Mitsubishi Electric ผนึกภาครัฐ ทุ่มกว่า 50 ล้าน พัฒนากำลังคนและถ่ายทอดเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบออโตเมชั่นผ่านเครือข่าย EEC Automation Park
21 ก.ย. 2020
Mitsubishi Electric ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และมหาวิทยาลัยบูรพา แถลงความคืบหน้าความร่วมมือพัฒนากำลังคนและถ่ายทอดเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ผ่านเครือข่าย “EEC Automation Park” ศูนย์การเรียนรู้และพัฒนาบุคลากรด้านหุ่นยนต์และระบบออโตเมชั่น ซึ่งตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี นำความเชี่ยวชาญและความพร้อมด้าน Factory Automation ติดตั้งโมเดลไลน์ e-F@ctory พร้อมจัดอบรมส่งมอบความรู้สู่ภาคแรงงาน เพื่อช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทยตามนโยบาย Thailand 4.0
นายวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เผย “นับจากจุดตั้งต้นในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2562 ที่ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด โดยความเห็นชอบจากบริษัท Mitsubishi Electric Corporation ประเทศญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยบูรพา ในการเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตโดยใช้หุ่นยนต์ และระบบออโตเมชั่นผ่านเครือข่าย “EEC Automation Park” เพื่อให้พร้อมรองรับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทย เพราะเรามีความเห็นตรงกันว่า พื้นที่อาเซียน คือฐานการผลิตและเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่สำคัญของประเทศ ซึ่งปัจจุบันหลาย ๆ พื้นที่ในอาเซียนมีการปฏิรูปอุตสาหกรรม ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรมไทย อีกทั้งยังเป็นการยกระดับการผลิตให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 เนื่องจากมิตซูบิชิ อีเล็คทริค เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Factory Automation มีความพร้อมทางด้านอุปกรณ์ ความรู้ และยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานพันธมิตรอีกด้วย
โครงการนี้จึงริเริ่มขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งทางด้าน upskills และ reskills โดยดำเนินการจัดการสัมมนา (Training Network) เพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะด้านนี้อยู่เป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งได้มอบชุดสาธิตระบบอัตโนมัติการผลิต (Model Line of Smart Factory) เพื่อนำมาติดตั้งเป็นโมเดลไลน์ โรงงานอัจฉริยะภายใต้คอนเซ็ปต์ e-F@ctory ที่มีเทคโนโลยีอุตสาหกรรมขั้นสูงในระดับการจัดการตามแนวทางปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเป็นชุดจำลองแต่สามารถใช้งานได้จริง เพื่อให้ผู้มาอบรมได้เห็นกระบวนการทำงานของระบบอัตโนมัติ หรือออโตเมชั่นในภาพรวมทั้งกระบวนการ มีห้องปฏิบัติการ และชุดฝึก เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้ทดลองปฏิบัติจริงด้วย เสมือนเป็นการจำลองโรงงานมาไว้ในห้องเรียน และโครงการนี้คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 50 ล้านบาท”
ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ให้ความเห็นว่า “นอกจากระบบออโตเมชั่นจะมีความสำคัญในฐานะเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยยกระดับระบบการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของไทย เพราะช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแล้ว ปัจจัยด้านกำลังคนหรือบุคลากรผู้มีทักษะยังเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนภารกิจนี้ไปสู่ความสำเร็จได้ โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งกำลังเดินหน้าเปิดรับอุตสาหกรรมหลากหลายที่จะมาขยายฐานการผลิตในพื้นที่ ดังนั้นตลาดแรงงานในอนาคต จึงมีความต้องการบุคลากรที่มีทักษะด้านหุ่นยนต์และระบบออโตเมชั่นมากกว่า 37,000 อัตรา การจัดตั้งเครือข่าย EEC Automation Park ที่ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยบูรพา ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จึงมีเจตนาที่จะสนับสนุนการพัฒนากำลังคนในพื้นที่ EEC ให้ตรงจุดมากขึ้น และตั้งใจให้เกิดการบ่มเพาะทักษะเฉพาะทางด้านหุ่นยนต์และระบบออโตเมชั่นเกิดขึ้นใน EEC Automation Park แห่งนี้อย่างต่อเนื่อง”
สำหรับมหาวิทยาลัยบูรพา เจ้าของสถานที่ซึ่งรับหน้าที่ในส่วนของการบริหาร EEC Automation Park รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดี ให้รายละเอียดเกี่ยวกับโครงการว่า “EEC Automation Park ก่อตั้งขึ้นด้วยจุดประสงค์หลักในการเป็นศูนย์กลางเพื่อบริหารจัดการและประสานงานการพัฒนากำลังคน นวัตกรรม การเรียนรู้เรื่องหุ่นยนต์ และระบบออโตเมชั่นในเขตพื้นที่ EEC บริหารงานโดยมหาวิทยาลัยบูรพา และดำเนินนโยบายโดยคณะกรรมการ EEC-HDC (Human Development Center) ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานทั้งราชการและภาคเอกชน ได้แก่ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) สมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด รวมถึงสถาบันการศึกษากว่า 20 สถาบันในพื้นที่ EEC เพื่อผลิตบุคลากรที่ตรงต่อความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายในระดับประเทศ โดยมีภารกิจหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ศูนย์จัดการเรียนรู้ ศูนย์ฝึกอบรม และหน่วยงานประสานความร่วมมือ ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป คาดว่าจะมีการเปิดพื้นที่ในส่วนของศูนย์การเรียนรู้ให้กับภาคอุตสาหกรรม เยาวชน และประชาชนทั่วไปที่ติดต่อเข้าเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะเพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0”
• สำหรับรายละเอียดภารกิจหลักทั้ง 3 ด้านของ EEC Automation Park ประกอบด้วย ศูนย์การเรียนรู้ (Learning Center) ประกอบด้วย ชุดสาธิตระบบอัตโนมัติการผลิต (Model Line of Smart Factory) จาก บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เป็นการจำลองระบบสายการผลิตที่ผสมผสานการนำเทคโนโลยีด้านระบบอัตโนมัติโรงงาน (Factory Automation) และเทคโนโลยีด้านสารสนเทศ (Information Technology) เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งจะใช้เป็นต้นแบบให้กับโรงงานอุตสาหกรรมโดยแสดงถึงความสามารถในการนำข้อมูลที่หลากหลายมาผสมผสานกันเพื่อการวางแผนการผลิต การซ่อมบำรุงเครื่องจักร และบริหารจัดการงานได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที (Real time) ส่งผลให้ควบคุมและลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีส่วนพื้นที่ Co-working Space ที่จะเปิดให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและอื่น ๆ เข้ามาใช้เพื่อประกอบกิจกรรม เช่น การเจรจาทางธุรกิจและความร่วมมือ การเช่าพื้นที่ดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญของ EEC Automation Park และเครือข่าย และพื้นที่ Fabrication Laboratory สำหรับบ่มเพาะทักษะและความรู้ด้านการขึ้นรูปชิ้นงานต้นแบบ รวมไปถึงความรู้ด้านระบบสมองกลฝังตัว (Embedded System) เพื่อพัฒนาศักยภาพ นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่สนใจ
• ศูนย์ฝึกอบรม (Training Center) ประกอบไปด้วยกิจกรรมการอบรมที่เป็นหลักสูตรระยะสั้น มุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ในเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 หรือ e-F@ctory โดย บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด หลักสูตรที่ใช้ในการฝึกอบรมนี้ เป็นหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม (Customized course) ที่เน้นการใช้งานจากอุปกรณ์จริง หลักสูตร Related skill ที่เกี่ยวข้องกับโรงงานอัตโนมัติ เช่น การออกแบบเครื่องจักร การลดของเสียในอุตสาหกรรม เป็นต้น ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายของผู้เข้าอบรม นอกจากบุคลากรจากภาคอุตสาหกรรมแล้ว ยังรวมถึงนักเรียนระดับมัธยมศึกษา นักศึกษาทั้งระดับอาชีวศึกษา และระดับมหาวิทยาลัย เพื่อวางรากฐานความรู้ด้านระบบอัตโนมัติโรงงานและการวิเคราะห์ข้อมูลที่สอดคล้องต่ออุตสาหกรรม 4.0 อย่างแท้จริง
• หน่วยงานประสานความร่วมมือ (Collaboration) กับเครือข่าย ด้วยการร่วมจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรม 4.0 การจัดคอร์สฝึกอบรมร่วมกัน การแลกเปลี่ยนชุดอุปกรณ์และเครื่องมือ (Share facilities) การแลกเปลี่ยนวิทยากร (Trainer) การสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม และการสร้างศูนย์กลางข้อมูล (Data Center) ด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในเขตพื้นที่ EEC เป็นต้น
“Mitsubishi Electric ยินดีจะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนในการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านออโตเมชั่น และหุ่นยนต์ อีกทั้งความร่วมมือจากเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างสมบูรณ์ รวมไปถึงเครือข่ายพันธมิตรด้านการศึกษากว่า 20 สถาบันที่จะช่วยผนึกกำลังในการสร้างบุคลากรได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพผ่านเครือข่าย EEC Automation Park” นายวิเชียร กล่าวทิ้งท้าย