เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังเข้าสู่ “ทศวรรษแห่งดิจิทัล” และปีนี้ เศรษฐกิจดิจิทัลไทย จะมีมูลค่า 1 ล้านล้านบาท

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังเข้าสู่ “ทศวรรษแห่งดิจิทัล” และปีนี้ เศรษฐกิจดิจิทัลไทย จะมีมูลค่า 1 ล้านล้านบาท

16 พ.ย. 2021
Google, Temasek และ Bain & Company ได้เผยแพร่รายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฉบับที่ 6 (e-Conomy SEA Report - Roaring 20’s: The SEA Digital Decade) รายงานฉบับนี้ระบุว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเข้าสู่ “ทศวรรษแห่งดิจิทัล” และเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคนี้ จะมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (33.0 ล้านล้านบาท) ในปี ค.ศ. 2030
ด้วยจำนวนผู้บริโภคและผู้ค้าที่ใช้งานบนแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ, ธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร และบริการด้านการเงินดิจิทัล ส่งผลให้มูลค่าสินค้ารวม (Gross Merchandise Volume: GMV) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจแตะ 174,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.7 ล้านล้านบาท) ภายในสิ้นปี 2021 และมีแนวโน้มทยานสู่ 363,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( 12.0 ล้านล้านบาท) ในปี 2025
ปัจจุบันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 440 ล้านคน และที่สำคัญ 350 ล้านคนในจำนวนนี้ หรือประมาณ 80% เป็นผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัล กล่าวคือ ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เคยใช้บริการออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งรายการ
ซึ่งนับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ มีผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัลรายใหม่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้ถึง 60 ล้านราย โดย 20 ล้านรายในจำนวนนี้เพิ่มเข้ามาในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 เท่านั้น
สำหรับประเทศไทย คาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัล จะมีมูลค่าสูงถึง 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.0 ล้านล้านบาท) ในปี 2021 โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 51% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
โดยไทยยังคงเป็นตลาดที่มีเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย
และคาดว่าในปี 2025 มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย จะแตะที่ 57,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.9 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 17% ต่อปี
สำหรับข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจ เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลไทย จากรายงานของปีนี้ มีดังนี้
-อีคอมเมิร์ซ เป็นแรงผลักดันที่สำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย และคาดว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในทศวรรษหน้า
โดยภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีมูลค่า GMV สูงถึง 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (0.7 ล้านล้านบาท) ในปี 2021 โตขึ้นถึง 68% จากปีก่อน
และคาดว่าจะแตะ 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.2 ล้านล้านบาท) ในปี 2025
หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 14% ต่อปี
-สื่อออนไลน์ มีมูลค่า GMV อยู่ที่ 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.5 แสนล้านบาท) ในปี 2021 เติบโตขึ้น 29%
นอกจากนี้ยังพบว่าผลกระทบของการแพร่ระบาด ทำให้มีเกมเมอร์หน้าใหม่เพิ่มขึ้น โดยมีความต้องการซื้อเกมและใช้จ่ายในเกมเป็นตัวขับเคลื่อน
ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าแตะ 7,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.6 แสนล้านบาท) ในปี 2025
หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 16% ต่อปี
-การขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ พบว่าภาคธุรกิจส่งอาหารออนไลน์ มีการเติบโตที่สดใส ส่งผลให้ภาคธุรกิจการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ เติบโตขึ้นถึง 37% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
โดยมีมูลค่า GMV รวมอยู่ที่ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (0.7 แสนล้านบาท) ในปี 2021
และคาดว่าจะมีมูลค่าแตะ 5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.7 แสนล้านบาท) ในปี 2025
หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 26% ต่อปี
ทั้งนี้พบว่าผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในไทย หันมาใช้บริการส่งอาหารออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และเป็นหนึ่งในบริการดิจิทัลที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด โดย 76% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย สั่งอาหารออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง
-ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวออนไลน์ ยังไม่ฟื้นตัว แต่คาดว่าอาจจะได้เห็นการฟื้นตัวในระยะกลางถึงระยะยาว โดยได้แรงหนุนจากความต้องการที่ถูกอั้นไว้ของผู้บริโภคและความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน
ซึ่งในปี 2021 มีมูลค่า GMV อยู่ที่ 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (0.9 แสนล้านบาท) ในปี 2021 เติบโตขึ้น 8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
และคาดว่าจะมีมูลค่าแตะ 8,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.8 แสนล้านบาท) ในปี 2025
หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่สูงถึง 32% ต่อปี
สำหรับข้อมูลอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่
-คลื่นลูกใหม่ของผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัล
ประเทศไทยมีผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัลรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 9 ล้านคน นับตั้งแต่การเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดในปี 2020 (ถึงครึ่งแรกของปี 2021) โดยกว่า 67% ของผู้ใช้รายใหม่อาศัยอยู่นอกหัวเมืองหลัก
อัตราการใช้บริการดิจิทัลของประเทศไทย สูงเป็นอันดับสองในภูมิภาค รองจากฟิลิปปินส์ โดยมีผู้ใช้บริการดิจิทัลสูงถึง 90% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต
-ความพร้อมในด้านดิจิทัลของผู้ค้า
กว่า 1 ใน 3 ของผู้ค้าดิจิทัลในประเทศไทย เชื่อว่าธุรกิจของพวกเขาจะไม่สามารถผ่านวิกฤติโรคระบาดไปได้ หากไม่ได้ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล แม้ว่าผู้ค้าดิจิทัลใช้บริการถึง 2 แพลตฟอร์มโดยเฉลี่ย แต่กำไรของธุรกิจยังเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง
บริการด้านการเงินดิจิทัลกําลังกลายมาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักเพราะ 96% ของผู้ค้าดิจิทัลรับการชำระเงินดิจิทัลแล้ว และ 82% ของผู้ค้าดิจิทัลรับบริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล
นอกจากนี้ ผู้ค้าจํานวนมากยังใช้เครื่องมือดิจิทัลในการเชื่อมต่อกับลูกค้า โดยกว่า 58% มีแนวโน้มที่จะใช้เครื่องมือการตลาดดิจิทัลมากขึ้นในช่วง 5 ปีข้างหน้า
-การระดมทุนขยับขึ้นอีกระดับ
นักลงทุนต่างมองภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเป้าหมายการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนงดงามในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซและบริการด้านการเงินดิจิทัล ที่ยังคงดึงดูดเม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่
การลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในปี 2021 คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกับปี 2020
บริษัทยูนิคอร์นที่ถือกําเนิดขึ้นแห่งแรกในประเทศไทยในปีนี้ เป็นปัจจัยดึงดูดการลงทุนในบริการดิจิทัลที่เติบโตขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมิร์ซ, เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech), เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HealthTech) และเทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech)
-บริการด้านการเงินดิจิทัลทุกชนิดเติบโตอย่างสดใส
นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด บริการด้านการเงินดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเติบโตที่ดี โดยผู้ค้าและผู้บริโภคหันมาใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีวอลเล็ท (E-Wallet) และระบบการชำระเงินแบบ A2A (account-to-account) กันมากขึ้น
ทั้งนี้ การชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลคาดว่าจะมีมูลค่าธุรกรรมรวม (Gross Transaction Value: GTV) กว่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (36.3 ล้านล้านบาท) ในปี 2025 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณการจำนวน 707,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (23.3 ล้านล้านบาท) ในปี 2021
-ปัจจัยขับเคลื่อนและปัจจัยหนุนเศรษฐกิจดิจิทัล ให้มีมูลค่าสินค้ารวมไปถึงระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (33.0 ล้านล้านบาท) ในปี 2030
อีคอมเมิร์ซและบริการจับจ่ายออนไลน์ จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญของมูลค่าสินค้ารวมของเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2030 มูลค่าของธุรกิจขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ รวมทั้งสื่อออนไลน์ อาจเติบโตแบบอีคอมเมิร์ซได้ หากความต้องการของผู้บริโภคนอกเขตเมืองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะ ยังเป็นอุปสรรคสำคัญ ปัจจัยหนุนที่เกี่ยวพันกับผู้บริโภค, ผู้ค้า แพลตฟอร์ม และหน่วยงานกำกับดูแล จะเป็นตัวผลักดันให้เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโต ไม่ว่าจะเป็นความมุ่งมั่นต่อความยั่งยืน, การกำกับดูแลข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาและเอื้อต่อการทำธุรกิจ, โครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการไหลของข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีความถี่มากขึ้น
รวมถึงมาตรการคุ้มครองผลประโยชน์ของแรงงาน และผู้บริโภคควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม
แจ็คกี้ หวาง Country Director, Google ประเทศไทย กล่าวว่า “รายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจดิจิทัลทั่วภูมิภาค ประเทศไทยยังคงเป็นตลาดที่มีมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคนี้ โดยมีการเติบโตของภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ตลอดจนสื่อออนไลน์ และธุรกิจขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์เป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญ
เพื่อให้ตระหนักถึงศักยภาพสูงสุดของเศรษฐกิจดิจิทัล จะต้องมีการวางรากฐานอนาคตอย่างครอบคลุมเพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้ Google ยังคงมุ่งมั่นนำเสนอผลิตภัณฑ์และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจดิจิทัลที่เท่าเทียมสำหรับคนไทย รวมทั้งให้การฝึกอบรมแก่ผู้ประกอบการ SME ไทย ในการเพิ่มพูนทักษะดิจิทัลเพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจ และช่วยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคในทศวรรษแห่งดิจิทัล”
สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลประเทศไทยได้ที่
https://services.google.com/fh/files/misc/thailand_e_conomy_sea_2021_report.pdf
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.