“ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์” มองตลาดโลกครึ่งปีหลังยังมีโอกาสจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ คาดเงินเฟ้อเริ่มชะลอ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง
8 ส.ค. 2022
“บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด” (ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์) บริษัทร่วมทุนระหว่าง “ธนาคารไทยพาณิชย์” ธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกของประเทศ และ “จูเลียส แบร์” (Julius Baer) ผู้นำธุรกิจบริหารความมั่งคั่งชั้นนำระดับโลกจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เผย “มุมมองเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังปี 2565” (Market Outlook Mid-Year 2022) ที่จัดทำโดย “จูเลียส แบร์” นำเสนอปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน อัตราเงินเฟ้อปัจจุบันอยู่ใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี มองราคาพลังงานที่สูงขึ้นจากปัญหารัสเซีย-ยูเครนเป็นผลจากสงครามมากกว่าวิกฤตอุปทาน ส่วนดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจถดถอยที่จัดทำโดยจูเลียส แบร์ ยังคงตรึงอยู่ที่ระดับ 20% แนะนักลงทุนจัดพอร์ตการลงทุนให้มีความหลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยง โดยบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีที่สามารถทำกำไรและมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งยังคงน่าสนใจ รวมถึงยังคงมุมมองเชิงบวกในกลุ่มเฮลธ์แคร์ หุ้นสวิส หุ้นปันผลในเอเชีย และธีมการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ด้านสินทรัพย์ที่จับต้องได้ (Real Asset) เช่น อสังหาริมทรัพย์ และสินค้าโภคภัณฑ์ยังสามารถเป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตการลงทุนที่ยังมีโอกาสให้ผลตอบแทนความเสี่ยงที่น่าสนใจในสภาพแวดล้อมที่มีภาวะเงินเฟ้อ
นางสาวลลิตภัทร ธรณวิกรัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด กล่าวว่า “จากมุมมองเศรษฐกิจโลกครึ่งปี 2565 ที่จัดทำขึ้นโดยจูเลียส แบร์ พบว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับสภาวะเงินเฟ้อที่ใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบกว่า 40ปี เป็นประเด็นกดดันภาพการลงทุนมากที่สุดในปีนี้ ดังนั้น การลงทุนในช่วงที่เงินเฟ้อสูงเรายังมองว่าสินทรัพย์ที่จับต้องได้ (Real Asset) อย่างสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) และอสังหาริมทรัพย์ ยังคงให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงเงินเฟ้อสูง ในขณะเดียวกัน ราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) ระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะกลายมาเป็นผู้ส่งออกน้ำมันในอนาคต และช่วยให้ตลาดน้ำมันโลกมีข้อต่อรองจากการขาดแคลนอุปทานจากรัสเซีย เรามองว่าน้ำมันไม่ได้กำลังจะหมดลงจากโลกนี้ แต่เป็นวิกฤตด้านราคาที่เป็นผลมาจากภาวะสงครามมากกว่าวิกฤตอุปทาน และเมื่อทุกอย่างคลี่คลายราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นก็จะค่อยๆ ปรับตัวลดลง”
อีกประเด็นที่เป็นที่จับตามองคือภาวะถดถอย (Recession) ซึ่งดัชนีชี้วัดของจูเลียส แบร์ ในปัจจุบันยังคงความน่าจะเป็นอยู่ที่ระดับ 20% จากอดีตที่ต้องแตะระดับเหนือกว่า 60% จึงจะเกิดภาวะถดถอย ด้านเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตัวเลขการจ้างงานยังคงแข็งแกร่ง หลังจากที่เศรษฐกิจหยุดชะงักไปกว่า 2 ปี จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้คนเริ่มกลับมาเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้ง ด้วยปัจจัยเหล่านี้ประกอบกับระดับเงินสดในภาคครัวเรือนของสหรัฐฯ มีระดับที่สูงขึ้น บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง ด้านความเคลื่อนไหวของดัชนี S&P 500 ในสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะตลาดหมี (Bear-Market) ในช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาโดยปรับตัวลดลง 20% จากจุดสูงสุด กลุ่มเทคโนโลยีได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน และคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มกระทบกับตลาดในวงกว้าง จูเลียส แบร์ มองว่าบริษัทที่ทำกำไร มีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง และมีสภาพคล่องสูงยังคงมีความน่าสนใจในการลงทุนมากกว่าบริษัทด้านเทคโนโลยีที่เพิ่งก่อตั้ง
“จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น เราเชื่อว่ายังคงมีโอกาสด้านการลงทุนจากสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มเฮลท์แคร์ หุ้นสวิส หุ้นเอเชียที่มีปันผล เช่นเดียวกันกับธีมการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานยังมีความน่าสนใจในการลงทุนเพื่อจัดพอร์ตการลงทุนที่มีความหลากหลาย โดย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ มีทีม Expert Advisory ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนที่มีความรู้ และประสบการณ์ ความสามารถด้านการบริหารความมั่งคั่งมาตรฐานเดียวกับจูเลียส แบร์ พร้อมให้คำแนะนำ และเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกค้าคนสำคัญเพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถบริหารพอร์ตได้อย่างยืดหยุ่น และสร้างความยั่งยืนได้ในระยะยาว” นางสาวลลิตภัทร กล่าวทิ้งท้าย