DITP โชว์ผลงานความสำเร็จ การพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มสินค้าสมุนไพรไทย กลุ่มของขวัญ ของฝาก ของที่ระลึก พร้อมเร่งเครื่องขยายส่งออก รับเทรนด์สมุนไพรเป็นสินค้าส่งออกดาวรุ่ง

DITP โชว์ผลงานความสำเร็จ การพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มสินค้าสมุนไพรไทย กลุ่มของขวัญ ของฝาก ของที่ระลึก พร้อมเร่งเครื่องขยายส่งออก รับเทรนด์สมุนไพรเป็นสินค้าส่งออกดาวรุ่ง

21 ก.ย. 2021
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) จัดแสดงผลงานผู้ประกอบการโชว์ความสำเร็จ “โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรสู่ตลาดต่างประเทศ” สร้างผู้ประกอบการสมุนไพรต้นแบบกลุ่ม HEALTH & WELLNESS ได้ตามเป้าหมายรวม 31 ราย พร้อมเปิดตลาดใหม่สู่กลุ่มของขวัญ ของฝาก ของที่ระลึก เร่งเครื่องขยายตลาดส่งออกสินค้าสมุนไพรไทย ชี้เป็นสินค้าส่งออกดาวรุ่ง พร้อมขยายตลาดผู้บริโภคใหม่ 3 กลุ่มทั้ง Social Activity, Outdoor Vibe และกลุ่ม Workaholic สอดรับกับนโยบาย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในการขยายส่งออกผู้ประกอบการทุกกลุ่ม และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
“โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรสู่ตลาดต่างประเทศ” มีผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยกลุ่ม HEALTH & WELLNESS เข้าร่วมโครงการ 31 ราย เพื่อพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ผ่านการให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด และออกแบบบรรจุภัณฑ์ พร้อมเปิดตลาดใหม่ในกลุ่มของขวัญ ของฝาก ของที่ระลึก โดยนำผลงานมาจัดแสดงครั้งแรกเมื่อวันที่ 17-19 กันยายน 2564 ที่ FACTOPIA ถ.รัตนาธิเบศร์ ภายใต้กิจกรรม “Shift to the New Market” เพื่อเปิดโอกาสสำคัญให้แก่ผู้ประกอบการได้ขยายช่องทางการตลาด และการหาคู่ค้าได้ในระยะยาว และยังเป็นการร่วมผลักดันส่งออกสมุนไพรไทย ที่เป็นสินค้าส่งออกดาวรุ่งในตลาดโลก สอดคล้องกับนโยบายของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการให้การขยายส่งออกผู้ประกอบการทุกกลุ่มและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
โดยกิจกรรม “Shift to the New Market” ได้นำผลงานผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยกลุ่มของขวัญ ของฝาก ของที่ระลึก ที่ได้รับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากการเข้าร่วมโครงการทั้ง 31 แบรนด์ มาจัดแสดงเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อ (Buyers) นักธุรกิจ และผู้สนใจ ได้เข้าชมผลิตภัณฑ์ โดยเน้นขยายกลุ่มตลาดใหม่ตอบโจทย์ผู้บริโภค 3 กลุ่มที่กำลังมาแรง ได้แก่ Social Activity เป็นกลุ่มคนชอบเข้าสังคมและพบปะผู้คนพร้อมให้ความสนใจในการแต่งกาย จึงเป็นโอกาสของผลิตภัณฑ์ ทั้งเครื่องสำอาง ลิปบาล์ม ลิปสครับ และยาสีฟัน Outdoor Vibe ที่เป็นกลุ่มชอบทำกิจกรรมกลางแจ้ง จึงเป็นโอกาสของกลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า ผลิตภัณฑ์บำรุงหนังศีรษะ และเส้นผม และ Workaholic กลุ่มคนทำงานที่ต้องการความผ่อนคลายและเหนื่อยล้า และกลุ่มที่ชื่นชอบศาสตร์การบำบัดจากกลิ่นหอมธรรมชาติ จึงเป็นโอกาสของกลุ่มผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวและผมที่เน้นการบำบัด ผลิตภัณฑ์สครับผิว ผลิตภัณฑ์อโรมา เป็นต้น
มุมมองของ 3 ผู้ประกอบการที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์ความสำเร็จจากการเข้าร่วม “โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรสู่ตลาดต่างประเทศ” ในปีนี้ เพื่อตอกย้ำความสำเร็จของโครงการในปีนี้
นายทรงวุฒิ พัฒนศิลาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบิร์ดซัน แลบบอราทอรี จำกัด - แบรนด์ G&T ORGANIC ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม G&T ORGANIC HAIR SERUM กล่าวว่า “การเข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรสู่ตลาดต่างประเทศ ส่งผลดีต่อการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพของแบรนด์ ทำให้ได้รับโอกาสในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ใหม่และเพิ่มโอกาสในการขยายกลุ่มลูกค้า ตลอดจนการได้รับคำปรึกษาทางการตลาดโดยผู้เชี่ยวชาญ จึงช่วยยกระดับแบรนด์ให้มีความพร้อมขยายตลาดส่งออกสู่ต่างประเทศ และผลจากการที่ได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดทำให้ยอดขายของแบรนด์ G&T ORGANIC เพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบก่อนเข้าร่วมโครงการ”
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เลือกนำมาพัฒนาคือ G&T ORGANIC แฮร์โทนิค ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก ที่มีส่วนผสมจากสมุนไพรไทยทั้งว่านหางจระเข้ มะหาด ดอกอัญชัน รวมถึงส่วนผสมจากสารสกัดต่างๆ ที่มีคุณภาพระดับสูง โดยผลิตภัณฑ์นี้จะนำเข้ามาเจาะกลุ่ม Outdoor Vibe ที่เป็นกลุ่มชอบทำกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งเป็นโอกาสของกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมในตลาดโลก 
นายวิธาน สุขวาณิชวิชัย ประธานวิสาหกิจชุมชนพิณมิสา - แบรนด์ PINMISA ผลิตภัณฑ์ Herbal Hair Shampoo เผยว่า “ได้เข้าร่วมโครงการทำให้ได้รับการส่งเสริมจากผู้เชี่ยวชาญ เข้ามาร่วมยกระดับแพคเกจจิ้งและออกแบบอยู่ในรูปแบบชุดของขวัญ (กิฟเชต) ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่นมากขึ้นและได้รับการพัฒนาแบรนด์ ตลอดจนการพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล และได้รับคำแนะนำให้มุ่งนำเสนอความน่าสนใจของสมุนไพรไทย ผสมด้วยการใช้เทคโนโลยีสมุนไพรอนุภาคนาโน และสารสำคัญ Chitosan ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าจากของเหลือใช้ในภาคอุตสาหกรรม เป็นการร่วมช่วยลดปัญหามลพิษ ของจังหวัดสมุทรสาคร อีกทั้งยังช่วยผลักดันการวางเป้าหมายสร้างแบรนด์ PINMISA ในระยะยาว และแผนการทำตลาดต่างประเทศ”
โดยวิสาหกิจชุมชนพิณมิสา ได้นำผลิตภัณฑ์ แชมพู ที่ได้รับการพัฒนาเชิงนวัตกรรมจากการใช้วัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสาคร และเป็นของเหลือใช้ในภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเล ได้แก่ เปลือกกุ้ง มาสกัดสารสกัด CHITOSAN นำมาเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น พร้อมด้วยการนำสารสกัดจากสมุนไพรของไทยกว่า 20 ชนิด อาทิ ใบบัวบก, ขิง และสารสกัดสมุนไพรอนุภาคนาโนจาก สถาบัน NANOTECH จึงสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรม และนำมาเจาะกลุ่ม Outdoor Vibe ที่มีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง
นายชนิตร เพ็ญชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบสเตอร์ เอ็นเทอร์ไพรซ์ จำกัด - แบรนด์ STERLING ผลิตภัณฑ์ยาสีฟันและที่ทำความสะอาดอุปกรณ์จัดฟัน ให้ข้อมูลว่า “การเข้าร่วมโครงการทำให้แบรนด์ได้รับคำแนะนำที่มีประโยชน์จากผู้เชี่ยวชาญ จึงช่วยเสริมสร้างและยกระดับแบรนด์ให้แข็งแรงมากขึ้น พร้อมได้รับการต่อยอดในการจัดทำแคมเปญการตลาด การจัดทำแพคเกจจิ้งใหม่ ส่งผลดีต่อการเพิ่มยอดขาย และการสร้างการตลาดได้อย่างแข็งแกร่ง รวมถึงช่วยเสริมศักยภาพในการขยายแบรนด์สู่ตลาดโลก”
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่นำมาพัฒนาในครั้งนี้คือ ผลิตภัณฑ์ STERLING ซึ่งเป็นยาสีฟันและที่ทำความสะอาดอุปกรณ์จัดฟันในรูปแบบมูส ซึ่งมีส่วนผสมและรวมสารสกัดจากสมุนไพรไทย ทั้งขมิ้น มาผสมกับมังคุด และน้ำมันมะพร้าว ข้าว เพื่อเจาะกลุ่ม Social Activity ซึ่งเป็นกลุ่มคนชอบเข้าสังคมและพบปะผู้คนพร้อมให้ความสนใจในการแต่งกาย
ผู้สนใจสามารถดูผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 31 แบรนด์ได้ทาง E-CATALOGUE THAI HERB
Tag:DITP
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.