เมื่อเนเธอร์แลนด์ หยุดโปรโมตการท่องเที่ยว

เมื่อเนเธอร์แลนด์ หยุดโปรโมตการท่องเที่ยว

17 พ.ค. 2019
ประเทศเนเธอร์แลนด์มีชื่อเสียงในด้านวัฒนธรรมมาช้านาน
ย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 17 ที่เป็นยุคทองของการล่าอาณานิคม
ด้วยความที่ชาวดัตช์มีอาณานิคมหลายแห่งทั่วโลก ส่งผลให้กรุงอัมสเตอร์ดัมเมืองหลวง
กลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญระดับโลก และเป็นแม่เหล็กดึงดูดทั้งพ่อค้า นายธนาคาร เศรษฐี นักคิด และศิลปินจากทั่วยุโรป
จนเกิดเป็นการรังสรรค์สถาปัตยกรรม อาคารบ้านเรือน รูปภาพ และผลงานศิลปะนับไม่ถ้วน
ส่งผลให้ประเทศเล็กๆ อย่างเนเธอร์แลนด์มีมรดกโลกถึง 10 แห่ง 
และเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมอยู่ถึง 9 แห่ง
พอมาถึงยุคศตวรรษที่ 21 
เมื่อการเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างประเทศเป็นเรื่องง่ายดาย อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงเติบโตทั่วทุกมุมโลก และกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ดึงดูดเม็ดเงินจากชาวต่างชาติ 
สร้างงานและรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่นเป็นจำนวนมหาศาล
ในปี 2018 ประเทศเนเธอร์แลนด์ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นจำนวนกว่า 19.2 ล้านคน
ซึ่งอาจจะดูไม่มากนักหากเทียบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนประเทศไทย 
แต่จำนวนนี้ก็มากกว่าประชากรชาวดัตช์ที่มีอยู่เพียง 17.3 ล้านคนไปแล้ว
ยิ่งหากคำนึงถึงว่า เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีพื้นที่เล็กน้อย เพียง 41,543 ตารางกิโลเมตร (ขนาดประมาณภาคตะวันออกของประเทศไทย 7 จังหวัด)
ทำให้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรหนาแน่นสูงที่สุดในโลก ถึง 416 คน ต่อตารางกิโลเมตร
หากรวมจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีมากกว่าประชากรเข้าไปด้วย ก็ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งต้องเนืองแน่นไปด้วยผู้คน
กรุงอัมสเตอร์ดัมซึ่งมีประชากรเพียง 1.3 ล้านคน 
แต่ต้องรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 18 ล้านคน
สวน Keukenhof ที่เคยเต็มไปด้วยดอกทิวลิปสีสันสดใส ทุกวันนี้กลับแน่นขนัดไปด้วยนักท่องเที่ยวที่ต่างเข้ามาจับจองพื้นที่เพื่อถ่ายรูปจนเผลอเหยียบย่ำดอกทิวลิปจนเสียหาย
เช่นเดียวกับกังหันลมในเขต Kinderdijk ที่เคยเงียบสงบและเป็นดั่งสัญลักษณ์ของประเทศ 
ทุกวันนี้ก็เต็มไปด้วยเสียงอึกทึกของนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมาไม่ขาดสาย
การท่องเที่ยวยังส่งผลให้ค่าครองชีพในย่านแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น 
ทั้งค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าบริการต่างๆ จนคนท้องถิ่นหลายคนทนไม่ไหว
คณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งเนเธอร์แลนด์ (NBTC) ได้คาดการณ์ว่า
เนเธอร์แลนด์อาจต้องรองรับนักท่องเที่ยวถึง 29 ล้านคน 
ภายในปี 2030 หรือในอีก 10 ปีข้างหน้า
ซึ่งหากไม่มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหา จะยิ่งส่งผลกระทบจนคนท้องถิ่นอาจต้องย้ายถิ่นฐาน..
นำมาสู่ความพยายามที่จะยุติแคมเปญโปรโมตการท่องเที่ยวของประเทศ 
เพื่อจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวให้เหมาะสม และลดผลกระทบต่างๆ ที่เกิดจากนักท่องเที่ยวล้นเมือง
ทั้งนี้ทางกรุงอัมสเตอร์ดัม 
ได้ริเริ่มนโยบายในการเก็บภาษีเพิ่มเติมจากนักท่องเที่ยวแล้วในปี 2018 
และมีแผนการจะเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมอีกภายในปีนี้
ไม่ใช่เพียงเนเธอร์แลนด์ แต่หลายประเทศในยุโรปต้องประสบกับปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง 
ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพ และคนท้องถิ่นเข้าถึงบริการพื้นฐานต่างๆ เช่น ตำรวจ ขนส่งมวลชนและสถานพยาบาล ได้ยากลำบากยิ่งขึ้น 
จนเกิดการเขียนป้ายขับไล่นักท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ เช่น ในเมืองบาร์เซโลนาของประเทศสเปน ประเทศโครเอเชีย และเมืองเวนิสของประเทศอิตาลี
ในส่วนของประเทศไทย ภาคการท่องเที่ยวกลับเป็นอุตสาหกรรมที่นำรายได้มหาศาลเข้าสู่ประเทศ ในปี 2018 ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 38 ล้านคน 
นำรายได้เข้าสู่ประเทศกว่า 2 ล้านล้านบาท
แต่ขณะเดียวกัน การหลั่งไหลของนักท่องเที่ยวก็ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติหลายแห่งถูกทำลายจนเสื่อมโทรม และเป็นการรบกวนระบบนิเวศน์ โดยเฉพาะระบบนิเวศน์ชายฝั่งทะเล
จนนำมาสู่การตัดสินใจปิดอ่าวมาหยา ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ เพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟู ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2018 และมีแนวโน้มจะปิดยาวต่อไปเป็นเวลา 2 ปี
ทาง Euromonitor ได้คาดการณ์ว่า 
ประเทศไทยอาจต้องรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นจำนวนถึง 79 ล้านคนภายในปี 2030 
หรืออีกสิบปีข้างหน้า
ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่มากกว่าประชากรในประเทศไทยแล้ว..
ที่มา : Independent.co.uk, Statista 2019, Dutchreview
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.