ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มอง การแข่งขันในตลาดเครื่องดื่ม จะเข้มข้นขึ้น โดยน้ำผสมวิตามิน และกาแฟ Specialty จะโตดีกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มอง การแข่งขันในตลาดเครื่องดื่ม จะเข้มข้นขึ้น โดยน้ำผสมวิตามิน และกาแฟ Specialty จะโตดีกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด

27 ม.ค. 2021
จากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ทั้งในและต่างประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค และต้องระมัดระวังการใช้จ่าย
อีกทั้งมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศ ที่มีข้อกำหนดการทานอาหารที่ร้านอาหารในบางพื้นที่ ทำให้การบริโภคเครื่องดื่มนอกบ้าน (Out-of- Home) น่าจะปรับตัวลดลง
ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ประกอบการเครื่องดื่มบางส่วน จึงตัดสินใจชะลอการเปิดตัวสินค้าใหม่ออกไป
มีการปรับเปลี่ยนช่องทางการจัดจำหน่ายโดยเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายออนไลน์ ควบคู่ไปกับการจัดส่งถึงบ้าน รวมถึงการจัดแคมเปญเพื่อรักษาฐานลูกค้าและ Brand Loyalty ไว้ในระยะนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าตลาดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic Beverage) แบบพร้อมดื่ม ปี 2564
น่าจะยังไม่สามารถกลับไปเติบโตได้ในระดับเดียวกับช่วงปี 2561-2562
โดยจะอยู่ที่ 1.97 - 1.99 แสนล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในกรอบ 0.5% - 1.5% จากฐานต่ำในปี 2563
ในภาพรวมแนวโน้มตลาดเครื่องดื่มแบบดั้งเดิมและทำตลาด Mass น่าจะแปรผันตามกำลังซื้อและสภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก และจะยังรักษาส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ไว้ได้
ในขณะที่เครื่องดื่มรูปแบบใหม่ ซึ่งเน้นตอบโจทย์ตลาด Niche ที่มีความต้องการเฉพาะ อาทิ
สินค้ากลุ่มกาแฟพร้อมดื่มแบบ Specialty ที่เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าคอกาแฟ และน้ำผสมวิตามิน เครื่องดื่มวิตามิน และฟังก์ชันนอลดริงก์อื่นๆ
คาดว่าจะเติบโตได้ดีกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของตลาด
เนื่องจากยังสามารถดึงดูดกลุ่มผู้บริโภค ที่ยังมีกำลังซื้อและมองหาเครื่องดื่มใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์เฉพาะได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การแข่งขันในตลาดจะยังมีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในระยะข้างหน้า
เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดและดึงดูดกำลังซื้อของผู้บริโภค ซึ่งจะยังได้เห็นการปรับตัวของธุรกิจในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น
1) การหาช่องว่างของประเภทเครื่องดื่มดั้งเดิม เช่น
น้ำผสมวิตามิน ที่ตอบโจทย์เทรนด์ฟังก์ชันนอลดริงก์ มีการเติมสารอาหาร/วิตามิน แต่มีรสชาติไม่แตกต่างจากน้ำดื่มและให้พลังงานต่ำ ซึ่งแตกต่างจากเครื่องดื่มฟังก์ชันนอลดริงก์ในช่วงแรก ที่มีการแต่งกลิ่นแต่งรสชาติ
รวมถึงเครื่องดื่มวิตามินต่างๆ เพื่อทดแทนวิตามินจากอาหารได้บางส่วน
2) การตอบโจทย์ตลาดเฉพาะกลุ่ม เช่น กาแฟสำเร็จรูป Specialty อย่างกาแฟ Cold Brew กาแฟจากเมล็ดพันธุ์พิเศษ
3) การมุ่งเน้นเจาะตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ เช่น เครื่องดื่มชูกำลังรสชาติใหม่ และปรับเปลี่ยนรูปแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่แตกต่างจากเดิม ให้คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น
รวมถึงเครื่องดื่มเกลือแร่ ที่หันมาเน้นภาพลักษณ์ที่ไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มผู้เล่นกีฬา แต่ขยายฐานลูกค้าไปสู่ลูกค้าทุกกลุ่มที่มี Active Lifestyle
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยระยะกลางที่ส่งผลต่อต้นทุนของธุรกิจ และแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ธุรกิจต้องเร่งปรับตัวในหลายด้าน อาทิ
1) การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มครั้งที่ 3
ในทางหนึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนในการพัฒนา และทำตลาดผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง
เนื่องจากการจัดเก็บภาษีจะมีความเข้มขึ้นเรื่อยๆ ในอัตราขั้นบันได ตามปริมาณน้ำตาลต่อเครื่องดื่มปริมาตร 100 มิลลิลิตร
เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 และจะทยอยปรับอัตราขึ้นแบบก้าวหน้าทุก 2 ปี จนถึงอัตราเพดานที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวก็ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในตลาด ซึ่งถือเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้ผลิตทยอยออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ทั้งสูตรลดน้ำตาล ลดความหวาน หรือใช้สารให้ความหวานทดแทน
รวมถึงการมีฉลากสินค้า “ทางเลือกสุขภาพ” ที่จะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการบริโภคมากขึ้น
ซึ่งก็สอดคล้องไปกับทิศทางความต้องการของผู้บริโภค ที่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น
2) เทรนด์การใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม
ทำให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบบรรจุภัณฑ์ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ซึ่งจะส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าที่สอดคล้องไปกับ ความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคยุดใหม่
โดยเฉพาะปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค อย่างขวดพลาสติกที่มีสัดส่วนปริมาณขยะในทะเลมากที่สุด เช่น บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ เครื่องดื่มชนิดขวดแก้ว/กระป๋องอลูมิเนียม/กล่องกระดาษที่น่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น และปรับไปใช้กับเครื่องดื่มหลายประเภทยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดการนำขยะบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ประโยชน์ ด้วยกระบวนการรีไซเคิล หรืออัปไซเคิลได้อย่างเป็นระบบ ยังจำเป็นต้องมีระบบการเรียกคืนบรรจุภัณฑ์ที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ อย่างญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ซึ่งจูงใจให้ผู้บริโภคนำบรรจุภัณฑ์ไปคืนและได้รับเงินสดหรือส่วนลดการใช้บริการต่างๆ ได้
ก็มีโอกาสที่ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศไทย จะนำมาปรับใช้ได้เช่นกัน
---------------------------------
บทวิเคราะห์โดย - ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.