ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด ส่งออกอาหารและเครื่องดื่ม ปี 2564 โต 1-5%
4 ธ.ค. 2020
อาหารและเครื่องดื่ม คือสินค้าส่งออกศักยภาพที่ยังเติบโตในเกณฑ์ดี เมื่อเทียบกับสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ในปีนี้ที่คาดว่าจะหดตัว โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มของไทยอยู่ที่ 20,967.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.6 (YoY)
ส่วนหนึ่งอาจเพราะอาหารคือสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพ และไทยมีความพร้อมด้านการผลิต ภายใต้การรักษามาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารที่ค่อนข้างทำได้ดีท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID- 19 ที่ส่งผลให้คู่แข่งบางประเทศจำเป็นต้องหยุดสายการผลิตไปชั่วคราว จึงทำให้คู่ค้าคงความเชื่อมั่นและมีคำสั่งซื้อกับไทยต่อเนื่อง โดยเฉพาะคู่ค้าหลักอย่าง สหรัฐฯ ญี่ปุ่น รวมถึงจีน ที่ยังจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารสูงกว่าในช่วงปกติ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย
รวมถึงคู่ค้าใหม่ที่มีความต้องการสินค้าอาหารจากไทยในอัตราเร่งภายหลังวิกฤติ เช่น สิงคโปร์ (เพิ่มการนำเข้าไก่สด) ฮ่องกง (เพิ่มการนำเข้าสุกรสด) เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าอาหารเป็นหลัก เนื่องจากการผลิตในประเทศไม่เพียงพอ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปี 2563
การส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของไทยไปยังตลาดโลกจะอยู่ที่ระดับ 24,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวได้ร้อยละ 3.0 (YoY) โดยสินค้าที่ได้อานิสงส์อยู่ในกลุ่มสินค้าที่ไทยมีมาตรฐานการผลิตสูงและเป็นที่ ยอมรับในระดับสากล อีกทั้งยังตอบสนองการใช้ชีวิต New Normal ของผู้บริโภคท่ามกลางวิกฤติได้ดี (สะอาด-ปลอดภัย-เก็บได้นาน-สะดวก- ทำทานเองได้ง่าย) ซึ่งได้แก่ สินค้าปศุสัตว์ (โดยเฉพาะไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง) ผลไม้ (สด/แช่แย็นแช่แข็ง) กลุ่มอาหารแปรรูป (กลุ่มอาหารทะเล/ผัก)
การส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของไทยไปยังตลาดโลกจะอยู่ที่ระดับ 24,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวได้ร้อยละ 3.0 (YoY) โดยสินค้าที่ได้อานิสงส์อยู่ในกลุ่มสินค้าที่ไทยมีมาตรฐานการผลิตสูงและเป็นที่ ยอมรับในระดับสากล อีกทั้งยังตอบสนองการใช้ชีวิต New Normal ของผู้บริโภคท่ามกลางวิกฤติได้ดี (สะอาด-ปลอดภัย-เก็บได้นาน-สะดวก- ทำทานเองได้ง่าย) ซึ่งได้แก่ สินค้าปศุสัตว์ (โดยเฉพาะไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง) ผลไม้ (สด/แช่แย็นแช่แข็ง) กลุ่มอาหารแปรรูป (กลุ่มอาหารทะเล/ผัก)
ปี 2564: การส่งออกอาหารและเครื่องดื่มของไทย.. น่าจะเติบโตได้ 1-5%
สำหรับปี 2564 ประเด็นท้าทายที่ส่งผลต่อทิศทางการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มของไทย ต่อเนื่องจากปี 2563 คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังซบเซาและโอกาสของการแพร่ระบาดซ้ำของ COVID- 19 ที่แม้ว่าจะมีความหวังจากการผลิตวัคซีนในเชิงพาณิชย์ที่คาดว่าจะมีผลภายในปีหน้า แต่ก็ยังสร้างความกังวลให้กับตลาดอยู่
ในขณะที่ทิศทางเงินบาทที่มีแนวโน้มจะแข็งค่าต่อเนื่อง จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแรงกระตุ้นทางการเงินและการคลังของทางการสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน ต้นทุนค่าขนส่งที่เร่งตัวจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และการเรียกเก็บค่าบริการ ยังเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการส่งออกสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มในช่ว ง 1-2 ไตรมาส ถัดจากนี้
ส่วนสิ่งที่ต้องจับตาเพิ่มเข้ามาในปี 2564 มี 2 ประเด็นคือ 1) ปริมาณการผลิตสินค้าอาหารกลุ่มวัตถุดิบในตลาดโลกเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติ จากกำลังการผลิตที่คาดว่าจะทยอยกลับมาโดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตอาหารที่สำคัญของโลก อาทิ จีน บราซิล ญี่ปุ่น รวมถึงสหรัฐฯ แต่ยังสวนทางกับสภาพตลาดผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากกำลังซื้อที่ไม่ฟื้นตัว ซึ่งน่าจะทำให้แนวโน้มผลผลิตที่ออกสู่ตลาดโลกและสต๊อกสินค้าในกลุ่มอาหารยังอยู่ในระดับสูง เช่น สินค้าปศุสัตว์ (ไก่/สุกร/โค) สินค้าประมง (กุ้ง)
โดยมีการประเมินว่า ปี 2564 ปริมาณการผลิตสินค้าในกลุ่มปศุสัตว์ทั่วโลกจะอยู่ที่ 2.66 ล้านตัน ขยายตัวได้ราวร้อยละ 2.4 (%YoY) ส่วนผลผลิตกุ้งจะอยู่ที่ 3.8 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 8.4 (%YoY) ดังนั้น การส่งออกสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ของไทย อาจเติบโตต่อไปได้ แต่เป็นไปในทิศทางที่ชะลอลง
และ 2) ผู้ประกอบการรายใหญ่เริ่มแผนเพิ่มสัดส่วนการผลิตในต่างประเทศมากขึ้น เช่น การลงทุนขยายการผลิตในประเทศ CLMV โดยมุ่งเจาะตลาดผู้บริโภคในประเทศ หรืออาศัยประโยชน์จากมาตรการภาษีในรูปแบบทวิภาคี เพื่อผลิตและส่งออกไปตลาดปลายทาง ทดแทนการผลิตและส่งออกจากไทย ซึ่งอาจทำให้แนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มบางกลุ่มนับตั้งแต่ปี 2564 ให้ภาพที่ชะลอตัว เช่น เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ไก่ เป็นต้น
ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ไทยยังมีความเสี่ยงที่จะเสียเปรียบคู่แข่งจากการแข่งขันด้านราคา
ดังนั้น เบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มของไทยปี 2564 น่าจะอยู่ที่ระดับ 25,150-26,150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวร้อยละ 1.0-5.0 (YoY)
โดยสินค้าที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญจะมาจาก
1) กลุ่มอาหารที่ไทยมีสัดส่วนของการส่งออกสูงและมีอัตราการขยายตัวสูง ซึ่งได้แก่ กลุ่มผลไม้สดและสินค้าปศุสัตว์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ไก่ จากความต้องการในตลาดจีน (ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มของไทย) ที่ยังอยู่ในระดับสูง
-ผลไม้ ที่กลุ่มผลไม้สดน่าจะเติบโตต่อเนื่องจากเครือข่ายลูกค้าที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ ตลอดจนการเปิดด่านนำเข้าผลไม้เพิ่มอีก 2 ด่าน ซึ่งได้รับการอนุมัติจากทางการจีน (ด่านตงซิง และด่านรถไฟผิงเสียง)
-ปศุสัตว์ ได้แก่ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ที่คาดว่าจะยังได้รับแรงหนุนจากคำสั่งซื้อในตลาดจีนต่อเนื่องหลังจีนให้การรับรองโรงงานไก่ในไทยเพิ่มในช่วงปีก่อนหน้า แม้ว่าการฟื้นตัวของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรที่ทยอยดีขึ้นบวกกับภาวะการผลิตในจีนที่เริ่มกลับมาดี อาจส่งผลให้ความจำเป็นต้องนำเข้าไก่ของจีนอาจเติบโตในทิศทางชะลอตัว
สำหรับไก่แปรรูปนั้น คำสั่งซื้อน่าจะกลับมาบางส่วนในตลาดญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญ จากแผนการเตรียมเปิดประเทศในช่วงเมษายน 2564 และโอกาสกลับมาจัดการแข่งขันโอลิมปิกได้อีกครั้ง
อย่างไรก็ดี บางรายการของสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ที่เติบโตสูงมากในปี 2563 อย่างสุกรสดแช่เย็นแช่เย็น 3 ด้วยสถานการณ์โรคในสุกรที่มีลักษณะคล้ายโรคไข้หวัดสุกร (ASF) ที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดของไทยล่าสุดนั้น 4 อาจส่งผลต่อผลผลิตสุกรในประเทศและการส่งออกผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ ในปี 2564 แต่ด้วยสัดส่วนการส่งออกที่ยังน้อยมาก (คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 2.4 ของการส่งออกสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ของไทยไปตลาดโลก) ผลกระทบต่อการส่งออกคงอยู่ในวงจำกัด
2) กลุ่มสินค้าอาหารที่มีสัดส่วนการส่งออกไม่สูงมากนัก แต่กลับเติบโตได้ดี เช่น สิ่งปรุงรสอาหารและสมุนไพร น่าจะเป็นกลุ่มสินค้าศักยภาพใหม่ที่ไทยควรเร่งขยายตลาดมากขึ้น เพราะตอบโจทย์การบริโภคยุคใหม่ที่หันมานิยมการบริโภคอาหารในบ้านและ ต้องการสินค้าที่ดีกับสุขภาพมากขึ้น
ส่วนกลุ่มสินค้าที่อาจจะเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของมูลค่าการส่งออก คือ กลุ่มสินค้าอาหารที่มีสัดส่วนการส่งออกที่สูงแต่เติบโตได้จำกัดหรือมีแนว โน้มจะหดตัว ได้แก่ กลุ่มอาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป เนื่องจากฐานที่ขยับสูงขึ้นในปี 2563 จากความต้องการที่เร่งขึ้นโดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ
แต่ด้วยสต็อกสินค้าที่น่าจะมีเพียงพอในระดับหนึ่ง อาจทำให้การเติบโตอยู่ในระดับทรงตัว และสินค้าประมง โดยเฉพาะกุ้ง ที่ผลผลิตในตลาดโลกยังล้นตลาด จากความต้องการกลุ่มธุรกิจ Horeca (โรงแรม/ร้านอาหาร/จัดเลี้ยง) ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์สำคัญยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป
ทิศทางการบริโภคหลังวิกฤติ COVID-19 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้บริโภคจะหันมาให้ความสำคัญกับคุณภาพและมาตรฐานสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร ประกอบการออกมาตรการทางการค้าในรูปแบบต่างๆ (ทั้งในรูปแบบภาษีและไม่ใช่ภาษี) ซึ่งคู่ค้าสามารถหยิบยกขึ้นมาเพื่อปกป้องทางการค้ามากขึ้น
ทั้งนี้ ตัวอย่างของนโยบายและกฎระเบียบใหม่ของคู่ค้าสำคัญ ที่อาจส่งผลต่อทิศทางธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของไทยในระยะข้างหน้า ได้แก่ นโยบาย Farm to Fork ของ EU ที่เน้นระบบการผลิตอาหารที่เป็นธรรม ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร มาตรฐานใหม่ของ CODEX เกี่ยวกับการจัดการสารก่อภูมิแพ้ตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร การผลักดันนโยบายการลงทุนเทคโนโลยีปลูกเนื้อสัตว์ให้เป็นวาระของชาติของจีน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารและแก้ไขวิกฤติการขาดแคลนเนื้อสัตว์ของประเทศ เป็นต้น
ดังนั้น ด้วยวิถีการค้ารูปแบบใหม่ สิ่งเร่งด่วนสำหรับการปรับตัวในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มคือ การพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อมุ่งไปสู่ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่ออนาคต มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรมหรือแปลกใหม่ด้านโภชนาการ
ในขณะเดียวกันก็ตอบสนองวิถีชีวิต New Normal ของผู้บริโภคที่ตระหนักถึงสุขอนามัย สิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลมากขึ้น ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ (Traceability) และอยู่ภายใต้มาตรฐานการผลิตที่ปลอดภัยและถูกยอมรับในระดับสากล โดยกลุ่มสินค้าที่น่าจะมีโอกาสทางการตลาดสูงในระยะข้างหน้า ได้แก่ อาหารฟังก์ชั่นนอล ออร์แกนิค โปรตีนทางเลือกจากพืช/แมลง อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุง/พร้อมทาน รวมถึงสิ่งปรุงรสอาหารและสมุนไพร เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรติดตามความเคลื่อนไหวของกฎระเบียบทางการค้าที่ออกมา ใหม่ๆ อยู่เสมอ เพราะอาจจะต้องนำมาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานการนำเข้าของคู่ค้า ในเบื้องต้นแม้ว่าจะทำให้ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนการบริหารจัดการด้านการผลิตอาหารที่เพิ่มขึ้น และอาจกระทบต่อส่วนแบ่งกำไรสุทธิหรือมาร์จิ้นของธุรกิจ แต่ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว จะสามารถช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับธุรกิจ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความเข้มแข็งให้ธุรกิจในระ ยะข้างหน้าได้