จากคนที่ล้มละลาย สู่เจ้าของ “Daiso” ร้านขายสินค้าจิปาถะ รายใหญ่ในญี่ปุ่น

จากคนที่ล้มละลาย สู่เจ้าของ “Daiso” ร้านขายสินค้าจิปาถะ รายใหญ่ในญี่ปุ่น

25 พ.ค. 2021
ทุกวันนี้ เวลาเดินเข้าศูนย์การค้า เราจะเห็นบรรดาร้านขายสินค้าจิปาถะอยู่หลายแบรนด์ ซึ่งมาจากประเทศต่าง ๆ
ซึ่งมีอยู่แบรนด์หนึ่ง เป็นร้านที่ออกแบบให้ดูน่ารัก ๆ มีโลโกร้านเป็นสีชมพู
แถมสินค้าส่วนใหญ่ภายในร้าน ยังขายในราคาเดียว ที่ราคา 60 บาท
นั่นคือร้าน Daiso
Daiso นับเป็นหนึ่งในเชนร้านขายสินค้าจิปาถะรายใหญ่ของโลก
โดยมีสาขาอยู่มากกว่า 5,000 สาขา ใน 27 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเฉพาะที่ญี่ปุ่น ก็มีอยู่ 3,367 สาขา
และ Daiso มีรายได้ในปี ค.ศ. 2019 (สิ้นสุดเดือนมีนาคม)
อยู่ที่ 475,700 ล้านเยน หรือประมาณ 137,000 ล้านบาท
คำถามคือ แล้วใครเป็นเจ้าของ Daiso
และกว่าจะปั้นธุรกิจ ให้ยิ่งใหญ่ได้เหมือนทุกวันนี้ เขาต้องเจออุปสรรคอะไรมาบ้าง ?
ผู้ก่อตั้ง Daiso นั่นคือ คุณยาโน ฮิโรทาเคะ (Hirotake Yano)
เส้นทางธุรกิจของเขา เริ่มหลังจากเขาจบการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยชูโอ ในโตเกียว
โดยคุณยาโนได้แต่งงาน และไปช่วยพ่อของภรรยา ทำธุรกิจเพาะพันธุ์ปลาขาย
แต่ทำได้เพียง 3 ปี ธุรกิจก็เจ๊งไม่เป็นท่า และถูกฟ้องล้มละลาย
พร้อมกับมีภาระหนี้สินติดตัวกว่า 7 ล้านเยน หรือ 2 ล้านบาท ซึ่งเยอะมากสำหรับสมัยนั้น
ต่อมา คุณยาโน เลยต้องดิ้นรนออกไปหางานข้างนอกทำ เพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูภรรยาและลูก
ซึ่งชีวิตก็ไม่ได้ราบรื่น เขาได้เปลี่ยนงานบ่อยถึง 9 ครั้ง
โดยค่านิยมของคนญี่ปุ่น คือจะไม่นิยมการเปลี่ยนงานบ่อย ๆ
เพราะการเปลี่ยนงานบ่อย ทำให้คนคนนั้นมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดี และถูกมองว่าเป็นคนล้มเหลว
คุณยาโนจึงรู้สึกถึงความสิ้นหวังเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ดี เขาก็ตัดสินใจไม่ยอมแพ้ให้กับชีวิต และยอมทนทำงานหนักทุกวัน สู้เพื่อภรรยาและลูก ที่คอยให้กำลังใจเขาอยู่เสมอ
และวันหนึ่ง ขณะทำงานอยู่ คุณยาโนก็บังเอิญไปเจอกับรถจักรยาน ที่จอดอยู่หน้าอาคารจำนวน 10 คัน
ซึ่งเป็นจักรยาน สำหรับใช้ขายของเคลื่อนที่
โดยขนสินค้ามาขาย พอปิดร้าน ก็จะขนสินค้าทุกอย่างกลับ ในทุก ๆ วัน
เขาเห็นว่าโมเดลนี้น่าสนใจดี เลยเข้าไปสอบถามกับเจ้าของจักรยาน และฝากตัวเป็นลูกศิษย์ เพื่อเรียนรู้ธุรกิจ
หลังจากนั้น พอเก็บเกี่ยวเงินทุน ความรู้ และประสบการณ์ ได้มากพอแล้ว
คุณยาโน ในวัย 29 ปี ก็ตัดสินใจผันตัวมาเป็นเถ้าแก่ อีกครั้ง
โดยเปิดร้านขายของใช้ทั่วไป เช่น หม้อและเครื่องมือช่างต่าง ๆ
ในชื่อร้านว่า “Yano Shoten” ที่เมืองทากามัตสึ (Takamatsu) ในปี ค.ศ. 1972
ก่อนภายหลัง จะเปลี่ยนชื่อร้านเป็น “Daiso” ในปี ค.ศ. 1977
เริ่มแรกร้าน Daiso ของพวกเขา ก็ขายสินค้าแต่ละชนิด ในราคาที่แตกต่างกัน เหมือนร้านอื่น ๆ ทั่วไป
แต่ด้วยความที่ภายในร้านมีสินค้าเป็นจำนวนมาก บวกกับคุณยาโน ต้องเลี้ยงลูกขณะที่ทำงานไปด้วย
ทำให้เขาตัดสินใจเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ มาเป็นการขายสินค้าทุกชิ้น ในราคาเดียว นั่นคือ ราคา 100 เยน
เพื่อความสะดวกในการค้าขาย กำหนดราคาสินค้า และทำให้ลูกค้าไม่ต้องคิดเปรียบเทียบเรื่องราคา
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ได้ผลตอบรับที่ดีจากลูกค้าสักเท่าไร
เพราะคนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า สินค้าราคาถูก ๆ จะมีคุณภาพที่ไม่ดี ซื้อไปเดี๋ยวก็พัง เสียเงินทิ้งเปล่า ๆ
ซึ่งคุณยาโน ก็แก้เกมด้วยการ สรรหาเฉพาะสินค้าที่มีคุณภาพดีจริง มาวางขาย
แม้ต้นทุนจะสูง และได้กำไรน้อย ก็ไม่เป็นไร
ขอแค่ลูกค้าซื้อไปใช้แล้ว รู้สึกประทับใจ รู้สึกคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป
แล้วกลับมาซื้อซ้ำ และเกิดกระแสบอกปากต่อปาก
ถึงสินค้าต่อชิ้น จะมีอัตรากำไรน้อย แต่หากมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น และปริมาณสินค้าที่ขายได้มีจำนวนมาก
ธุรกิจก็สามารถอยู่และเติบโตขึ้นได้
ต่อมา พอร้าน Daiso เป็นที่รู้จัก และธุรกิจรุ่งเรืองขึ้นเรื่อย ๆ
ก็ได้มีคนเข้ามาชักชวน ให้ไปเปิดสาขาเพิ่ม ที่บริเวณชั้น 4 ของซูเปอร์มาร์เก็ต
ซึ่งตอนแรก ๆ คุณยาโนก็กังวลว่า ธุรกิจจะไปรอดหรือเปล่า เพราะกลัวไม่มีลูกค้าแถวนั้น คิดอยากเข้าร้าน
แต่ปรากฏว่า ผลลัพธ์ออกมาดีเกินคาด ในแต่ละวันร้านเต็มไปด้วยลูกค้า ที่กระตือรือร้นเข้ามาเลือกของ
นับแต่นั้นมา คุณยาโน เลยหันมาโฟกัสกับการขยายสาขา ตามพื้นที่ศูนย์การค้าต่าง ๆ
ปัจจุบัน ร้าน Daiso มีสินค้าให้เลือกซื้อกว่า 100,000 รายการ
ตั้งแต่หมวดสินค้าความงามและน้ำหอม, ของใช้ในครัว, เครื่องเขียน, อุปกรณ์ทำความสะอาด, ของใช้ตกแต่ง, เครื่องแต่งกายและแฟชั่น, อุปกรณ์สวน, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย Daiso เข้ามาตีตลาดตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003
ซึ่งถือเป็นประเทศที่ 4 ต่อจากไต้หวัน, เกาหลีใต้ และสิงคโปร์
ที่ Daiso ขยายธุรกิจและเปิดสาขาในต่างประเทศ
และปัจจุบัน Daiso มีจำนวนสาขาในไทยอยู่ 107 สาขา
แล้วผลประกอบการของ Daiso ในบ้านเราเป็นอย่างไร ?
บริษัท ไดโซ ซังเกียว (ประเทศไทย) จำกัด
ปี 2561 มีรายได้ 1,397 ล้านบาท กำไร 76 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 1,238 ล้านบาท ขาดทุน 117 ล้านบาท
ที่ปี 2562 พลิกมาเป็นขาดทุน เพราะบริษัทเผชิญกับยอดขายที่ลดลง จากการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้น จากร้านคู่แข่งต่าง ๆ เช่น Moshi Moshi, MINISO, MR.DIY
และบริษัทมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ
รายได้ที่ลดลง สวนทางกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ทำให้บริษัทประสบกับภาวะขาดทุน นั่นเอง
ส่วนทิศทางสมรภูมิร้านขายสินค้าจิปาถะ ของบ้านเรา ในอนาคต
ใครจะสามารถแย่งชิงฐานลูกค้า จากคู่แข่งมาได้ และกลายเป็นผู้ชนะในที่สุด
และ Daiso จะกลับมาเติบโตได้มากแค่ไหน
ก็ต้องให้ความรู้สึกอยากเดินเข้าร้าน
และความประทับใจในตัวสินค้าของร้านนั้น ๆ จากผู้บริโภค เป็นตัวตัดสินกัน..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.