โนบิชา ร้านชานมไข่มุก ที่มีจำนวนสาขามากสุดในไทย

โนบิชา ร้านชานมไข่มุก ที่มีจำนวนสาขามากสุดในไทย

5 ธ.ค. 2020
ตลาดชานมไข่มุก เป็นตลาด Red Ocean ที่มีการแข่งขันสูงและผู้เล่นหลายราย
มีสารพัดแบรนด์ทั้งจากในและต่างประเทศ
ไล่ตั้งแต่ร้านดัง ที่ขายชานมไข่มุกแก้วละ 70-150 บาท
ไปจนถึง ร้านของผู้ประกอบการท้องถิ่น ที่ขายในราคาแก้วละ 35-45 บาท
แต่ถ้าถามว่า แบรนด์ร้านชานมไข่มุกเจ้าไหน มีจำนวนสาขามากที่สุดในประเทศไทย
หลายคนอาจตอบไม่ถูก และเดาๆ ว่าน่าจะเป็นแบรนด์ชานมเก่าแก่ที่เริ่มกิจการในไทยมานานแล้ว
หรือเป็นแบรนด์ชื่อดังจากไต้หวัน เข้ามาทำตลาดในเมืองไทย
แต่จริงๆ แล้ว คำตอบคือ ร้านชานมไข่มุกสัญชาติไทยน้องใหม่ ซึ่งเปิดกิจการมาได้เพียง 2 ปีเท่านั้น
ที่มีชื่อว่า “โนบิชา”
รู้ไหมว่า โนบิชา สามารถขยายสาขาได้ถึง 500 สาขา ภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี ตั้งแต่เริ่มเปิดร้านสาขาแรก
และปัจจุบัน โนบิชา มีสาขาทั้งหมดรวมกว่า 800 สาขาทั่วประเทศ..
นับเป็นเชนร้านชานมไข่มุก ที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในประเทศไทย
ส่วนตัวอย่างคู่แข่งในตลาด เช่น
KOI Thé มีร้านประมาณ 40 สาขา
KAMU มีร้านประมาณ 100 สาขา
Ochaya มีร้านประมาณ 360 สาขา
จะเห็นได้ว่า โนบิชา มีจำนวนสาขามากกว่าคู่แข่งหลายเท่าตัว
นอกจากเรื่องจำนวนสาขา ที่สร้างความสะดวกให้ผู้บริโภคเข้าถึงแล้ว
แบรนด์นี้ยังมีจุดเด่นในเรื่องของ “ราคา” ที่ย่อมเยา จนใครๆ ก็สามารถซื้อดื่มได้
โดยขายเครื่องดื่มในราคาเริ่มต้นเพียงแก้วละ 19-24 บาท
ทั้งนี้ ผู้ให้กำเนิด โนบิชา คือ ดร.ภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์
ซึ่งก่อนจะมาทำร้านชานมไข่มุก ดร.ภูมิพัฒน์ เคยทำธุรกิจร้านกาแฟ, ร้านอาหาร และโรงแรม มาก่อน
แต่จุดพลิกผันที่ทำให้เข้ามาจับธุรกิจชานม เพราะตอนนั้นเห็นตลาดในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะจีน และไต้หวัน ว่ามีวัยรุ่น นักศึกษา รวมถึงคนทั่วไป เริ่มนิยมหันมาดื่มพวก ชา กันมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดี
เขาจึงตัดสินใจลงทุนอย่างหนัก เพื่อศึกษาหาข้อมูล
ทั้งเดินทางไปลิ้มลองรสชาติของชา จากร้านชาในหลายๆ ประเทศ
และพกสมุดติดตัวไว้ตลอด เพื่อจดบันทึกข้อมูลของร้านที่มีรสชาติถูกปาก
รวมถึงมีการลองผิดลองถูก วิจัยและพัฒนาเมนูชาต่างๆ
จนกว่าจะได้เมนูและรสชาติของชาที่เขาต้องการ และคิดว่าถูกปากคนไทย
ซึ่ง โนบิชา สาขาแรกก็ได้เปิดให้บริการ ในปี พ.ศ. 2561 ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตรงเกาะพญาไท ป้ายรถเมล์
พร้อมกับโลโก้ รูปเด็กผู้ชายใส่แว่นตา ที่มีใบชาอยู่บนศีรษะ ชื่อว่าโนบิ เป็นตัวแทนของแบรนด์
ด้วยราคาเริ่มต้นเพียง 19-24 บาท ที่ทุกคน ทุกชนชั้นสามารถจ่ายได้ ตั้งแต่คนทำงานบริษัท, ห้างฯ ร้านค้า, แม่บ้าน, รปภ.
กับรสชาติที่กลมกล่อมและกลิ่นหอมของใบชา จากโนบิชา
ทำให้ร้านได้รับกระแสตอบรับที่ดี โดยสาขาแรกสามารถขายได้วันละ 1,000 แก้ว
และพอเปิดสาขาได้ไม่ถึงเดือน ก็มีคนสนใจติดต่อเข้ามาขอซื้อแฟรนไชส์
ซึ่ง ดร.ภูมิพัฒน์ ตั้งเป้าว่าในปีแรกจะขยายร้านแค่ 20 สาขา
แต่ผลลัพธ์กลับเกินคาดกว่านั้นมาก
เพราะธุรกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนแตะ 500 สาขา ภายในเวลาไม่ถึงปี..
โดยปัจจุบัน โนบิชา มีเครื่องดื่มให้เลือกกว่า 80 เมูน เช่น ชานมไต้หวันไข่มุก, นมสดไข่มุกบราวน์ชูการ์, มัทฉะแฟรปเป้, ชาเขียวน้ำผึ้งมะนาว, แอปเปิ้ลโซดา และน้ำมะพร้าว
นอกจากนี้ยังมี น้ำดื่มโนบิชา (Nobi Drinking Water) น้ำเปล่าบรรจุขวดจำหน่ายอีกด้วย
บริษัท โนบิชา กรุ๊ป จำกัด
ปี 2561 มีรายได้ 18 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 276 ล้านบาท
คิดเป็นอัตราการเติบโตของรายได้ 1,433%
โนบิชา ได้วางจุดยืนของแบรนด์คือ จะขายเครื่องดื่มในราคาต่อแก้วถูก เอากำไรน้อย
เพื่อหวังขายในปริมาณที่มากๆ แทน
ดังนั้น โนบิชา จึงเลือกใช้โมเดลธุรกิจ “แฟรนไชส์”
เพื่อจะได้เร่งขยายสาขาได้ทีละมากๆ และเพิ่มยอดขายของธุรกิจโดยรวม
โดยค่าแฟรนไชส์ของโนบิชา จะอยู่ที่ 200,000 บาท ซึ่งเป็นสัญญาตลอดชีพ
ยังไม่รวมค่าสถานที่, ตกแต่งร้าน, อุปกรณ์และวัตถุดิบ
และโนบิชา จะเก็บค่าสิทธิรอยัลตี (Royalty) 1%
และค่าการตลาด (Marketing Fee) 1% จากยอดขาย
ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการเรียกเก็บ ที่ต่ำกว่าแฟรนไชส์แบรนด์อื่นๆ ในท้องตลาด
ที่มักเก็บ Royalty กันอย่างน้อย 3% และ Marketing Fee อย่างน้อย 3% จากยอดขาย
สำหรับโนบิชาแล้ว หนึ่งในปัจจัยความสำเร็จในธุรกิจแฟรนไชส์
คือเรื่องของ การควบคุมคุณภาพของสินค้าและบริการ
ธุรกิจต้องทำให้ทุกสาขามีคุณภาพและมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัตถุดิบ, เมนู, ส่วนผสม, รูปแบบของร้าน และการบริการ เป็นต้น
เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์และรสชาติ ที่ตรงกับความคาดหวัง หรือความเคยชิน
มีความมั่นใจเมื่อมาใช้บริการและซื้อเครื่องดื่มที่ร้าน
โดยไม่ต้องกังวลและลุ้นว่า จะได้เครื่องดื่มรสชาติเหมือนกันทุกครั้งที่สั่งหรือไม่
ซึ่งยิ่งธุรกิจเร่งขยายสาขาให้มากและเร็วขึ้นเท่าไร
เรื่องการควบคุมคุณภาพ ก็ยิ่งเป็นความท้าทาย ที่ต้องเผชิญมากขึ้นเป็นเงาตามตัว..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.