Imperial Leather สบู่ที่คนไทยคุ้นหู แต่ใช้แล้ว เต็มไปด้วยคำถาม

Imperial Leather สบู่ที่คนไทยคุ้นหู แต่ใช้แล้ว เต็มไปด้วยคำถาม

13 มิ.ย. 2021
ทำไม​สบู่ Imperial Leather ถึงต้องมีสติกเกอร์สีทองติดอยู่ตรงกลาง
แล้วเวลาจะใช้ ต้องแกะออก หรือปล่อยไว้อย่างนั้น ?
สบู่เกี่ยวอะไรกับเครื่องหนัง ทำไมชื่อของสบู่ ถึงต้องมีคำว่า Leather ซึ่งแปลว่า​ เครื่องหนังด้วย
หรือว่า Imperial Leather ผลิตทั้งสบู่และเครื่องหนัง ?
Imperial Leather เป็นสบู่คนไทยแต่ชื่อฝรั่ง เหมือนกับ​ Imperial Cookie คุกกี้กล่องแดงหรือเปล่า ?
นี่อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำถาม ที่คาใจหลายคนเวลาพูดถึง Imperial Leather
แบรนด์สบู่ที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักเป็นอย่างดี แต่อาจจะไม่รู้ลึกถึงความเป็นมา
รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้ว Imperial Leather เป็นแบรนด์สบู่ที่มาจากอังกฤษ​
แถมยังเก่าแก่ไม่เบา เพราะมีอายุเกือบร้อยปี
ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ แบรนด์ว่าเก๋าแล้ว แต่กลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ของ Imperial Leather สูตรคลาสสิก (สีแดง) นั้นขลังกว่า เพราะ​คิดค้นมากว่า 200 ปี.. ​
โดยที่มาในการรังสรรค์กลิ่นนี้ มาจากขุนนางชาวรัสเซีย ที่หลงใหลในกลิ่นของหนังเข้าเส้น
แล้วขุนนางรัสเซีย หนัง น้ำหอม สบู่ มาเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร ไปหาคำตอบพร้อมกัน
ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1768 ขุนนางชาวรัสเซีย ผู้ซึ่งหลงใหลในกลิ่นหอมของ Russia Leather หรือหนังรัสเซีย ที่มีจุดเด่นคือการทา Birch Tar หรือยางไม้จากต้น Birch
ได้ว่าจ้างให้ Bayley’s of Bond Street บริษัทน้ำหอมชื่อดังของอังกฤษ พัฒนาน้ำหอมที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก Russia Leather ให้
จึงกลายเป็นที่มาของน้ำหอม Eau de Cologne Imperiale Russe
แล้วจากน้ำหอม มากลายเป็นสบู่ได้อย่างไร
วันเวลาล่วงเลยมาอีกหลายสิบปี จนเมื่อปี ค.ศ. 1870 คุณ Thomas Tomlinson Cussons พ่อค้าไวน์ชาวอังกฤษ อยากผันตัวมาเป็นนักธุรกิจ เลยซื้อกิจการจากนักเคมีคนหนึ่ง และตั้งบริษัทที่ชื่อว่า Cussons & Son
ในช่วงแรก โรงงานของ Cussons & Son ทดลองผลิตหลายอย่าง ทั้งสบู่, ขวดแก้ว, ยาแก้ไอ และสินค้าอื่น ๆ อีกมากมาย จนตอนหลังหันมาผลิตแค่สบู่อย่างเดียว​
โดยจุดเปลี่ยนสำคัญของ Cussons & Son คือ ตอนที่ตัดสินใจซื้อกิจการของ Bayley’s of Bond Street
ในปี ค.ศ. 1921
ทำให้ Cussons Sons ได้สูตรหัวน้ำหอมมากมาย ที่ไม่เพียงมีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ แต่ยังทรงคุณค่า
มีหลายกลิ่นที่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยลายมือมานับร้อยปี
หนึ่งในนั้นคือ กลิ่น Eau de Cologne Imperiale Russe
ซึ่งทาง Cussons Sons ไม่ได้เลือกมาผลิตเป็นสบู่ทันที
แต่ผู้ที่จุดประกายไอเดียว่าอยากนำสูตรน้ำหอมดังกล่าว มาใช้ทำเป็นสบู่ คือ คุณ Marjorie Goodwin ซึ่งเป็นลูกสาวของเจ้าของบริษัท Cussons Sons
ซึ่งเธอชื่นชอบน้ำหอมกลิ่น Eau de Cologne Imperiale Russe จึงคิดว่าน่าจะมาทำเป็นสบู่
สบู่ก้อน Imperial Leather จึงถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1930
และทำให้เธอได้รับการขนานนามว่า “The Mother of Imperial Leather” หรือแม่ของ Imperial Leather นั่นเอง
นอกจากกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ เพราะมาจากสูตรน้ำหอม
อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของ Imperial Leather คือ สติกเกอร์สีทอง ที่แปะอยู่ตรงกลางสบู่สีเนื้อ
แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ต้องการเพิ่มความหรูหรา หรือทำเพื่อสร้างซิกเนเชอร์ให้กับแบรนด์เท่านั้น
แต่ยังเป็นวิธีที่ช่วยให้สบู่ละลายช้าลงอีกด้วย
เพราะสติกเกอร์ที่ว่านี้ นอกจากจะช่วยลดผิวสัมผัสระหว่างสบู่กับที่วางสบู่
ยังช่วยค้ำให้สบู่ทรงตัว ไม่ไหลลื่นไปมา ช่วยลดการเสียดสี ทำให้เนื้อสบู่ละลายช้าลง และใช้ได้นานขึ้นกว่าสบู่รูปทรงอื่น ๆ
ดังนั้น เทคนิคเวลาใช้คือ ต้องวางคว่ำด้านที่มีสติกเกอร์ลง
ที่น่าสนใจ สติกเกอร์สีทองนี้ ก็ไม่ได้เพิ่งมาคิดค้น
แต่ทางแบรนด์ใช้เป็นจุดขายมาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว
ด้วยกลิ่นหอมที่ไม่เหมือนใคร บวกกับจุดเด่นของสินค้า ทำให้ Imperial Leather เป็นที่นิยมในไม่ช้า และวางจำหน่ายในหลายประเทศ
จนตอนหลังคุณ Paterson Zochonis เห็นศักยภาพ เลยเข้ามาซื้อกิจการในปี ค.ศ. 1975 และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น PZ Cussons
ปัจจุบัน Imperial Leather ยังเป็นหนึ่งแบรนด์ที่ได้รับความนิยมภายใต้อาณาจักร PZ Cussons
ซึ่งมีแบรนด์ที่ครอบคลุมตั้งแต่สบู่, ผลิตภัณฑ์ดูแลผม, ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว, อาหารเด็ก, โยเกิร์ต และอีกมากมาย ​
สำหรับ Imperial Leather มีวางจำหน่ายมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก
รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งดำเนินการโดย พีแซท คัสสัน (ประเทศไทย) จำกัด
นอกจากสบู่ Imperial Leather ยังมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น​ Baby Cussons ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก, Sanctuary Spa ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว
ปัจจุบัน Imperial Leather ไม่ได้มีแค่สบู่ก้อน แต่ยังมีการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ไปเป็นครีมอาบน้ำ, โลชันทาผิว
และเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคนอกจากสูตรออริจินัล ที่เป็นกลิ่น​คลาสสิก
เพื่อก้าวตามเทรนด์ของผู้บริโภค ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
เพราะแม้สบู่ จะเป็นของสามัญประจำบ้าน โดยเฉพาะเมืองร้อนอย่างบ้านเรา
แต่สมรภูมินี้ ก็ไม่ต่างจาก Red Ocean ที่ไม่ได้มีแค่แบรนด์สบู่ด้วยกันที่เป็นคู่แข่ง แต่ยังมีแบรนด์เครื่องหอมตลอดจนแบรนด์ความงาม ต่างก็เห็นโอกาสและหวังจะกระโจนลงมาจับตลาดนี้เช่นกัน
ซึ่งก็ต้องจับตาดูว่า แบรนด์สบู่ในตำนานจะปรับตัวอย่างไร เพื่อครองตลาดและครองใจผู้ใช้ ให้ได้เหมือนที่ทำมาเป็นร้อยปี
ปิดท้ายด้วยข้อมูลน่าสนใจ
หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า Soap Opera ซึ่งใช้เรียกละครน้ำเน่า
รู้หรือไม่ว่า เหตุผลที่ Soap หรือสบู่ ถูกเอามาผูกกับละครน้ำเน่า​
ก็เพราะในอดีต โฆษณาที่เกี่ยวกับของใช้ในบ้านอย่าง สบู่ แชมพู น้ำยารีดผ้า
มักไปอยู่ในช่วงละคร เพราะต้องการให้คุณแม่บ้าน ซึ่งเป็นฐานผู้ชมหลัก ได้เห็นและอยากซื้อ
โดย Imperial Leather ก็เป็นหนึ่งในแบรนด์แรก ที่เลือกใช้วิธีโฆษณาทางทีวี ในช่วงที่มีละครดัง ๆ ฉายเช่นกัน
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.