลับเลือกที่จะคิดอัตราบัตรเข้าชมในราคาผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท
ซึ่งถือเป็นราคาที่ถูกมากๆ
“คนไทยยังห่างไกลกับการเข้าพิพิธภัณฑ์มาก การตั้งราคาแพงเหมือนสร้างกำแพงสูงกั้นลูกค้าไว้
และการจะทำกำไรในธุรกิจนี้เป็นอะไรที่ยากมาก ผมเองยังไม่รู้เลยว่าจะคืนทุนเมื่อไร”
เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ ทำให้คุณธีรวัฒน์เองก็ไม่คิดที่จะพึ่งพารายได้จากค่าบัตรเข้าชมอย่างเดียว
แต่ยังมีขายอาหาร, เครื่องดื่ม, ขายของที่ระลึก,ให้เช่าของสะสม และอื่นๆ
เป้าหมายเพื่อให้ลูกค้า 1 คนที่เข้ามาในพิพิธภัณฑ์สร้างรายได้ให้แก่ตัวเขามากที่สุด
มาถึงตรงนี้ หลายคนคงต้องตั้งคำถามว่าในเมื่อรู้ว่าเป็นธุรกิจที่ “กำไร” ยาก ไม่รู้จะคืนทุนเมื่อไร
แล้วคุณจะทำไปเพื่ออะไร?
“ผมได้ทำตามความฝันคุณพ่อให้เป็นจริงแล้ว ทุกวันนี้ผมเห็นคุณพ่อคุณแม่
มีความสุขที่มีคนมาพิพิธภัณฑ์มาคุย มีอะไรให้ท่านทำในยามชรา
และทำให้ท่านรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง อันนี้ผมว่าสำคัญที่สุดแล้ว”
มาถึงตรงนี้บางที เราอาจต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ เพราะแม้ในความเป็นจริง
ทุกธุรกิจสิ่งสำคัญอันดับ 1 คือสร้าง “รายได้” ในการหล่อเลี้ยงธุรกิจนั้นให้มี “ลมหายใจ”
แต่...ก็มีบางธุรกิจที่ “รายได้” อาจกลายเป็นเรื่องรองลงมา
แต่...สิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง คือการทำเพื่อความฝันของคนที่เรารัก ให้เกิดเป็นจริงขึ้นมา
ซึ่งบางที มันอาจสำคัญกว่าเม็ดเงินมหาศาล
เพราะนี่คือ...สิ่งที่ไม่สามารถตีมูลค่าเป็นตัวเงินได้เลย
Reference : http://www.suksasommuseum.com/about-us/
: สัมภาษณ์คุณ ธีรวัฒน์ เจริญทวีสิทธิ์ ผ่านทาง Facebook
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.