เจาะแนวคิด คุณฤทธิ์ ธีระโกเมน มองอนาคต MK อย่างไร หลังวิกฤติโควิด

เจาะแนวคิด คุณฤทธิ์ ธีระโกเมน มองอนาคต MK อย่างไร หลังวิกฤติโควิด

20 มี.ค. 2021
ในขณะที่หลายคนมองว่าปีที่ผ่านมา ธุรกิจอาหารที่อาศัยหน้าร้าน ต่างเจ็บหนักจากพิษโควิด 19
เนื่องจากต้องปิดสาขาในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ แถมไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยังเปลี่ยนไป​​ จากเทรนด์ฟูด ดิลิเวอรี​
ตลอดจนโมเดล Cloud Kitchen หรือ การทำร้านอาหารโดยไม่ง้อหน้าร้าน​ แค่มีครัวกลางก็พร้อมส่งอาหาร
ทำให้สมรภูมิการแข่งขัน เพื่อช่วงชิงพื้นที่ในกระเพาะอาหารของผู้บริโภค ทวีความดุเดือด
หนึ่งในเชนร้านอาหารยักษ์ใหญ่ของบ้านเรา อย่าง MK ก็ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ไม่ต่างจากธุรกิจอื่น
แต่ที่น่าสนใจคือ ในปีที่ คุณฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธานกรรมการบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ใช้คำว่า “Survival” หรือ แค่ประคองตัวให้รอด ไม่ต้องคิดถึงเรื่องอื่น
โควิด 19 ที่ผ่านมา MK กระทบขนาดไหน
MK มีกลยุทธ์อย่างไร ในการรับมือวิกฤติให้เอาตัวรอด โดยยังทำให้ธุรกิจมีกำไร
อะไรคือ เทรนด์ที่น่าจับตาหลังจากนี้
และทำไม Cloud Kitchen ถึงไม่ใช่คำตอบสำหรับ MK
หลากหลายคำถามเหล่านี้ คุณฤทธิ์ ค่อย ๆ เฉลยไปทีละคำตอบ
เริ่มจากสถานการณ์โควิด 19 คุณฤทธิ์ ฉายภาพให้เห็นว่า MK เจอวิกฤติมาหลายครั้ง ตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้งและวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์
แต่ก็ไม่เท่าครั้งนี้​ ซึ่งต้องมีการปิดทุกสาขา จากคำสั่งล็อกดาวน์
ทำให้​รายได้หายไป ขณะที่รายจ่ายยังอยู่เท่าเดิม เพราะ MK มีนโยบายชัดเจนว่า​ จะไม่ลดจำนวนพนักงาน
“โชคดีว่าที่ผ่านมา MK มีนโยบายค่อนข้าง Conservative ​(อนุรักษ์นิยม) เราทำธุรกิจโดยไม่มีการกู้เงินเลย​
เพราะฉะนั้น ต่อให้เจอวิกฤติ สภาพการเงินของบริษัท ก็ได้รับผลกระทบแค่เล็กน้อยเท่านั้น
ช่วงโควิด 19 เราอาศัยรายได้จากหน้าร้าน กับ​ รายได้จากดิลิเวอรี มาหล่อเลี้ยงค่าใช้จ่าย​
ตั้งแต่ซัปพลายเออร์ พนักงาน และค่าเช่าที่ ซึ่งเรามีการเจรจาขอลดค่าเช่ากับทางห้าง”
นอกจากนี้ ยังมองไปถึงสังคม ด้วยการนำข้าวกล่องไปบริจาคให้โรงพยาบาล สนับสนุนเรื่องเครื่องมือแพทย์
เพราะคุณฤทธิ์ เชื่อว่า เมื่อเกิดวิกฤติแล้ว ต้องไม่คิดถึงแต่ตัวเอง แต่ต้องคิดถึงคนอื่นด้วย
ทั้งหมดนี้ จึงทำให้ในปีที่ผ่านมา ผลประกอบการของ MK ยังเป็นบวก
มีกำไรอยู่ประมาณเกือบ 900 ล้านบาท ซึ่งถือว่าลดลงไปเยอะจาก​ก่อนหน้านี้ ซึ่งเคยทำกำไรได้ประมาณ 2,500 ล้านบาท
แต่อย่างน้อยก็ยังอยู่ในภาวะที่ทำกำไรได้อยู่ ไม่เสียประวัติที่เปิดมา 35-36 ปี เพราะแม้แต่ปีโควิด ก็ยังสามารถทำกำไรได้
อย่างไรก็ตาม แม้ธุรกิจจะยังมี Performance อยู่ในเกณฑ์ที่พอใจ
แต่เทรนด์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ก็กำลังเป็นโจทย์ที่ MK ต้องปรับตัวให้ทัน
คุณฤทธิ์ ยอมรับว่า พฤติกรรมการสั่งอาหารมากินที่บ้าน จะยังเป็นเทรนด์ต่อไป
แต่การออกมากินอาหารนอกบ้าน ณ จุดที่มีการผลิตอาหาร หรือ ที่ร้าน ก็ยังไม่ได้หายไปไหน
เพราะ การมากินอาหารที่ร้าน นอกจากจะอร่อยกว่า​ ไม่ต้องเสียเวลารอ แถมยังไม่ต้องกังวลเรื่องแพ็กเกจจิง ซึ่งก็ยังเป็นปัญหาอยู่พอสมควร
ดังนั้น สุดท้ายแล้ว ดิลิเวอรีจึงไม่ได้เข้ามาทดแทนการกินอาหารที่ร้าน แต่จะเข้ามาส่งเสริมกันมากกว่า
สิ่งที่น่าจับตาคือ หลังโควิด 19 ดีมานด์ของคนที่ต้องการมา Enjoy ประสบการณ์ที่ร้านอาหาร จะมีมากขึ้น
สวนทางกับจำนวนร้านอาหารที่ล่มหายไปในช่วงวิกฤติ
คุณฤทธิ์ เชื่อว่า เมื่อถึงเวลาน้ัน เทรนด์การกินอาหารนอกบ้านจะมาแรงพอสมควร
เพราะฉะนั้น หน้าที่ของบรรดาเจ้าของร้านอาหาร คือ เตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับมือกับดีมานด์ที่จะเกิดขึ้น
นอกจากเรื่องรสชาติและบริการ ยังต้องพร้อมรับกับ​​เทรนด์ของลูกค้า ที่จะมองถึงเรื่องสุขอนามัย ความปลอดภัยของอาหารที่เลือกมากขึ้น ต้อง​มั่นใจว่ามีที่มาจากแหล่งไหน
กลับมาที่ MK แม้ที่ผ่านมา จะไม่ได้ปฏิเสธกระแสดิลิเวอรี เพราะในช่วงที่ผ่านมา ก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่า ยอดดิลิเวอรีเติบโต 3-5 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด 19
แต่ถ้าไปเปรียบเทียบกับสัดส่วนของลูกค้าที่มากินที่ร้าน จะพบว่า ลูกค้ามากินที่ร้าน​มากกว่าสั่งดิลิเวอรี ถึง 3-5 เท่า

ดังนั้น เวลานี้จึงไม่แปลกที่ MK ยังเลือกโฟกัสที่หน้าร้าน เพราะไม่ใช่ทุกเมนูของ MK ที่ดิลิเวอรีได้
ซึ่งบางเมนูคุณภาพ หรือรสชาติอาหาร อาจจะไม่ตอบโจทย์การดิลิเวอรี แต่ในอนาคตก็อาจจะออกเมนู​ เพื่อดิลิเวอรีโดยเฉพาะ
ส่วนโมเดล Cloud Kitchen ที่หลายแบรนด์หันมาทำนั้น
คุณฤทธิ์ มองว่า MK ในวันนี้ไปไกลกว่า Cloud Kitchen แล้ว
เพราะนอกจากจะมีหลายแบรนด์ในเครือ ทั้ง MK, Yayoi, Miyazaki Teppanyaki
ยังมีสาขากระจายอยู่ในหลายโลเคชันทั่วประเทศ
ทำให้ร้านอาหารในเครือเหมือนมีครัวกลาง ที่พร้อมส่งทั่วประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องใช้โมเดล Cloud Kitchen
หรือถ้าจะทำ ก็น่าจะเป็นในรูปแบบ Cloud Restaurant รวมหลาย ๆ แบรนด์เป็นกรุ๊ปของร้านอาหาร ที่สามารถเป็นครัวกลางในการส่งอาหารด้วย
​ในแง่โมเดลธุรกิจอาจเห็นความชัดเจนแล้ว แต่ถ้าพูดถึงเทรนด์ใหม่ ๆ ในวงการอาหาร อย่างกระแส Plant-Based (ใช้พืชแทนเนื้อสัตว์) หรือ กัญชง ที่กำลังมาแรง
หลายคนอาจสงสัยว่า ในมุมคนทำธุรกิจ จะรู้ได้อย่างไรว่า อะไรคือเทรนด์ที่มาแล้วไป หรือ อันไหนต้องปรับตัว​ให้ทัน
คุณฤทธิ์ ตอบชัดว่า ไม่มีใครรู้หรอกว่าอะไร คือ เทรนด์ชั่วคราว หรือ ถาวร
แต่สิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้​ คือ เราต้องรับรู้ว่ามีเทรนด์ไหนมา แล้วค่อย ๆ พิจารณา
ถ้าเป็นเทรนด์ที่เราคิดว่าไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้ เราก็ตามดูห่าง ๆ
แต่ถ้าคิดว่าเทรนด์นั้น อาจจะมีผลกับเราบ้าง ก็อาจจะทำโปรเจกต์ขึ้นมาเพื่อทดลอง
อย่างที่ MK บางสาขาเราทดลองใช้เครื่องทอนเงินอัตโนมัติ หรือ มีหุ่นยนต์ช่วยเสิร์ฟอาหาร
ถ้าลองสัก 2-3 สาขาแล้วดี คุ้มค่ากับการลงทุน การบริหาร ลูกค้าพึงพอใจ​ เราก็เอามาขยายต่อ
ซึ่งข้อดีของการเป็นเชนใหญ่ คือ ถ้าอะไรที่ดีเราขยายได้เร็วมาก​
แต่ที่ลูกค้าอาจจะเห็นว่า บางอย่างที่เราไปทดลองบางสาขาแล้วไม่ถูกนำมาขยายต่อสักที ก็เพราะเราดูแล้วว่ายังไม่เวิร์ก ​​
อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ MK ลงมาทำและสร้างสีสัน ให้วงการไม่น้อย คือ การร่วมมือกับแบรนด์ต่างๆ
ที่ฮือฮาจนกลายเป็นกระแสบนโลกโซเชียล คือการ Co-Brand กับชานมเสือพ่นไฟ Fire Tiger
คุณฤทธิ์ บอกว่า​ การ Co-Brand เหมือนเป็นการเอาจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาต่อยอดกัน
อย่างจุดแข็งของเรา คือ สาขาเยอะ สามารถวางขายได้ทั่วประเทศ มีโลจิสติกส์ที่พร้อมส่งวัตถุดิบ
ขณะที่ เขาเองก็มีสูตร มีชื่อเสียง ​
หรืออย่าง M-SENKO ซึ่งเป็นบริษัทที่​ MK ไปร่วมทุนกับ ​Senko ซึ่งเป็นบริษัทด้านโลจิสติกส์เบอร์ 2 ของญี่ปุ่น
เขามี Know-How เรื่องการขนส่งสินค้าข้ามประเทศ ทั้งทางเรือ ทางอากาศ ทางรถไฟ
ขณะที่​​ MK มีหน่วยธุรกิจในการจัดส่งอาหารของตัวเองอยู่แล้วก็จริง แต่เราเน้นทางรถ เป็นการขนส่งในประเทศมากกว่า
ซึ่งถ้าในอนาคตมีการเปิดเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เราอาจจะต้องส่งสินค้าไปลาว เขมร เวียดนาม ซึ่งก็อาจจะต้องพึ่ง Know-How ของเขา
พูดง่าย ๆ ก็คือ สิ่งที่ MK ทำวันนี้ เหมือนเป็นการลงทุนล่วงหน้า ​
นั่นหมายความว่า MK ในวันนี้ ไม่ได้ทำแค่ธุรกิจอาหารอีกต่อไป
แต่กำลังรุกเข้าสู่โลจิสติกส์ด้วย
โดยเมื่อปีที่แล้ว เป็นครั้งแรกที่ MK เปิดประตูพร้อมหารายได้จากธุรกิจโลจิสติกส์ โดยเฉพาะในส่วนของการขนส่งอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ MK ถนัด
นอกจากนี้ ยังมีแผนจะขยายไปสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ผลิตสินค้าออกมาขายผ่านช่องทางออนไลน์
อย่าง ตัวนม Memberry ช่วยเสริมความทรงจำ ไปจนถึงอาหารเสริมด้วย
นับเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจไม่น้อย
จากเจ้าของร้านอาหารยักษ์ใหญ่ วันนี้ Transform ธุรกิจมา สู่อีคอมเมิร์ซและโลจิสติกส์
เพื่อสร้าง Ecosystem ธุรกิจให้ครบลูปมากขึ้น
ตอกย้ำ เป้าหมายของคุณฤทธิ์ที่อยากเห็น MK ในอีก 5 ปีข้างหน้าว่า
MK จะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมร้านอาหาร ที่นำส่งคุณภาพที่ดีในทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ผลิตภัณฑ์ หรือ ธุรกิจขนส่ง
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.