เวทีเสวนาสภาองค์กรของผู้บริโภค ชี้ การควบรวม ‘ทรู - ดีแทค’ กระทบบริการ - ค่าบริการมือถือ ย้ำ กสทช. ต้องกำกับดูแลและจำกัดผลกระทบให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด
26 พ.ค. 2022
จากกรณีที่กลุ่มเทเลนอร์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอม มูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ประกาศควบรวมกิจการธุรกิจโทรคมนาคมกับบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรูมูฟ เอช โดยเมื่อควบรวมแล้วจะมีส่วนแบ่งตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยถึงร้อยละ 52 ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้บริโภคถูกจำกัดทางเลือกในการใช้งานและอาจทำให้บริษัทฯ มีอำนาจเหนือตลาด สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงได้ยื่นหนังสือถึง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อให้ชะลอการพิจารณาลงมติ การควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคมฯ ดังกล่าวนั้น
ล่าสุด สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้จัดเวทีเสวนาวิชาการ Consumers Forum EP.2 : “Public Policy & Telecom Mergers: Ramifications on Competition and Consumers Protection : นโยบายสาธารณะกับปัญหาการควบรวมกิจการโทรคมนาคม” ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ สภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อชวนผู้บริโภคมาร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นว่า การควบรวมกิจการทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ให้บริการค่ายมือถือในประเทศไทย จาก 3 ราย เหลือเพียง 2 ราย ถือเป็นการผูกขาดหรือไม่ และผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด
ในช่วงเช้า มีเวทีเสวนาเรื่อง ‘นโยบายสาธารณะในการกำกับดูแลการแข่งขันและคุ้มครองผู้บริโภค’ โดยมีสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ก่อตั้งโคแฟคประเทศไทย และประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม เทคโนโลยีและสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค, สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค, ศิริกัญญา ตันสกุล โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ระหว่าง True และ Dtac และการค้าปลีก – ค้าส่ง, นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), สุวิทย์ วิจิตรโสภา รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และ ศรัณย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) เข้าร่วมเสวนาด้วย
สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ก่อตั้งโคแฟคประเทศไทย และประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม เทคโนโลยีและสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวถึงประเด็นการควบรวมกิจการของทรู - ดีแทค ว่าเป็นเรื่องที่กำลังอยู่ในความสนใจของสาธารณชน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ผู้ให้บริการรายใหญ่กำลังลดจำนวนลง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดหรืออำนาจเหนือตลาดเกิดขึ้น
ขณะที่ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวถึงกรณีที่ทรูประกาศการควบรวมกิจการโทรคมนาคมกับดีแทคว่า กสทช. เป็นองค์กรกำกับดูแลที่ควรต้องส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี จึงควรต้องดำเนินการกำกับดูแลการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรู - ดีแทคไม่ให้เกิดการแข่งขันที่น้อยลง หลีกเลี่ยงการมีอำนาจเหนือตลาดของธุรกิจ
“พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ได้รับรองสิทธิที่สำคัญของผู้บริโภคเอาไว้ คือการมีอิสระที่จะเลือกใช้สินค้าหรือบริการ ดังนั้น การควบรวมกิจการจาก 3 เจ้า เหลือ 2 เจ้า จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นและขัดต่อกฎหมายแน่นอน อีกทั้งยังทำให้เกิดอำนาจเหนือตลาดอย่างชัดเจน ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภค จะเดินหน้าและติดตามจัดทำข้อเสนอต่างๆ ออกมา เพื่อส่งให้ กสทช.อย่างเป็นการต่อไป” สารี กล่าว
ด้าน ศิริกัญญา ตันสกุล โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ระหว่าง True และ Dtac และการค้าปลีก – ค้าส่ง เล่าถึงผลการศึกษาของ กมธ. ในประเด็นดังกล่าวว่า การพิจารณาเรื่องการควบรวมกิจการโทรคมนาคมและการปลีกค้าค้าส่ง มีสิ่งที่เหมือนกันอย่างน่าตกใจ คือ ผู้กำกับดูแลไม่ได้บังคับใช้กฎหมายเพื่อปกป้องผู้บริโภคอย่างเต็มที่ เห็นได้จากการออกประกาศ กสทช. เมื่อปี 2561 ไปลดทอนอำนาจของตัวเอง ยิ่งเมื่อใช้ดุลยพินิจตีความกฎหมาย ก็พยายามปัดความรับผิดชอบไปมา
โฆษกคณะกมธ.ฯ ระบุอีกว่า การควบรวมกิจการระหว่างทรู - ดีแทคจะส่งผลต่อการกระจุกตัวของผู้ให้บริการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออัตราค่าบริการค่อนข้างชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของจุฬาฯ ที่พบว่า การควบรวมกิจการโทรคมนาคมจะทำให้อัตราค่าบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ทั้งนี้ มองว่าบอร์ดใหม่กสทช.ต้องกล้าหาญและตัดสินใจอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะกรณีดีลทรู - ดีแทค เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะ
ส่วน นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุถึงความคืบหน้าการพิจารณาเรื่องดังกล่าวว่า กรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมอยู่ในกระบวนการพิจารณาทางปกครองของ กสทช. ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ ไม่ควรเร่งรีบ และควรมุ่งเน้นการปกป้องประโยชน์สาธารณะโดยตีความและใช้ประกาศของตนเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ จึงไม่ควรปฏิเสธโดยการตีความว่าการควบรวมกิจการโทรคมนาคมนี้ไม่อยู่ในอำนาจของ กสทช.
“สิ่งที่เราต้องการวันนี้ หากเกิดการควบรวมกิจการเกิดขึ้นจริง จำเป็นที่กสทช.ต้องรักษาระดับแข่งขันให้ได้ใกล้เคียงเดิม หากรักษาระดับการแข่งขันไม่ได้ความเสียหายเกิดขึ้นแน่นอน อีกทั้งต้องประเมินผลกระทบการควบรวมกิจการ และจำกัดผลกระทบให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด” นพ.ประวิทย์ กล่าว
สำหรับประเด็นการเปิดเสรีด้านโทรคมนาคมนั้น นพ.ประวิทย์ มองว่า ประเทศไทยมีความดึงดูดที่ต่างชาติอยากมาลงทุนกิจการโทรคมนาคม แต่ติดเรื่องกฎหมายที่ห้ามบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในเรื่องโทรคมนาคม และเชื่อว่าหากมีการเปิดตลาดเสรีจะทำให้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง นอกจากนี้ นพ.ประวิทย์ ยังกล่าวเสริมถึงการดำเนินงานของรัฐบาลต่อกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมทิ้งท้ายว่า รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) และ NT เป็นผู้ถือหุ้นของหนึ่งในบริษัทที่จะควบรวม NT มีอำนาจลงมติคัดค้านการควบรวม หากรัฐบาลมีเจตนารมณ์ให้มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบ รัฐบาลต้องส่งสัญญาณให้ NT ในฐานะเจ้าหนี้คัดค้านการควบรวม ส่วนการคัดค้านแล้วได้ผลอย่างไรก็เป็นกระบวนการหนึ่ง แต่การเงียบในฐานะผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ใส่ใจกับการควบรวมดังกล่าว
นพ.ประวิทย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า กสทช. ควรทำงานให้เป็นมืออาชีพมากกว่าไหลไปตามกระแส ขณะที่ภาคสังคมต้องทำงานคู่ขนานอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ต้องร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการควบรวมดังกล่าวเพื่อปกป้องประโยชน์ของตัวเองด้วย ส่วนกลุ่มของภาครัฐก็ต้องร่วมมือกันให้เข้มข้นขึ้น ทั้งการปรับปรุงกฎระเบียบให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ทั้งยังฝากตั้งคำถามไปถึงภาคเอกชนว่า จากที่ภาคเอกชนกล่าวอ้างว่าการควบรวมจะทำให้ประสิทธิภาพการบริหารต้นทุนดีขึ้นนั้น มีแผนการที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมหรือไม่อย่างไร
ส่วนสุวิทย์ วิจิตรโสภา รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวถึงข้อห่วงกังวลของ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ว่า การควบรวมกิจการทรู – ดีแทคนั้น นอกจากจะทำให้ผู้เล่นในตลาดน้อยลงแล้ว การแข่งขันก็จะน้อยลงตามไปด้วย จึงอยากให้ กสทช. พิจารณาในเรื่องนี้อย่างรอบคอบ รอบด้าน เพราะเป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะ อีกทั้งต้องมีมาตรการเยียวยา นำกฎหมายแข่งขันทางการค้าฯ มาบังคับใช้ด้วย ทั้งนี้ กสทช. ควรบูรณาการการพิจารณาเรื่องดังกล่าวกับสำนักงานแข่งขันทางการค้าและกระทรวงพาณิชย์ เพราะในอนาคตหากราคาค่าบริการกระทบต่อผู้บริโภค อาจต้องมีการควบคุมราคา ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ มีกลไกของกฎหมาย ดูแลประชาชนอยู่แล้ว
“อยากให้ กสทช. คำนึงถึงมิติเรื่องผู้บริโภคก่อนจะรับทราบหรืออนุญาตให้มีการควบรวมกิจการ และควร มีมาตรการออกมาปกป้องสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคด้วย ซึ่ง สคบ.จะติดตามและสะท้อนปัญหา เพื่อปกป้องสิทธิผู้บริโภคต่อไป” รองเลขาธิการ สคบ. ระบุ
ด้านมุมมองภาคเอกชน ศรัณย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) ระบุว่า กสทช. มีอำนาจเต็มในการควบรวมกิจการ ดังนั้น ตีความว่าไม่มีอำนาจตัดสินเรื่องดังกล่าวโดยอ้างประกาศ กสทช. ปี 2561 นั้นอาจเป็นการตีความกฎหมายที่แคบเกินไป พร้อมระบุว่าที่ผ่านมาประเทศไทยมีผู้ให้บริการโทรคมนาคมหลัก 3 รายมากว่า 20 ปี เคยชินกับการมีโปรโมชันทุกวัน แต่เชื่อว่าหลังจากควบรวมกิจการและจำนวนผู้เล่นลดลงจะส่งผลให้โปรโมชั่นต่างๆ ลดน้อยลง ทั้งนี้ เอไอเอส พร้อมแข่งขันอย่างเต็มที่ แต่ กสทช.ต้องกำหนดกติกาให้สมดุลด้วย
“การควบรวมทรู - ดีแทค เป็นซีรีส์ที่ 2 ต่อจากการควบรวมธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นการผูกขาดข้ามอินดัสทรี่ของกลุ่มซีพี และมีความเสี่ยงจะเกิดการกีดกันทางการแข่งขันในพื้นที่ของเจ้าของกิจการผู้บริโภคมีตัวเลือกลดลง ที่สำคัญเรากังวลว่า การควบรวมครั้งนี้ เป็นการควบรวมของบริษัทแม่ แต่ผู้ถือใบอนุญาตเป็นบริษัทลูก ซึ่งไม่ได้ควบรวม 1 มิถุนายน ประเทศไทยจะมีการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ถามว่า บริษัทที่จะควบรวมกันจะมีมาตรการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าหลุดรอดไปได้อย่างไร” ศรัณย์ กล่าว