‘บมจ.บีบีจีไอ’ ผู้นำอุตฯ พลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ ต่อยอดธุรกิจด้วยนวัตกรรมสีเขียว ผนึกพันธมิตรระดับโลก ชูเทคโนโลยี สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง
1 ก.พ. 2022
บมจ.บีบีจีไอ หรือ BBGI โชว์ศักยภาพผู้นำอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมสีเขียว ชูจุดแข็งกลุ่มผู้ถือหุ้นบางจากและกลุ่มน้ำตาลขอนแก่น ต่อยอดสู่ผู้สร้างสรรค์ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง (High Value Bio-Based Products: HVP) เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับทุกคน ล่าสุดสำนักงาน ก.ล.ต.นับ 1 แบบไฟลิ่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) (“BBGI”) เปิดเผยว่า BBGI เป็นผู้นำธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ ในประเทศไทย พร้อมต่อยอดองค์ความรู้ความชำนาญสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตรแบบก้าวกระโดด ลดการเบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติ และ สร้างความยั่งยืนให้แก่โลก
โดยปัจจุบัน BBGI ถือหุ้นในบริษัทย่อย 4 บริษัท ได้แก่ บมจ.เคเอสแอล กรีน อินโนเวชั่น (KGI) ผู้ผลิตและจำหน่ายเอทานอลที่ใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบในการผลิต ในสัดส่วนร้อยละ100 ของทุนชำระแล้วบริษัทบางจากไบโอเอทานอล (ฉะเชิงเทรา) จำกัด (BBE) ผู้ผลิตและจำหน่ายเอทานอลโดยใช้มันสำปะหลังสดและมันสำปะหลังเส้นเป็นวัตถุดิบในการผลิต ในสัดส่วนร้อยละ 85 ของทุนชำระแล้วบริษัทบางจากไบโอฟูเอล จำกัด (BBF) ผู้ผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซล โดยใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต ในสัดส่วนร้อยละ 70 ของทุนชำระแล้วบริษัท บีบีจีไอ ยูทิลิตี้ แอนด์ เพาเวอร์ จำกัด (BUP)ผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านสาธารณูปโภคและพลังงาน ในสัดส่วนร้อยละ 100 ของทุนชำระแล้ว
นอกจากนี้ BBGI ยังถือหุ้นในกิจการร่วมค้าที่ประกอบธุรกิจอื่น ได้แก่ บริษัท วิน อินกรีเดียนส์ จำกัด (WIN) ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง ในสัดส่วนร้อยละ 51 ของทุนชำระแล้ว อีกทั้ง BBGI ยังมีการลงทุนในหุ้นบุริมสิทธิ์ที่แปลงสภาพได้ของ Manus Bio Inc. (Manus) ซึ่งจดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกา ในสัดส่วนร้อยละ 5.6 ของทุนชำระแล้ว ซึ่ง Manus ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงและมีความเชี่ยวชาญหลากหลายในผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง และยังลงทุนใน บมจ. อุบล ไบโอ เอทานอล ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล และแป้งมันสำปะหลัง ในสัดส่วนร้อยละ 12.4 ของทุนชำระแล้ว อีกด้วย
BBGI มีรายได้เติบโตต่อเนื่องในปี 2561-2563 จำนวน 9,802 ล้านบาท 10,060 ล้านบาท และ 12,620 ล้านบาทตามลำดับ จากธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งมีปริมาณการจำหน่ายมากขึ้นตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นของโรงงานผลิตเอทานอลและไบโอดีเซล รวมไปถึงการจำหน่ายเอทานอลเกรดอุตสาหกรรม และเกรดเภสัชกรรม เพื่อนำไปผลิตเจลแอลกอฮอล์ในช่วงการระบาดของ Covid-19 ในขณะที่กำไรสุทธิของ BBGI เติบโตต่อเนื่องในปี 2561-2563 จำนวน 200 ล้านบาท 450 ล้านบาท และ 1,112 ล้านบาทตามลำดับ ส่วนผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกของปี 2564 BBGI มีรายได้รวม 10,122 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.63 และมีกำไรสุทธิ 1,058 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.27 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน
นางสาวบุษราภรณ์ จันทร์ชูเชิด รองกรรมการผู้จัดการ สายงานวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย ซีมิโก้ จํากัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า หลังจาก BBGI ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) โดยเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 433.20 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 2.50 บาท คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 30 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดนั้น ล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต. ได้นับ 1 แบบไฟลิ่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ BBGI แบ่งเป็น
1)จัดสรรหุ้นสามัญที่ออกใหม่จำนวนไม่เกิน 108.30 ล้านหุ้น เพื่อเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเฉพาะกลุ่ม ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิมของ บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น หรือ BCP และ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น หรือ KSL เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้นตามสัดส่วนการถือหุ้น (Pre-emptive Rights)
2)จัดสรรหุ้นสามัญที่ออกใหม่จำนวนไม่เกิน 324.90 ล้านหุ้น และหุ้นในส่วนที่เหลือจากการเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นของ BCP และ KSL เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้น เพื่อเสนอขายต่อประชาชนเป็นการทั่วไป
นอกจากนี้ ยังจัดสรรหุ้นสามัญส่วนเกิน (Over-Allotment) จำนวนไม่เกิน 43.32 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่เสนอขายในครั้งนี้ เพื่อรองรับการใช้สิทธิจัดสรรหุ้นเกินกว่าจำนวนที่เสนอขาย (หากมีการใช้สิทธิ) อีกด้วย
ทั้งนี้ BBGI จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ ส่วนหนึ่งนำไปลงทุนลงทุนในโครงการต่างๆ ของ BBGI และบริษัทย่อย เพื่อขยายกิจการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ส่วนที่เหลือจะใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมบางส่วน รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน