Squid Game ซอฟต์พาวเวอร์ของเกาหลีใต้ ที่ส่งผลกระทบต่อวงการ การตลาด, แฟชั่น และภาษา

Squid Game ซอฟต์พาวเวอร์ของเกาหลีใต้ ที่ส่งผลกระทบต่อวงการ การตลาด, แฟชั่น และภาษา

16 ต.ค. 2021
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ซีรีส์จากประเทศเกาหลีใต้เรื่อง Squid Game เพึ่งขึ้นแท่นเป็นซีรีส์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดตลอดกาล โดยมียอดผู้เข้าชมถึง 111 ล้านบัญชี แซงหน้าแชมป์เก่าอย่าง ซีรีส์เรื่อง Bridgerton : Season 1 ที่มียอดผู้เข้าชม 82 ล้านบัญชี ไปเรียบร้อย
(หมายเหตุ : พิจารณาจากจำนวนบัญชีที่เข้าชม ในช่วง 28 วันแรก ของวันที่ออกฉายบนแพลตฟอร์ม)
แต่นี่ก็ไม่ใช่การสร้างปรากฎการณ์สุดยอดผลงานของเกาหลีใต้ เป็นครั้งแรกเสียทีเดียว
เพราะก่อนหน้านี้ หากยังจำกันได้กับภาพยนตร์เรื่อง “Parasite” ก็ได้สร้างความฮือฮาให้กับวงการภาพยนตร์ ที่ทำออกมาได้ดี จนได้รับรางวัลออสการ์ไปถึง 4 รางวัล ในปี 2020 ที่ผ่านมา
แล้วความสำเร็จในครั้งนี้ของ Squid Game ยิ่งใหญ่ถึงขนาดไหน ?
ก่อนจะไปหาคำตอบ มาทำความรู้จักซีรีส์เรื่องนี้กันก่อน
หากใครที่ยังไม่เคยดู ก็สามารถเล่าได้คร่าว ๆ ว่า Squid Game ดำเนินเรื่องในคอนเซปต์ “เล่นลุ้นตาย”
โดยจะมี 456 ผู้เล่น ซึ่งผู้ที่เข้าเล่นเกมนี้มาด้วยความสมัครใจทั้งหมด และล้วนเป็นผู้ที่รู้สึกหมดหวังในชีวิต ส่วนมากก็เป็นหนี้ก้อนใหญ่ หรือรู้สึกว่าชีวิตไม่มีใครให้กลับไปหาแล้ว เลยตัดสินใจมาเล่นเกมเพื่อชิงเงินรางวัล
ซึ่งมีกติกาว่า ผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดจะเล่นเกมในวัยเด็กที่ถูกจัดมาให้ เพื่อชิงเงินรางวัลกว่า 45,600 ล้านวอน หรือราว ๆ 1,290 ล้านบาท
แต่ถ้าคุณเป็นผู้แพ้ในเกม คุณก็จะถูกฆ่า..
อย่างไรก็ดี เรื่องราวของ Squid Game นั้น ไม่ได้เน้นการนำเสนอทริกหรือวิธีเอาตัวรอดอย่างชาญฉลาดเหมือนในซีรีส์เรื่องอื่น ๆ แต่เน้นการนำเสนอด้านมืดของมนุษย์มากกว่า เนื่องจากในตัวเนื้อหานั้นดำเนินด้วยเกมที่เรียบง่าย แต่ปะปนไปด้วยหลากหลายทางอารมณ์ ทั้งมิตรภาพ, การเอาตัวรอด, การหักหลัง, ความโลภของมนุษย์ และอีกมายมาย
ซึ่งหลาย ๆ สื่อ ต่างก็บอกและยกย่องกันว่า เป็นอีกหนึ่งซีรีส์ที่โลกต้องจารึกไว้เลยทีเดียว
แล้วถ้าถามว่า Squid Game ประสบความสำเร็จและทรงอิทธิพลขนาดไหน ?
ตอบได้เลยว่า หลังจากที่ซีรีส์เรื่องนี้ออนแอร์ไปราว ๆ 2 สัปดาห์
ก็ทำให้ราคาหุ้นของ Netflix พุ่งขึ้นทำ New High ที่ 639.10 ดอลลาร์สหรัฐ/หุ้น เลยทีเดียว
แต่ความสำเร็จในครั้งนี้ ก็ไม่ได้แค่ทำให้ราคาหุ้นของ Netflix ปรับตัวสูงขึ้น และซีรีส์ Squid Game เป็นที่นิยมมากขึ้นอย่างล้มหลาม จนเป็นที่พูดถึงกันบนโลกออนไลน์ทุก ๆ นาที เท่านั้น
แต่ยังช่วยเพิ่มโอกาสและสร้างผลกระทบต่าง ๆ ให้กับองค์ประกอบทุก ๆ ระเบียบนิ้ว ที่อยู่ในซีรีส์อีกด้วย อาทิ
1) ผลกระทบเชิงบวกต่อ วงการแฟชั่น
ที่ผ่านมา ทาง Vogue นิตยสารแฟชั่นระดับโลก ได้ออกมาระบุว่า ไม่บ่อยนักที่จะได้ตีพิมพ์ด้านแฟชั่นที่เกี่ยวกับรายการโชว์ของ Netflix แต่เนื่องจากหนึ่งในองค์ประกอบหลักของซีรีส์เรื่อง Squid Game ก็คือ “คอสตูม”
โดยในซีรีส์เรื่องนี้ ในฉากเกมที่ถูกเซ็ตขึ้นมา เหล่าตัวละครที่เป็นผู้คุมเกม จะมีการสวมใส่ชุดสีแดงที่มีหมวกแบบสวมหัว และหน้ากาก เพื่อปกปิดใบหน้า
ซึ่งเครื่องแบบนี้กำลังจะกลายมาเป็นแฟชั่นเทรนด์สไตล์ “Survivalist”
และยังมีการคาดการณ์ว่า ชุดสีแดงของผู้คุมเกมนี้ จะเป็นที่นิยมมากที่สุดชุดหนึ่งในเทศกาลฮาโลวีน ที่กำลังจะมาถึงนี้ด้วย
โดยชุดสีแดงในเรื่องที่เป็นชุดยาวมีซิปรูด ได้รับความสนใจ จนการค้นหา “Red boiler suits” บนอินเทอร์เน็ต เพิ่มขึ้น 62%
ส่วนเหล่าผู้เข้าแข่งขันทั้ง 456 คน ที่สวมใส่ชุดสีเขียว และรองเท้าสนีกเกอร์สีขาว ก็ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของซีรีส์ไปเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ ด้านรองเท้า Vans เอง ที่ไม่ได้จ่ายค่า Tie-in แต่อย่างใด
ก็กลับได้รับผลพลอยได้จากซีรีส์ไปแบบเต็ม ๆ ซึ่งทำให้ยอดขายของรองเท้า Vans Slip-On สีขาว เพิ่มขึ้นกว่า 7800% ภายใน 2 อาทิตย์ หลังจากซีรีส์ออกฉาย
หรือแม้แต่รองเท้า Slip-On สีขาว ก็พบว่ามีการค้นหา “White slip-on” บนอินเทอร์เน็ต ที่เพิ่มขึ้นกว่า 97% เช่นกัน
2) อิทธิพลจากซีรีส์ ทำให้คนอยากเรียนภาษาเกาหลี
นอกจาก Squid Game จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมแฟชั่นแล้ว อีกเรื่องที่เราอาจคาดไม่ถึงเลยคือ
“คนสนใจเรียนภาษาเกาหลีมากขึ้น จากอิทธิพลของซีรีส์” ซึ่งก็ไม่ใช่แค่เฉพาะชาวเอเชียเท่านั้น แต่ลามไปถึงชาติตะวันตกด้วย
โดยแอปพลิเคชัน Duolingo หรือก็คือแอปฯ สอนภาษาที่หลายคนอาจเคยใช้กันมาบ้าง
พบว่า จากอิทธิพลของซีรีส์เรื่อง Squid Game ทำให้มีผู้ใช้รายใหม่ต้องการเรียนภาษาเกาหลีบนแอปฯ เพิ่มขึ้น 76% ในกลุ่มประเทศ Great Britain (อังกฤษ, สก๊อตแลนด์ และเวลส์) และเพิ่มขึ้น 40% ในสหรัฐอเมริกา
อีกทั้งทาง Oxford English Dictionary ก็เพิ่งได้เพิ่มคำศัพท์ใหม่ ที่เป็นคำทับศัพท์จากภาษาเกาหลี 26 คำ ลงในการอัปเดตครั้งล่าสุดด้วย
3) โอกาสของนักแสดงในซีรีส์
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา แบรนด์หรูอย่าง Louis Vuitton ได้ออกมาประกาศว่า ทางแบรนด์ได้คว้าตัวคุณ HoYeon Jung หนึ่งในนักแสดงนำของ Squid Game มาเป็นหนึ่งใน Global Brand Ambassador เรียบร้อยแล้ว
โดยทางคุณ Nicolas Ghesquière ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ฝั่งเสื้อผ้าสตรี ของ Louis Vuitton
ก็ได้กล่าวว่า “ผมตกหลุมรักพรสวรรค์และบุคลิกที่ยอดเยี่ยมของ HoYeon Jung และผมก็ตั้งตารอที่จะเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ของเราที่ Louis Vuitton”
เช่นเดียวกับทางคุณ HoYeon Jung ที่บอกว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่จะได้ร่วมงานกับ Louis Vuitton
อีกทั้ง อิทธิพลจาก Squid Game ยังทำให้คุณ HoYeon Jung ล่าสุดมียอดผู้ติดตามบน Instagram เพิ่มขึ้นเป็น 20.6 ล้านคน จากเดิมก่อนที่ซีรีส์จะออนแอร์ เธอมีผู้ติดตามอยู่ประมาณ 410,000 คน
เรื่องนี้ยังทำให้เธอกลายเป็นนักแสดงของประเทศเกาหลีใต้ ที่มีผู้ติดตามบน Instagram มากที่สุดด้วย
นอกจากนี้ นักแสดงคนอื่น ๆ ในเรื่อง ก็มียอดผู้ติดตามบน Instagram เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเช่นกัน
เช่น คุณ Wi Ha Jun ที่มียอดผู้ติดตามเป็น 8.4 ล้านคน จากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 340,000 คน
ซึ่งก็น่าติดตามต่อไปว่า คุณ HoYeon Jung และนักแสดงคนอื่น ๆ ในซีรีส์ จะมีโอกาสร่วมงานกับแบรนด์ไหนอีกบ้าง
4) โอกาสทางการตลาด ของแบรนด์ต่าง ๆ
มีแบรนด์ต่าง ๆ ที่เห็นโอกาสทางการตลาด จากปรากฏการณ์นี้มากมาย
ตัวอย่างเช่น เบียร์ Heineken ที่ได้โพสต์ภาพสินค้าให้ล้อไปกับสัญลักษณ์ของเกมแกะน้ำตาลในซีรีส์ ได้แก่ สัญลักษณ์วงกลม, สามเหลี่ยม, ดาว (บนขวดเบียร์จริง) และร่ม เพื่อออกมาเล่นกับกระแสที่คนกำลังให้ความสนใจ นั่นเอง
ถ้าหันมาดูทางด้านประเทศไทย ก็จะมีรองเท้านันยาง ที่ออกภาพ PR ให้เห็นคนใส่กางเกงสีเขียวแถบขาว แบบตัวละครในซีรีส์ แต่รองเท้าเป็นรองเท้าผ้าใบสีขาวของนันยาง เอง..
และที่มุมของภาพยังมีสัญลักษณ์ที่เป็นบัตรที่มีรูปสามเหลี่ยม, หกเหลี่ยม และดาว กระจายตกอยู่บนพื้น เพื่อให้สื่อได้ชัด ว่าเป็นการเล่นกับกระแสของซีรีส์นั่นเอง ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคไปไม่น้อยเลย
นอกจากแบรนด์ต่าง ๆ ที่ได้ออกมาเล่นกับกระแสนี้แล้ว ก็ยังมีอิทธิพลของ Social Media Word Of Mouth หรือการบอกต่อกันบนโลกออนไลน์ ที่กำลังเทรนด์ติดไวรัลบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ในปัจจุบัน เช่น TikTok ที่
#SquidGame มียอดเข้าชมสูงถึง 40.1 พันล้านวิว
#squidgamechallenge มียอดเข้าชมถึง 76.7 ล้านวิว
และยังมีแฮชแท็กอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย
ด้วยยอดการเข้าชมที่มากขนาดนี้ นับเป็นอีกหนึ่งโอกาสแจ้งเกิดของใครหลายคนได้เลย ซึ่งไม่จำเป็นต้องจำกัดเฉพาะแบรนด์สินค้าหรือบริการเท่านั้น
แต่เหล่า อินฟลูเอนเซอร์ หรือ ไอดอลหน้าใหม่ ก็ร่วมกระโดดเข้ามาในกระแสนี้ไม่น้อย
ทั้งหมดนี้ ก็คือผลกระทบเชิงบวกของซีรีย์ SquidGame ต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ
จะเห็นได้ว่า โลกในปัจจุบัน ที่สามารถเชื่อมต่อกันได้เพียงแค่ปลายนิ้ว ไม่ว่าจะเรื่องอะไร หรือ วงการไหน ๆ
“โอกาสทางการตลาด” จึงเป็นเหมือนเหรียญที่ตกอยู่เต็มพื้นไปหมด
อยู่ที่ว่าใครจะ “มองเห็น” และ “หยิบ” มาใช้ได้ก่อน นั่นเอง..
อ้างอิง :
-https://bettermarketing.pub/the-unintentional-yet-powerful-marketing-effect-of-the-squid-game-c483132128d3
-https://bettermarketing.pub/critical-marketing-lessons-to-take-from-netflix-hit-squid-game-a3c5f608a138
-https://www.nasdaq.com/market-activity/stocks/nflx
-https://www.facebook.com/NanyangLegend/photos/a.10150131045532376/10159786393587376/
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.