ต่อไปอาจไม่ต้องปลูกกาแฟ ทีมวิจัยฟินแลนด์ เพาะกาแฟจากในแล็บได้แล้ว

ต่อไปอาจไม่ต้องปลูกกาแฟ ทีมวิจัยฟินแลนด์ เพาะกาแฟจากในแล็บได้แล้ว

28 ต.ค. 2021
อีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราอาจกำลังนั่งจิบกาแฟที่มาจากจานเพาะเชื้อ แทนที่จะมาจากไร่กาแฟ
เพราะล่าสุด สถาบันวิจัยทางเทคนิค VTT ประเทศฟินแลนด์ ได้คิดค้นวิธี “เพาะกาแฟจากเซลล์”
ที่ใช้หลักการเดียวกับการเพาะเนื้อสัตว์จากเซลล์ สำเร็จแล้ว..
ทีมนักวิทยาศาสตร์ จากสถาบันวิจัยทางเทคนิค VTT ประเทศฟินแลนด์ นำโดยคุณ Heiko Rischer ได้เริ่มต้นผลิตกาแฟจากเซลล์ โดยทางทีมวิจัยเชื่อว่า นี่จะเป็นโลกแห่งอนาคตแห่งอุตสาหรรมกาแฟ
เนื่องจากในปัจจุบัน กาแฟเป็นเครื่องดื่มชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก
ยืนยันได้จากสถิติด้านเครื่องดื่มในปี 2021 ที่คนในสหรัฐฯ ดื่มน้ำเปล่ามากที่สุด 66%
รองลงมาคือการดื่มกาแฟถึง 63% ซึ่งเฉลี่ยแล้วคนอเมริกัน จะดื่มกาแฟประมาณวันละ 3 แก้ว..
ทั้งนี้ กาแฟจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ในแล็บ เป็นกาแฟที่ไม่ได้เติบโตมาจากเมล็ดกาแฟ แต่เติบโตจากกลุ่มเซลล์ต้นกาแฟ ภายใต้การควบคุมอุณหภูมิ, แสง และออกซิเจนอย่างใกล้ชิดในเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพ
โดยเป็นการใช้หลักการเดียวกับ “เนื้อสัตว์สังเคราะห์” (Cell-based Meat) หรือก็คือชิ้นเนื้อจริง ๆ ที่ผ่านการเพาะเลี้ยงเซลล์ให้เติบโตมาเป็นก้อนเนื้อ โดยที่เราไม่ต้องฆ่าสัตว์เลยสักตัวเดียว
และเมื่อปีที่แล้ว เทคโนโลยีดังกล่าวก็ได้รับการอนุมัติจากทางการสิงคโปร์ ให้สามารถวางจำหน่ายได้เป็นครั้งแรกแล้ว
ซึ่งพอนำมาปรับใช้กับอุตสาหกรรมกาแฟ ก็สามารถนำไปผ่านกระบวนการคั่วและใช้ผงกาแฟในการชงลักษณะเดียวกับกาแฟทั่วไปได้เลย
แล้วถ้าถามว่า ทำไมต้องคิดค้นนวัตกรรมเหล่านี้ขึ้นมา ?
ทางคุณ Richer ได้กล่าวถึงความท้าทายของอุตสาหกรรมกาแฟไว้ว่า การปลูกกาแฟ กำลังเจอปัญหาจากเรื่องภาวะโลกร้อนเหมือนกับอีกหลายอุตสาหกรรม ที่พออุณหภูมิโลกสูงขึ้น ย่อมส่งผลให้ผลผลิตกาแฟที่ได้น้อยลงตาม
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ก็ทำให้เกษตรกรหันไปปลูกอย่างอื่นแทน ซึ่งสวนทางกับความต้องการกาแฟของโลก ที่มีมากขึ้นทุกวัน
จากปัญหาข้างต้น ทำให้ตอนนี้ทางทีมวิจัย กำลังดำเนินการวิเคราะห์อย่างละเอียด ว่าผลิตภัณฑ์ของทีมจะมีความยั่งยืนเพียงใด หากผลิตในปริมาณมาก ๆ (Mass Production)
แต่ทั้งนี้ ทางทีมก็เชื่อว่าจะใช้แรงงานและทรัพยากรน้อยกว่าการผลิตกาแฟทั่วไป
อย่างเช่น การใช้น้ำในการเพาะกาแฟในห้องแล็บ ก็ต้องน้อยกว่าการทำไร่กาแฟอย่างแน่นอน
ส่วนในด้านรสชาติ ที่หลายคนน่าจะอยากรู้นั้น ตอนนี้ก็มีเพียงนักวิเคราะห์ทางประสาทสัมผัส (Sensory Analysts) ที่ได้รับอนุญาตให้ลองชิมกาแฟที่ผ่านการเพาะจากเซลล์ได้
แต่ต้องลองชิมรสชาติ และบ้วนทิ้งเท่านั้น เนื่องจากยังมีสถานะเป็น "อาหารใหม่ (Novel Food) " และยังไม่ได้มีการรับรอง นั่นเอง
โดยจากการทดสอบรสชาติ พบว่า “กาแฟจากการเพาะเซลล์ มีรสขมน้อยกว่ากาแฟที่ปลูกปกติ”
ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากปริมาณคาเฟอีนที่ต่ำกว่าเล็กน้อย และรส Fruity ในกาแฟยังไม่เด่นชัดเท่าไร
แต่ทางคุณ Rischer ก็ระบุว่า พวกเขายังไม่ใช่นักคั่วกาแฟมืออาชีพ ที่จะรู้ว่ารสกาแฟแบบไหนดีที่สุด
เพราะจริง ๆ แล้ว การที่กาแฟจะมีรสชาติออกมาอย่างไรในท้ายที่สุด ก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการคั่วด้วย
นอกจากนี้ คุณ Rischer ยังบอกว่าโครงการเพาะกาแฟจากเซลล์นี้ น่าจะใช้เวลาอย่างน้อยอีก 4 ปี ก่อนที่จะได้รับการอนุมัติด้านกฎระเบียบและการสนับสนุนทางการค้า เพื่อให้สามารถเอาไปวางขายได้ทั่วไป
อย่างไรก็ดี กาแฟในแล็บของทีมวิจัย VVT เอง ก็ไม่ใช่ที่เดียวที่มีความพยายามในการนำเสนอทางเลือกใหม่สำหรับอุตสาหกรรมกาแฟ
เพราะยังมีสตาร์ตอัป Atomo ในซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐฯ ที่ได้ทำการพัฒนา “กาแฟโมเลกุล” ที่มีต้นกำเนิดมาจากวัสดุอินทรีย์อื่นที่ไม่ใช่ต้นกาแฟ ซึ่งทางบริษัทก็เพิ่งประกาศไปเมื่อเดือนก่อนว่า ได้ระดมทุน 11.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 383 ล้านบาท) สำหรับนำไปพัฒนาโครงการนี้ด้วย
ทั้งหมดนี้ก็นับเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของนวัตกรรมในอุตสาหกรรมกาแฟ
ถึงแม้ว่านวัตกรรมเหล่านี้ จะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับผู้บริโภค
แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายอาหารบางคน ได้ออกมาเตือนว่า “การดำรงชีวิตของผู้ผลิตกาแฟทั่วโลก อาจได้รับผลกระทบในทางลบ”
ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรจากการปศุสัตว์ ที่หากเนื้อในห้องแล็บได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น คนทำฟาร์มอยู่เดิม ก็อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน..
อ้างอิง :
-https://www.france24.com/en/live-news/20211027-finnish-scientists-create-sustainable-lab-grown-coffee
-https://dealsonhealth.net/coffee-statistics/
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.