ทำไมการโชว์ “ความรวย” ถึงมักตกเป็นเครื่องมือของ เจ้าของแบรนด์อาหารเสริมและครีม

ทำไมการโชว์ “ความรวย” ถึงมักตกเป็นเครื่องมือของ เจ้าของแบรนด์อาหารเสริมและครีม

24 ส.ค. 2022
รถสปอร์ต, ตั๋วเครื่องบินชั้นเฟิสต์คลาส, ถุงสินค้าแบรนด์เนมกองเป็นภูเขา, บ้านหลังใหญ่ และแผ่นออร์เดอร์ที่เยอะจนล้นออกมาจากบ้าน..
คงเป็นภาพที่ใครหลายคนเห็นจนชินตา ตามสื่อโซเชียลมีเดีย จากโพสต์ “โชว์ความรวย” ของตัวแทนจำหน่าย และเจ้าของแบรนด์อาหารเสริมหรือครีมบำรุงผิว ในช่วงที่ผ่านมา..
อย่างล่าสุด ที่มีภาพหญิงสาวคนหนึ่งได้ออกมาโพสต์ภาพตนเองคู่กับรถสปอร์ตราคาแพง (คล้ายกับว่า ตนเองจะซื้อรถสปอร์ตคันนั้น)
แถมยังบอกว่าตนเองนั้น มีวันนี้ได้จากการลงทุนเป็นตัวแทนจำหน่ายอาหารเสริมแบรนด์หนึ่งแค่ 6,000 บาท แต่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ถึง 15 ล้านบาท ในเวลา 3 เดือนเท่านั้น
ซึ่งเรื่องราวดังกล่าว สร้างความสงสัยให้กับหลาย ๆ คน ว่าเป็นตัวแทนจำหน่ายแค่ 3 เดือน จะสามารถสร้างรายได้ขนาดนั้นได้อย่างไร ?
จนเรื่องราวใหญ่โต และกลายเป็นประเด็นร้อนในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากลองมองแบบไม่เจาะจงแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง
จะเห็นได้ว่ากรณีแบบนี้นั้น ไม่ใช่ครั้งแรกที่แบรนด์อาหารเสริมหรือครีมบำรุงผิวในบ้านเรานำ “ความรวยของตัวแทน” มาใช้สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย มากกว่าที่จะนำคุณภาพของสินค้าและบริการ มาเป็นคีย์เมสเซจหลัก..
ซึ่งเรื่องนี้มันก็น่าสนใจ เพราะถ้าหากตัดภาพไปที่เคาน์เตอร์แบรนด์ตามห้างสรรพสินค้า
จะเห็นได้ว่า แบรนด์ที่ขายสินค้าเพื่อสุขภาพและความงามเหมือนกันนั้น มักจะใช้คุณภาพของสินค้ามาเป็นคีย์เมสเซจในการสื่อสารกับลูกค้าเสียมากกว่า
แล้วทำไมแบรนด์อาหารเสริมหรือครีมออนไลน์ ถึงต้องนำ “ความรวยของตัวแทน” มาใช้สื่อสารด้วย ?
เรื่องมันเป็นอย่างนี้..
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า สินค้าจำพวกอาหารเสริมและผลิตภัณฑ์เสริมความงามนั้น เป็นสินค้าที่เอื้อต่อการวาง Positioning หรือจุดยืนทางการตลาด ให้ดู “พรีเมียม” มากกว่าสินค้าชนิดอื่น
เนื่องจากสินค้าพวกนี้เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคมักจะไม่ค่อยกล้าซื้อ ถ้ามันมีราคา “ถูกเกินไป” เพราะกลัวว่าอาจจะมีสารอันตรายเจือปน หรือสินค้าไม่ได้คุณภาพ
ดังนั้นมันจึงดีกว่าที่เจ้าของแบรนด์จะเลือกวาง Position ของตัวเอง ให้ดูพรีเมียมเข้าไว้ เพราะอย่างน้อยภาพลักษณ์ของความพรีเมียม มันสามารถทำให้สินค้าผ่านกำแพงใจด่านแรกของผู้บริโภคไปได้นั่นเอง
สังเกตง่าย ๆ ว่า แบรนด์อาหารเสริมหรือครีมบำรุงผิวในโลกออนไลน์ มักมีการกำหนดแพ็กเกจ, CI ของแบรนด์ และตัวสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ ให้ดู “พรีเมียม” อยู่เสมอ
อีกทั้งคนไทยหลายคน มีแนวโน้มที่จะจ่ายเงิน “แพงขึ้น” เพื่อซื้อสินค้าที่ตัวเองคิดว่าดีต่อสุขภาพและร่างกายของตัวเอง
จากผลสำรวจระบุว่า คนไทยมีแนวโน้มใช้จ่ายกับสินค้าเพื่อสุขภาพมากถึง 28%
ดังนั้นสินค้าประเภทอาหารเสริมหรือครีมบำรุงผิว ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ ดีต่อร่างกายและผิวพรรณอยู่แล้ว จึงทำให้แบรนด์สามารถตั้งราคาของสินค้าสูงขึ้นได้อีก
ทั้งหมดทั้งมวล จึงทำให้สินค้าจำพวกนี้ส่วนใหญ่มีมาร์จิน (กำไรขั้นต้นต่อต้นทุนสินค้า) สูงพอสมควร
เพราะถ้าขายถูกเกินไป คนก็จะกลัวไม่กล้าซื้อ แถมขายราคาพรีเมียม คนก็มองเป็นเรื่องปกติ..
ซึ่งตรงนี้เองที่เป็นข้อแตกต่างระหว่างสินค้าเคาน์เตอร์แบรนด์ กับอาหารเสริมหรือครีมบนโลกออนไลน์
เพราะแบรนด์เล็ก ๆ ส่วนใหญ่นั้นยังไม่มีฐานลูกค้ารองรับเหมือนแบรนด์ใหญ่ ที่ผลิตสินค้าออกมาเท่าไรก็มีคนรอซื้อ และถ้าขายไม่หมด ก็แค่ทำโปรโมชันในการเรียกยอดขาย..
อีกทั้งแบรนด์เล็กส่วนใหญ่ยังใช้การผลิตผ่านโรงงาน OEM (โรงงานที่รับจ้างผลิตสินค้าให้หลายแบรนด์) ที่ต้องสั่งผลิตในปริมาณเยอะ ๆ เพื่อให้ได้ราคาที่ถูกที่สุด
จึงนับว่าค่อนข้างเสี่ยงกับการจมของเงินทุนพอสมควร เพราะแบรนด์เล็กนั้นยังไม่มีฐานลูกค้ารองรับมากเหมือนกับเคาน์เตอร์แบรนด์
ดังนั้น เจ้าของแบรนด์เล็กส่วนใหญ่ จึงใช้ประโยชน์จากการนำมาร์จินของสินค้าประเภทนี้มาแบ่งออกเป็น
ทอด ๆ แล้วนำมาแบ่งให้ตัวแทนจำหน่ายเป็นคน “รับความเสี่ยง” ในการสต็อกสินค้าที่ผลิตออกมาเยอะนั่นเอง
โดยในรายละเอียดของการเป็นตัวแทนจำหน่ายนั้น ก็ขึ้นอยู่กับแบรนด์ว่ามีเงื่อนไขอย่างไร
แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการ “เปิดบิล” หรือก็คือการให้ตัวแทนจำหน่ายสต็อกสินค้าจำนวนมาก ๆ ซึ่งปัจจุบันบางแบรนด์นั้นมีขั้นต่ำในการเปิดแบรนด์ถึงหลักล้านบาทเลยก็มี..
อย่างไรก็ตาม มันก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกัน เพราะเจ้าของแบรนด์จะไม่ได้กำไรแบบเต็ม ๆ จากยอดขายสินค้าของตัวเอง
แต่ก็นับว่าคุ้มค่า ถ้าแลกกับการที่สินค้าของตัวเองขายได้ 100% (เพราะมีตัวแทนรับไปขายต่อ)..
แถมตัวแทนจำหน่าย ยังช่วยเจ้าของแบรนด์ในการสร้างฐานลูกค้าและทำการตลาดอีกด้วย
จากทั้งหมดจะเห็นได้ว่า แบรนด์อาหารเสริมและครีมออนไลน์บ้านเรา จะมีโจทย์ใหญ่ ๆ อยู่ 2 ข้อคือ
1) ต้องสื่อสารให้แบรนด์ดูพรีเมียมมากขึ้น
2) แบรนด์ต้องดึงดูดให้มีคนอยากมาเป็นตัวแทนจำหน่ายกับแบรนด์มากขึ้น
ดังนั้นคงไม่มีสิ่งไหนเหมาะไปกว่าการใช้ “ความรวย” มาสื่อสารกับผู้บริโภคอีกแล้ว
เพราะ “ความรวย” กับความ “พรีเมียม” นั้น สามารถสร้างความเชื่อมโยงทางความรู้สึกต่อผู้บริโภคได้จริง
ดังนั้นการที่ตัวแทนจำหน่ายหรือเจ้าของแบรนด์ “รวย” จะทำให้แบรนด์ดูพรีเมียม และสร้างความน่าเชื่อถือได้มากขึ้นแบบอัตโนมัติ
อีกอย่างเราปฏิเสธไม่ได้ว่า “ทุกคนอยากรวย” ดังนั้นความรวยเป็นตัวดึงดูดชั้นดี ทำให้คนอยากสมัครมาเป็นตัวแทนจำหน่ายของแบรนด์
เพราะคนที่สนใจเป็นตัวแทนจำหน่ายเอง ก็เชื่อว่าตัวเองจะสามารถสร้างความร่ำรวยได้ เหมือนตัวแทนรายใหญ่ หรือเจ้าของแบรนด์ในสักวัน..
ทั้งหมดนี้เอง ทำให้ในปัจจุบันหลาย ๆ แบรนด์อาหารเสริมหรือครีมออนไลน์นั้น (แต่ไม่ใช่ทั้งหมด)
ต่างโฟกัสไปที่การหา “คนมาขาย” มากกว่าหา “คนมาซื้อ” ด้วยการแข่งกันอวดความรวยผ่านโซเชียลมีเดียนั่นเอง
ซึ่งโพสต์อวดความรวยของหญิงสาว ที่สร้างยอดขาย 15 ล้านบาท ในเวลา 3 เดือน และกำลังโด่งดังบนโลกโซเชียล ก็เป็นหนึ่งในนั้น
ซึ่งก็ไม่มีใครรู้ว่า ลึก ๆ แล้ว ตัวเธอเองก็อาจต้องการให้คนมาสมัครเป็นตัวแทนของเธอเหมือนกันหรือเปล่า ?
ถึงแม้ว่าการอวดรวยบนโลกโซเชียล จะสร้างความรำคาญใจให้หลายคน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การขายอาหารเสริม ครีมบำรุงผิว หรือสินค้าออนไลน์ มันก็สามารถสร้างรายได้มหาศาลให้หลายคนได้จริง
อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ลืมว่าการจะลงทุนทำธุรกิจอะไรสักอย่าง “ต้องคิดให้รอบคอบ”
และการขายสินค้า อย่างไรมันก็ต้อง “มีกำไร”
ซึ่งต้องคิดไปถึงอนาคตในระยะยาว ว่าการลงทุนทำธุรกิจใด ๆ จะสร้างผลกำไรที่ยั่งยืนให้กับเราได้หรือไม่
เพราะเราต้องไม่ลืมว่า มาร์จินที่ถูกแบ่งออกมาเป็นทอด ๆ นั้น มันก็มีวันหมด หรือเหลือน้อยจนบางมาก ๆ
จนอาจทำแล้วไม่ต่างจากการเหนื่อยฟรี โดยคนที่ได้ประโยชน์ที่สุดนั้น ก็คือคนที่อยู่บนยอดพีระมิด หรือเจ้าของแบรนด์นั่นเอง..
อ้างอิง:
-http://ithesis/-ir.su.ac.th/dspace/bitstream/123456789/927/1/56602325%20%20%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%20%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%A5.pdf
-https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/684004
-https://www.wearecp.com/consumer-behavior-20220621/
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.