
Cold Stone Creamery ร้านไอศกรีม ที่เพิ่มเสน่ห์ให้ไอศกรีม ด้วยการนำไป “ผัด”
26 มิ.ย. 2021
ปกติร้านไอศกรีมทั่วไป จะใช้วิธีการตักไอศกรีมเป็นลูกกลม ๆ แล้วแต่งหน้าให้สวย น่ากิน ด้วยท็อปปิงหลากชนิด
แต่ถ้าใครมีโอกาสแวะมาที่ร้าน Cold Stone Creamery ร้านไอศกรีมมิกซ์อินสุดพรีเมียม จากสหรัฐอเมริกา จะพบว่า หน้าตาของไอศกรีมร้านนี้ แตกต่างจากร้านทั่วไปอย่างสิ้นเชิง
เพราะไอศกรีมของ Cold Stone Creamery จะไม่ใช้วิธีการตักเสิร์ฟเป็นลูก แต่เมื่อลูกค้าเลือกรสชาติไอศกรีม และท็อปปิงที่ชอบได้แล้ว ทางร้านจะต้องนำไอศกรีม (ซึ่งบางคนอาจจะเลือกมากกว่า 1 รสชาติ) พร้อมด้วยท็อปปิง ไปผัดบนแท่นหินแกรนิต ที่มีอุณหภูมิประมาณ -8 องศาเซลเซียส เพื่อป้องกันไม่ให้ไอศกรีมละลาย
เพื่อมิกซ์ส่วนผสมทุกอย่างเข้าด้วยกัน ให้เป็นเสมือนเนื้อเดียวกัน ตามคอนเซปต์ของ Cold Stone Creamery ที่เป็นร้านไอศกรีมแนว Mix-in
คำถามคือ ทำไมไอศกรีมของ Cold Stone Creamery ถึงต้องนำไปผัดก่อนเสิร์ฟ ? แล้วขั้นตอนการผัดนี้ มีมาตั้งแต่แรก หรือว่ามาเพิ่มเพื่อเป็นกิมมิกทีหลัง ?
คำตอบทั้งหมด เริ่มต้นจากสามีภรรยา นามว่า Donald และ Susan Sutherland
ด้วยความที่ทั้งคู่อยากลิ้มรสไอศกรีม ที่ไม่ได้ให้ความรู้สึกราวกับของหวาน ที่ออกจากช่องแช่แข็ง
ขณะเดียวกันก็ไม่ได้อยากสัมผัสกับความละมุนของไอศกรีม แบบซอฟต์เสิร์ฟซะทีเดียว แต่ต้องการไอศกรีมที่มีความนุ่มเนียนละเอียด จึงพยายามออกตามหาไอศกรีมที่ถูกใจ แต่ก็ไม่เจอสักที
ทั้งคู่เลยตัดสินใจพัฒนาสูตรไอศกรีม ในจินตนาการของตัวเองขึ้นมาเองซะเลย
ซึ่งสูตรที่ว่าก็คือ การปรับสัดส่วนของไขมัน ให้อยู่ที่ 12-14% เพื่อให้เนื้อไอศกรีมที่ออกมา มีความนุ่มเนียนละเอียด
ขณะที่ไอศกรีมปกติ จะมีไขมันอยู่ที่ 10-18% และถ้าเป็นไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ จะมีไขมันเพียง 3-6%
ขณะที่ไอศกรีมปกติ จะมีไขมันอยู่ที่ 10-18% และถ้าเป็นไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ จะมีไขมันเพียง 3-6%
หลังจากคิดค้นไอศกรีมสูตรใหม่ได้แล้ว คุณ Donald และคุณ Susan ก็ไม่รอช้า ตัดสินใจเปิด Cold Stone Creamery สาขาแรก ที่เมืองเทมป์ ในรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1988 หรือเมื่อ 33 ปีที่แล้ว
ซึ่งหากเทียบกับแบรนด์ไอศกรีมระดับตำนาน ที่มีอยู่ในตลาดสมัยนั้น ต้องถือว่า Cold Stone Creamery เป็นแบรนด์น้องใหม่ที่อายุน้อย
ปัจจุบัน
- Dairy Queen มีอายุ 81 ปี
- Baskin-Robbins มีอายุ 76 ปี
- Swensen's มีอายุ 73 ปี
- Häagen-Dazs มีอายุ 60 ปี
- Ben & Jerry's มีอายุ 43 ปี
และด้วยความที่เป็นแบรนด์โนเนม แถมยังมาแจ้งเกิดทีหลัง จึงไม่แปลกเลย ที่ช่วงแรก ๆ Cold Stone Creamery จะไม่ประสบความสำเร็จในโลกไอศกรีม
จนเรียกได้ว่า 15 เดือนแรกที่เปิดกิจการ แทบจะเป็นฝันร้ายของ Cold Stone Creamery ก็ไม่ผิด เพราะทุกวันที่เปิดร้าน คุณ Donald และ Susan แทบไม่มีลูกค้า
แต่แล้วก็มาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อวันหนึ่ง มีสื่อท้องถิ่นมาทำข่าว และช่วยโปรโมตความดีงามของรสชาติไอศกรีมที่ไม่เหมือนใครนี้
ทำให้ Cold Stone Creamery เริ่มเป็นที่รู้จัก และมีลูกค้ามาอุดหนุนไม่ขาดสาย หลังจากเปิดให้บริการเพียง 2 ปี Cold Stone Creamery ก็ได้รับความนิยมอย่างมาก
จนสามารถขยายสาขาไปอีกหลายแห่ง และในปี ค.ศ. 1995 ก็เริ่มขายแฟรนไชส์ จนสามารถขยายสาขาทั่วสหรัฐอเมริกาได้อย่างรวดเร็ว ก่อนจะกระจายไปเปิดสาขาทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย
ซึ่งบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) เจ้าของเชนร้านอาหารและของหวานที่หลายคนคุ้นเคย อย่าง KFC, Mister Donut, Chabuton, Pepper Lunch, The Terrace, Yoshinoya และอีกมากมาย
เป็นผู้นำความอร่อยในแบบฉบับของ Cold Stone Creamery มาเปิดสาขาแรกในประเทศไทย เมื่อปี ค.ศ. 2010 หรือเมื่อ 11 ปีก่อน
ถามว่า อะไรทำให้ Cold Stone Creamery จากแบรนด์โนเนม สามารถแจ้งเกิดมาเทียบชั้นแบรนด์ไอศกรีมระดับตำนานได้
เหตุผลหลัก ๆ คือ ความแตกต่าง ตั้งแต่สูตรในการทำไอศกรีม ที่นอกจากจะทำสดใหม่ทุกวัน ยังมีรสชาติและรสสัมผัสไม่เหมือนใคร
รวมทั้งไอเดียในการทำการตลาดที่ให้ลูกค้าได้ออกแบบ “การสร้างสรรค์ของหวาน” ในแบบของตัวเองไม่พอ
ยังสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำให้ลูกค้า ด้วยการเสิร์ฟไอศกรีม ที่ไม่ใช่แค่ตักเป็นสกูป แล้วเติมท็อปปิงลงไปในไอศกรีมเฉย ๆ
แต่อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่า Cold Stone Creamery มีอาวุธลับสำคัญ คือ Cold Stone หรือ หินแกรนิตแช่แข็ง อยู่ด้านหลังเคาน์เตอร์ ใช้สำหรับผัดไอศกรีมหลากหลายรสชาติและท็อปปิงให้เข้ากัน เพิ่มความสนุกในการกินไอศกรีมให้ลูกค้า ตักคำเดียวก็ได้ครบรส
และเพราะทุกเมนูถูกออกแบบให้ต้องผัดนี้เอง ทำให้หน้าตาของไอศกรีมของ Cold Stone Creamery จะไม่ได้เป็นสกูปก้อนกลม ๆ แต่เป็นไอศกรีมรูปทรงแปลก ๆ
ซึ่งคอนเซปต์ในการผัดไอศกรีมนี้ คุณ Donald และ Susan ไม่ได้เป็นผู้คิดค้นขึ้นมาแต่อย่างใด แต่เป็นการต่อยอดไอเดียของ คุณ Steve Herrell จากร้าน Steve's Ice Cream ซึ่งคิดค้นการผัดไอศกรีมมาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 1973
เพราะอยากให้ Cold Stone Creamery เป็นมากกว่าร้านไอศกรีม แต่ลูกค้ามาแล้ว ต้องได้ดื่มด่ำกับประสบการณ์ที่น่าจดจำ
และอีกหนึ่งกิมมิกน่ารัก ๆ ที่ใครที่เป็นสาวกของ Cold Stone Creamery คุ้นเคยเป็นอย่างดี คือ การตั้งชื่อไซซ์ไอศกรีมของ Cold Stone Creamery แทนที่จะเรียกว่า เป็นไซซ์ S, M, L หรือ เล็ก, กลาง, ใหญ่
Cold Stone Creamery ตั้งชื่อเป็น Like It, Love It และ Gotta Have It
แม้ทางแบรนด์จะไม่ได้เฉลยว่า เพราะอะไรถึงตั้งชื่อแบบนี้ แต่เป็นไปได้ว่า Cold Stone Creamery อาจจะอยากให้ชื่อเหล่านี้ เป็นตัวช่วยอธิบายความรู้สึกของลูกค้า เวลาอยู่หน้าเคาน์เตอร์แล้วพนักงานถามว่า จะรับไอศกรีมไซซ์ไหนดี ?
เพราะในวันนี้ ที่เราอาจจะแค่อยากเติมความหวานให้ร่างกายเพียงเล็กน้อย
ก็อาจจะเลือกขนาด Like It หรือ Love It ซึ่งถ้าเทียบก็ประมาณไซซ์เล็กหรือกลาง
แต่ในวันที่ร่างกายต้องการความหวานขั้นสุด เราอาจจะอยากตะโกนออกไปอย่างไม่ลังเลว่า Gotta Have It
เพราะหมายความว่า เราจะได้ฟินกับไอศกรีมถ้วยโต ขนาด 340 กรัม เลยทีเดียว..
ซึ่งข้อดีของการที่ไม่ต้องเอ่ยปากออกไปว่า ขอไอศกรีมถ้วยใหญ่สุด หรือ ไซซ์ L มันคงทำให้เรารู้สึกผิดกับตัวเองน้อยลงเป็นกอง..
อ้างอิง :