คุยกับเจ้าของโรงเรียนนานาชาติ DBS Denla British School กับการยกระดับ ระบบการศึกษายุคใหม่

คุยกับเจ้าของโรงเรียนนานาชาติ DBS Denla British School กับการยกระดับ ระบบการศึกษายุคใหม่

7 ก.ย. 2022
“อนาคตประเทศไทย จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สิ่งที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ อย่างหนึ่งที่สำคัญคือ การศึกษา
เมื่อประเทศเรามีคนน้อยลง ก็ต้องทำให้คนจำนวนน้อย มีคุณภาพสูงสุด”
ผศ.ดร.ต่อยศ ปาลเดชพงศ์ กรรมการบริหารโรงเรียนนานาชาติ DBS Denla British School บอกถึงหนึ่งในวิธีการเตรียมรับมือ หากประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ
คำถาม คือ “การศึกษา” รูปแบบไหนที่สอดรับกับสังคมในยุคนี้จนถึงอนาคต ?
จำเป็นหรือไม่ หากผู้ปกครองมีความพร้อมด้านการเงิน ควรวางรากฐานการศึกษาดี ๆ ให้แก่ลูกหลานของตัวเอง ?
สุดท้าย อะไรคือทักษะที่จำเป็นมากที่สุด สำหรับเด็กไทยยุคนี้ ?
คำถามเหล่านี้ ผศ.ดร.ต่อยศ มีคำตอบทุกข้อ
ผศ.ดร.ต่อยศ เล่าให้ฟังว่า ในอดีตนักเรียนในโรงเรียนนานาชาติ ส่วนใหญ่กว่า 80% จะเป็นเด็กนักเรียนต่างชาติ
แต่เมื่อภาษาอังกฤษ เข้ามามีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ
ขณะที่ระบบการศึกษาไทย ยังแก้ปัญหาเรื่องทักษะภาษาอังกฤษของเด็กไม่ได้
โรงเรียนนานาชาติ จึงถูกมองว่า เป็นทางออก เพื่อให้เด็กสามารถ พูด อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษ ได้อย่างคล่องแคล่ว
ปรากฏการณ์นี้เอง ที่ทำให้ผู้ปกครองคนไทย ส่งลูกหลานเข้าสู่โรงเรียนนานาชาติ
แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป Google, Facebook ได้กลายเป็นช่องทางที่ทำให้เด็กสามารถค้นคว้าหาความรู้ได้อย่างง่ายดาย ผ่านโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว
สิ่งที่เกิดขึ้น คือ หากระบบการศึกษาจะยึดติดกับการท่องจำอย่างเดียว คงไม่พอ
แต่ต้องสอนให้นักเรียนรู้จักใช้ข้อมูลมหาศาลที่มีอยู่รอบตัว มาคิดต่อยอดและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดเป็นธุรกิจ, นวัตกรรม หรือสิ่งที่มีประโยชน์ต่อชีวิต ที่เรียกว่า Critical Thinking
ซึ่งผู้ปกครองหลายคนเชื่อว่า โรงเรียนนานาชาติ สามารถสอนเรื่องเหล่านี้ให้แก่ลูกหลานของตัวเองได้
คำถาม คือ แล้วเด็กควรจะเริ่มเรียนโรงเรียนนานาชาติ ตั้งแต่ตอนไหน ?
ผศ.ดร.ต่อยศ เล่าให้ฟังว่าที่ DBS ตั้งอยู่บนถนนราชพฤกษ์ มีพื้นที่กว่า 60 ไร่
เปิดสอนตั้งแต่ Early Foundation Stage ถึง Year 13 เทียบเท่ากับระดับเตรียมอนุบาล จนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6
โดยล่าสุด การก่อสร้างอาคารเรียนเฟส 2 สำหรับนักเรียนมัธยมปลาย หรือ Senior School ที่มีมูลค่าการก่อสร้างสูงถึง 600 ล้านบาท ได้สร้างเสร็จแล้ว
โดยอาคารนี้ เกิดจากการสังเกตของ ผศ.ดร.ต่อยศ พบว่า เด็กที่เริ่มเรียนในโรงเรียนนานาชาติ ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล นอกจากจะไม่ต้องปรับตัวเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารกับเพื่อน ๆ และคุณครูแล้ว
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ “ไม่ต้องปรับตัว” กับวัฒนธรรม และวิธีการเรียนการสอน
เพราะหลักสูตรของระบบการศึกษาไทย กับหลักสูตร นานาชาติ มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
เช่น คุณครูหลักสูตรไทย อยากให้เด็กเรียบร้อย ตรงกันข้ามกับคุณครูหลักสูตรนานาชาติ ที่สอนให้เด็กเป็นคนกล้าแสดงออก และมีความคิดสร้างสรรค์
ซึ่งนั่นแปลว่า หากเด็กนักเรียนเข้าศึกษาในโรงเรียนนานาชาติช้ากว่าเด็กนักเรียนคนอื่น ๆ
ก็จะต้องปรับตัวทั้งด้านภาษาอังกฤษและวัฒนธรรม ไปจนถึงการเรียนการสอนที่แตกต่างกับหลักสูตรไทย
ด้วยความนิยมของโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งที่ตามมาก็คือ การแข่งขันที่เข้มข้น
โดยแต่ละโรงเรียนต่างพยายามหา “จุดเด่น” ที่แตกต่างจากคู่แข่ง
เพราะรู้เรื่องนี้ดี ผศ.ดร.ต่อยศ จึงเลือกนำหลักสูตร Enhanced British Curriculum ซึ่งเป็นการนำหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนเอกชนของประเทศอังกฤษ ที่นอกจากจะขึ้นชื่อเรื่องความเข้มข้นด้านวิชาการแล้ว ยังให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์, ทัศนคติ, กีฬา, สังคม และดนตรี มาปรับให้เข้ากับบริบทของสังคมไทย
ซึ่งก็ต้องบอกว่าครบถ้วนกับสิ่งที่เยาวชนไทยควรจะได้รับในยุคนี้
“โรงเรียนและหลักสูตรที่ดีที่สุดไม่มีอยู่จริง มีแต่โรงเรียนที่เหมาะสมกับครอบครัวและลูกของเราหรือเปล่า”
เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ ผศ.ดร.ต่อยศ เลือกให้ DBS ใช้ระบบการเรียนการสอนโรงเรียนเอกชนของประเทศอังกฤษ
เพราะเชื่อว่าครอบครัวของเด็กไทย ถูกจริตกับระบบการศึกษาของประเทศอังกฤษ มากกว่าระบบการศึกษาของประเทศอื่น ๆ
และอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ปัจจุบันเด็กไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลมหาศาล ผ่านโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว
ตรงนี้เองที่ทำให้ ผศ.ดร.ต่อยศ เชื่อว่า ทักษะที่สำคัญที่สุด คือ Learn และ Relearn
เมื่อยุคนี้เทคโนโลยีและความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นเร็วและตลอดเวลา
นั่นแปลว่าเด็ก ๆ ก็ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ตลอดเวลาเช่นกัน
แน่นอนว่าการเรียนการสอนของ DBS ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าโลกเราทุกวันนี้ ไม่ใช่แค่ต้องการคนเก่ง และคนฉลาดอย่างเดียว
แต่ต้องการคนเก่งและฉลาด ที่เป็น “คนดี” เพื่อพาสังคมและประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ประเด็นนี้เองที่ทำให้ทาง DBS มีโครงสร้างหนึ่งชื่อ House System และ Pastoral Care
ซึ่งเป็นกระบวนการของโรงเรียนในการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจ รวมถึงทัศนคติความเป็นมนุษย์ของนักเรียน เพื่อให้เด็กนักเรียนของ DBS มีทั้งความเก่ง ฉลาด และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ทำสิ่งดี ๆ
ให้แก่สังคมไทยในอนาคต
และเมื่อถูกถามว่า ความสุขของการเป็นเจ้าของโรงเรียน คืออะไร
ผศ.ดร.ต่อยศ ตอบกลับว่า ทุกครั้งที่ศิษย์เก่ากลับมาเยี่ยมโรงเรียน ถ่ายรูป และพูดถึงความสุขในวัยเด็กที่เรียนอยู่ที่นี่กันอย่างสนุกสนาน
ทำให้เขารู้ว่า โรงเรียนที่เขาสร้างขึ้น ไม่ใช่เพื่อธุรกิจเพียงอย่างเดียว
แต่เป็นการ มอบความรู้ สร้างความสุขและความทรงจำที่มีคุณค่าให้แก่เด็ก ๆ
เป็นจิตวิญญาณของคนที่ทำงานในแวดวงการศึกษาไทยอย่างแท้จริง
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.