โรงพยาบาลเอกชน ปี 2564 ยังเผชิญความท้าทาย ทั้งปัจจัยในและต่างประเทศ

โรงพยาบาลเอกชน ปี 2564 ยังเผชิญความท้าทาย ทั้งปัจจัยในและต่างประเทศ

9 ธ.ค. 2020
ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา ‘ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน’ เป็นหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด 19 สะท้อนได้จาก รายได้และกำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของโรงพยาบาลเอกชน (ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ) หดตัวอยู่ที่ -14.2% และ -54.8% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
โดยโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้กลุ่ม Medical Tourism ในสัดส่วนที่สูง น่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก จากจำนวน Medical Tourism ที่คาดว่าจะหายไปไม่ต่ำกว่า 85% ของจำนวน Medical Tourism ทั้งหมด
ขณะเดียวกัน ด้วยกำลังซื้อของคนในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวและการแข่งขันของตลาดในประ เทศที่รุนแรงขึ้น ทำให้โรงพยาบาลเอกชนที่เจาะกลุ่มคนไข้เงินสดเป็นหลักได้รับผลกระทบเช่นกัน อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลเอกชนที่เจาะกลุ่มลูกค้าประกันสุขภาพของภาครัฐ เช่น กลุ่มประกันสังคม ข้าราชการ น่าจะประคับประคองรายได้ หรือได้รับผลกระทบน้อยกว่ากลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่จับกลุ่มลูกค้าใน Segment อื่นๆ
สำหรับทิศทางของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปี 2564 ภายใต้สมมติฐานที่ไม่มีการระบาดรุนแรงของโควิด 19 ซ้ำภายในประเทศ และภาครัฐสามารถทยอยผ่อนปรนให้มีการเดินทางระหว่างประเทศได้มากขึ้น รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศไม่ได้บานปลายหรือรุนแรง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า รายได้และกำไรสุทธิของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน (ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ) น่าจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2564 ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า โดยมีรายได้ขยายตัวอยู่ที่ 1-4% และกำไรสุทธิโต 15-20% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวดังกล่าวคาดว่าจะยังไม่กลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด 19 ในปี 2562 แม้ว่าผลประกอบการของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปี 2564 จะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ด้วยสถานการณ์ที่อาจจะไม่แน่นอนในอนาคตโดยเฉพาะในเรื่องของการควบคุมการระบาดของโควิด 19
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมีมุมมองที่ค่อนข้างระมัดระวังต่อธุรกิจและคาดว่าผู้ประกอบการธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนน่าจะเผชิญปัจจัยท้าทายที่ส่งผลต่อรายได้และการทำกำไรในระยะข้างหน้าโดยสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้
1)กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้ต่างชาติในสัดส่วนที่สูง โดยเฉพาะกลุ่ม Medical Tourism น่าจะได้รับผลกระทบและมีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มโรงพยาบาลเอกชนใน Segment อื่นๆ
เนื่องจากตลาดคนไข้ต่างประเทศน่าจะยังไม่สามารถกลับเข้ามาใช้บริการได้เป็นปกติ โดยเฉพาะกลุ่มคนไข้สหรัฐฯ ยุโรป และเมียนมา ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ภายในประเทศยังไม่คลี่คลาย ขณะที่จำนวนคนไข้ชาวต่างชาติที่กลับมาน่าจะเป็นกลุ่ม EXPAT ที่พักอาศัยอยู่ในประเทศ และกลุ่ม Medical Tourism บางประเทศ เช่น ตะวันออกกลาง และจีน แต่ก็ยังต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และเงื่อนไขของการกักตัวอย่างเข้มงวด ซึ่งคาดว่าจะกลับมาได้บ้างในกรอบที่ค่อนข้างจำกัดในช่วงครึ่งปีหลัง
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในปี 2564 คนไข้ชาวต่างชาติที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในไทยอาจมีประมาณ 1.57- 1.77 ล้านคน (ครั้ง) เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีจำนวนราว 1.45 ล้านคน (ครั้ง) ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติที่มีจำนวนคนไข้ต่างชาติเข้ามารับการรักษาพยาบาลอยู่ที่ราว 3.75 ล้านครั้งในปี 2562
2)สำหรับกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้ไทยเป็นหลัก น่าจะเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น
โดยเฉพาะเมื่อการเปิดประเทศเพื่อรองรับตลาดคนไข้ต่างชาติน่าจะยังไม่กลับมาเป็นปกติได้ในเร็ววัน ทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มที่เน้นเจาะตลาดคนไข้ต่างชาติ จะมีการปรับกลยุทธ์และหันมาแย่งชิงตลาดคนไข้ในประเทศกันมากขึ้น แต่ทั้งนี้ด้วยกำลังซื้อของคนในประเทศที่ยังอ่อนแรง จำนวนคนตกงานสะสมที่อาจยังสูง
ทำให้การเจาะตลาดคนไข้ชาวไทยในภาวะดังกล่าวก็มีความยากลำบากเช่นกัน เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มคนไข้เงินสด ซึ่งคนไข้กลุ่มนี้ที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองอาจจะหันไปใช้บริการในโรงพยาบาลที่มีค่ารักษาพยาบาลถูกกว่า หรือเลือกใช้สิทธิการรักษาพยาบาลของภาครัฐ คลินิกทั่วไป หรือแม้แต่การหาซื้อยามารับประทานเอง ส่งผลให้การแข่งขันเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดคนไข้ไทยน่าจะรุนแรงมากขึ้นในปี 2564
อย่างไรก็ดี กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่เจาะกลุ่มลูกค้าประกันสุขภาพของภาครัฐ เช่น ประกันสังคม ข้าราชการ หรือมีสัดส่วนของลูกค้าประกันสุขภาพในสัดส่วนที่สูง ก็น่าจะประคับประคองรายได้ หรือได้รับผลกระทบน้อยกว่ากลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลที่จับกลุ่มลูกค้า Segment อื่นๆ
3)ปัจจัยทางด้านกำลังซื้อของคนในประเทศที่ชะลอตัว และความกังวลต่อการระบาดของโควิด 19 รวมถึงต้นทุนการดำเนินการของธุรกิจที่ยังสูง ยังคงกดดันการทำรายได้และกำไรของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปี 2564
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผู้เล่นในตลาดโรงพยาบาลเอกชนมีจำนวนมากราย และเป็นกลุ่มทุนรายใหญ่ ขณะที่คนไข้ที่มีศักยภาพกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นนัก จากปัจจัยกดดันทั้งในเรื่องกำลังซื้อของผู้บริโภค และความกังวลต่อการระบาดของโควิด 19 นั้น
ทำให้การรักษาฐานลูกค้าเดิม หรือการขยายตลาดไปยังลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าไทยหรือต่างชาติ เพื่อทำรายได้ให้กับธุรกิจของโรงพยาบาลเอกชนอาจจะค่อนข้างลำบาก อีกทั้งยังเผชิญกับปัจจัยท้าทายอื่นๆ รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนที่คาดว่ายังคงสูงต่อเนื่องเพื่อรักษาคุณภาพของการให้บริการ
ประกอบกับพฤติกรรมของคนไข้ที่เปลี่ยนแปลงไป ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้คนไข้มีตัวเลือกในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่หลากหลายขึ้น
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ผู้ประกอบการควรมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ โดยสิ่งที่สามารถปรับตัวได้เลยในระยะสั้น คือ ผู้ประกอบการควรมีการควบคุมค่ารักษาพยาบาลเพื่อให้คนไข้สามารถเข้าถึงได้ ท่ามกลางกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว เช่น ลดราคาค่าห้อง จัดโปรแกรมค่ารักษาพยาบาลในราคาพิเศษ การชูจุดขายความเฉพาะทางของโรคในแต่ละกลุ่มลูกค้า หรือแม้แต่การผ่อนชำระค่ารักษาพยาบาลที่ยาวนานขึ้น
รวมถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกับคนไข้ต่างชาติที่เริ่มทยอยเข้ามาใช้บริการรักษาพยาบาลในไทย (กลุ่ม Special Tourism Visa: STV และกลุ่มอื่นๆ ที่ภาครัฐอาจจะพิจารณาเพิ่มเติมในอนาคต) เช่น การเตรียมเอกสารทางการแพทย์ให้กับคนไข้ การจัดเตรียมห้องพักสำหรับผู้ติดตามผู้ป่วย เป็นต้น
ขณะที่การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดูแลคนไข้ ทั้งในลักษณะของการดูแลเชิงป้องกันและการรักษา เช่น การใช้ Health check-up application หรืออาจจะใช้ AI หรือ Chatbot ในการดูแลผู้ป่วย รวมถึงบริการให้คำปรึกษาสุขภาพและออกกำลังกายผ่าน Online-platform แบบ Real-time โดยมีการตรวจวัดอัตราการเต้นหัวใจและการเคลื่อนไหวแบบ Real-time โปรแกรมบริหารสุขภาพจิตหรือบริหารสมองผ่านออนไลน์
ส่วนการรักษาก็อาจจะใช้เทคโนโลยีทางด้าน Telemedicine หรือ Medical device with IoT หรือใช้เทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนหรือมีฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลาย เช่น พวก VR
ซึ่งแน่นอนว่า ในช่วงแรกของการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการอาจจะทำให้ ต้นทุนการดำเนินงานของธุรกิจสูงขึ้น และการใช้บริการจริงของผู้ป่วยอาจจะยังจำกัด เนื่องจากคนไข้คุ้นเคยกับการรับบริการทางการแพทย์แบบดั้งเดิม
แต่ในระยะยาว ก็อาจจะช่วยลดปัญหาในด้านบริหารจัดการและช่วยลดภาระต้นทุนลงได้ และทำให้ธุรกิจสามารถสร้างความได้เปรียบได้มากขึ้น ผ่านการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่กว้างขวางและสะดวกขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนอาจจะมีการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ โดยมองหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ เข้ามาเสริมนอกเหนือไปจากรายได้หลักที่เป็นค่ารักษาพยาบาล ซึ่งธุรกิจในกลุ่ม Non-hospital เป็นกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจในการขยายการลงทุนและมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น เช่น ผลจากโควิด 19 น่าจะทำให้ความต้องการเครื่องมือแพทย์ เช่น ถุงมือยางทางการแพทย์ น้ำยาหรือชุดตรวจโรค วัคซีนป้องกันโรคต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
รวมถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ ซึ่งไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 ทำให้สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เช่น ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ (Nursing Home) เครื่องมือการแพทย์ที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ (รถเข็น เครื่องตรวจวัดความดัน น้ำตาลในเลือด) หรือแม้แต่การร่วมมือกับผู้ผลิตอาหาร ในการดูแลโภชนาการด้านอาหารภายในโรงพยาบาล ทั้งอาหารที่เหมาะสำหรับคนไข้แต่ละกลุ่ม รวมถึงโอกาสที่จะขยายตลาดรองรับญาติหรือผู้ติดตาม
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเลือกกลยุทธ์ใด ผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงการรักษาดุลยภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ รวมถึงการวางตำแหน่งทางการตลาด (Positioning) หรือภาพลักษณ์ของธุรกิจที่เป็นผลพวงจากการปรับตัวดังกล่าวให้เหมาะสม
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.