สรุป 5 ไอเดีย สร้างธุรกิจให้สู้ได้ ในตลาดทะเลสีเลือด โดยไม่แข่งด้านราคา

สรุป 5 ไอเดีย สร้างธุรกิจให้สู้ได้ ในตลาดทะเลสีเลือด โดยไม่แข่งด้านราคา

20 เม.ย. 2024
ตลาดทะเลสีเลือด หรือ Red Ocean สรุปสั้น ๆ คือ ตลาดที่มีผู้เล่นข้างในเยอะมาก ทำให้แต่ละคนต้องแข่งขันกันแย่งลูกค้าให้ได้
ซึ่งการแข่งขันสูงที่ว่า มันก็มักจะสะท้อนไปถึงเรื่องการแข่งกัน “ตัดราคา” ทำให้คนที่คุมต้นทุนได้ไม่ดี หรือไม่สามารถกดให้ต้นทุนต่ำพอจะขายราคาถูก ๆ ที่สู้คนอื่นได้ ก็ต้องพ่ายแพ้ออกจากตลาดไป
นี่คือปัญหาของคนทำธุรกิจ ในตลาดทะเลสีเลือด หรือ Red Ocean..
ตลาดแบบนี้ เจอได้ทั่วไป ทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่าสินค้ากลุ่ม FMCG (Fast-Moving Consumer Goods) ที่มักพบเจอปัญหาการแข่งขันสูง
รวมถึงธุรกิจค้าปลีก หรือธุรกิจร้านอาหารประเภทเดียวกัน ที่ตั้งอยู่ในเวิ้งเดียวกัน
เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้มีลักษณะของสินค้าและบริการคล้ายคลึงกันสูง จนทำให้ผู้บริโภคมักตัดสินใจซื้อโดยใช้ราคาเป็นเหตุผลหลักในการซื้อ
นอกจากนี้ อีกอุปสรรคคือ ไม่ว่าจะเป็นผู้ขายรายเดิมหรือรายใหม่สามารถเข้าหรือออกจากตลาดได้ง่าย
เพราะมีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดต่ำ หรือก็คือ Barriers to Entry ต่ำ หมายถึง การเข้าสู่ตลาด ไม่จำเป็นต้องมีเงินลงทุนสูง ไม่ได้มีข้อห้าม สามารถเข้าสู่ตลาดได้เลยไม่ยาก
แล้วจะแข่งอย่างไร ให้ธุรกิจสู้ได้ในตลาดแบบนี้ ? มันก็จะสรุปตัวอย่างไอเดียได้ 5 ประเด็น
1. สร้างความแตกต่างให้โดดเด่น
เนื่องจากสินค้าประเภทอุปโภคและบริโภคนั้น สามารถเลียนแบบกันได้ง่าย
เพราะฉะนั้นการปรับปรุงสินค้าหรือบริการให้มีความแตกต่างจากคู่แข่ง ก็สามารถทำได้ เช่น
การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ หรือการสร้างรสชาติและเมนูให้มีความหลากหลายกว่าผู้ขายรายอื่น
ยกตัวอย่างเช่น ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ ที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด โดยในแต่ละแบรนด์ต่างก็สร้างความแตกต่างด้านรสชาติเป็นของตัวเอง
การสร้างความต่างนี้ จะช่วยให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจเลือกซื้อได้อย่างรวดเร็วและชัดเจนมากขึ้น
อย่างเช่น ไอศกรีม Dairy Queen ที่มีรสชาติให้เลือกมากกว่าแบรนด์อื่น ๆ แล้วเนื้อไอศกรีมยังมีความเหนียวกว่าแบรนด์อื่น ๆ อีกด้วย
2. การมุ่งเน้นเลือกลูกค้าแค่บางกลุ่มเท่านั้น หรือที่เรียกว่า Niche Targeting
การขายสินค้า ไม่จำเป็นว่าต้องสามารถเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย
เนื่องจากเราสามารถเลือกทำความเข้าใจลูกค้าแค่บางกลุ่มได้
แต่ต้องสำรวจตลาดเสียก่อนว่าลูกค้ากลุ่มที่เราโฟกัสนี้ มีปริมาณที่เพียงพอต่อการทำการตลาดหรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น Dr. PONG ที่จำหน่ายน้ำยาบ้วนปาก ที่ทำให้ฟันขาว ด้วยวิธีลดคราบเหลือง และไม่ทำลายสารเคลือบฟัน
โดยมีราคาจำหน่ายสูงกว่าน้ำยาบ้วนปากทั่วไปเกือบเท่าตัว เพราะเลือกโฟกัสไปที่กลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง แทนที่จะโฟกัสกลุ่มแมสทั่ว ๆ ไป
3. ติดตามเทรนด์และพัฒนาสินค้าหรือบริการอย่างต่อเนื่อง

หากเราสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างรวดเร็ว เราจะสามารถเก็บเกี่ยวส่วนแบ่งการตลาดในช่วงเริ่มต้นได้เป็นจำนวนมาก
ยกตัวอย่างเช่น หากเดิมทำธุรกิจขายเห็ดแปรรูป แต่เมื่อปัจจุบันเทรนด์ของตลาดเปลี่ยนไป
มีการนิยมรับประทานสินค้า Plant-based มากขึ้น
เราก็สามารถปรับเปลี่ยนจากการขายเห็ดแปรรูปธรรมดา ให้เป็นสินค้า Plant-based แทนได้
ซึ่งนอกจากจะสามารถสร้างยอดขายได้เท่าทันกับตลาดที่เปลี่ยนแปลงแล้ว ยังสามารถขยายกลุ่มลูกค้าให้มีความหลากหลายเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย
4. ร่วมมือกับหน่วยผลิตอื่น ๆ หรือสมัยนี้เรียกว่า การคอลแลบ
การร่วมมือกับธุรกิจอื่นนั้น ได้รับประโยชน์หลัก ๆ คือสามารถขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มขึ้นได้ จากการเข้าถึงแบรนด์ที่เราไปร่วมด้วย
แต่ก็มีข้อควรระวัง คือการร่วมมือกับธุรกิจอื่น ต้องระวังการสูญเสียเอกลักษณ์ของแบรนด์ตนเอง
โดยตัวอย่างของการร่วมมือทางธุรกิจ เช่น ไอศกรีม Dairy Queen X RoV ที่มีการจัดแคมเปญ
ซื้อครบ 50 บาท รับกล่องสุ่มไอเทมในเกม ซึ่งนอกจากจะมีฐานลูกค้าเดิมที่รับประทานไอศกรีมอยู่แล้ว ยังมีลูกค้าใหม่ที่มาจากเกม RoV เพิ่มขึ้นด้วย
5. เน้นบริการให้ดีเยี่ยม มอบประสบการณ์ที่ดีที่สุด ให้ลูกค้า
อย่างเช่น เคสของ Starbucks ที่พนักงาน Starbucks หลายคนสามารถจำชื่อลูกค้าประจำได้ พร้อมทั้งสามารถปรับแต่งเมนูตามที่ลูกค้าต้องการได้
นอกจากนี้บรรยากาศร้านยังออกแบบมาให้มีความอบอุ่นและนั่งได้สบาย เหมือนเป็นบ้านหลังที่ 3 ให้คนนึกถึงและเดินเข้ามา ต่อจากบ้านของตัวเอง และที่ทำงาน
จากตัวอย่าง 5 กลยุทธ์ ที่นำมานี้ หลัก ๆ คือ การสร้างความแตกต่าง และสร้างการจดจำให้กับลูกค้า
เพราะหากลูกค้าสามารถแยกความแตกต่างของสินค้าได้ จะทำให้ลูกค้าไม่เลือกซื้อสินค้าโดยตัดสินใจจากราคาเป็นหลัก
และถ้าทำดี ๆ ต่อให้เราจะอยู่ในตลาดที่แข่งกันเลือดสาด ก็จะอยู่รอดได้ เพราะไม่ต้องแข่งแต่เรื่องราคา เพียงอย่างเดียว..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.